ใช้รสอาหารสมานสุขภาพแข็งแรง

แนวคิดกินตามธาตุจากทฤษฎีแพทย์แผนไทยเชื่อว่าคนเราเกิดมาในร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และการใช้รสอาหารมาช่วยปรับสมดุลของร่างกายที่เกิดจากภาวะธาตุเสียสมดุล เป็นหนทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมได้ด้วยตนเอง

ตามหลักความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องธาตุทั้ง 4 นี้ หากร่างกายเสียสมดุลจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับธาตุเจ้าเรือนของคนผู้นั้นที่จะมีธาตุเด่นเพียงธาตุเดียวที่แสดงลักษณะประจำตัว เรียกว่า “ธาตุเจ้าเรือน”

ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จึงมีคำแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการกินให้เข้ากับธาตุเจ้าเรือนของแต่ละคน

ฉบับที่แล้วได้อธิบายลักษณะเด่นคนแต่ละธาตุและเดือนเกิดที่บ่งบอกธาตุเจ้าเรือนไปแล้ว คราวนี้จะว่าด้วยเรื่องอาหารการกินที่ดีต่อธาตุนั้นๆ

ธาตุดิน มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะภายในของร่างกาย เสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อาการปวดตามข้อ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคเกี่ยวกับระบบน้ำย่อย จึงควรกินอาหารประเภทแป้งขัดขาวให้น้อยเพราะร่างกายจะเผาผลาญได้ไม่หมด ควรออกกำลังกายเป็นประจำ

นอกจากนี้ ยังควรกินอาหารรส ฝาด หวาน มัน เค็ม เช่น ผักพื้นบ้าน นม เกลือ ผลไม้รสหวาน ฯลฯ

ผัก สำหรับชาวธาตุดิน ได้แก่ ผักกูด หัวปลี กะหล่ำปลี ผักกะเฉด ฟักทอง แครอต ถั่วฝักยาว หัวมันเทศ เผือก มะขามป้อม สมอไทย ทองหลาง กระโดน กระถิน ถั่วพู ขจร ผักฮาก ยอดเม็ก บวบ สะตอ ผักหวาน โสน ขจร ยอดฟักทอง ผักเซียงดา ลูกเนียง บวบ ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมะยม

ผลไม้ ได้แก่ ฝรั่งดิบ กล้วย มะละกอ เงาะ มังคุด น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว

5

อาหารว่าง เช่น เต้าส่วน วุ้นกะทิ กล้วยบวชชี ตะโก้เผือก ฯลฯ

เครื่องดื่ม เช่น นมถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว น้ำฝรั่ง น้ำอ้อย น้ำตาลสด น้ำมะตูม นมถั่วเหลือง น้ำแคนตาลูป น้ำส้ม น้ำลูกเดือย น้ำข้าวโพด น้ำแห้ว เป็นต้น

ตัวอย่างอาหารปรับสมดุลธาตุดิน เช่น ยำหรือผัดผักกูด ยำหรือแกงหัวปลี ดอกงิ้วทอดไข่ ผัดบวบงู แกงเลียงผักหวานใส่ปลาย่าง ถั่วสิสงต้มเค็ม ดอกขจรผัดไข่ แกงป่ากล้วยดิบ คั่วขนุนดิบ สะตอผัดกุ้ง น้ำพริก ผักจิ้มที่มีรสฝาด รสมัน ฯลฯ

ผักรสหวานอย่างฟักทองและมันเทศนั้นช่วยบำรุงร่างกาย มีเบต้าแคโรทีน เส้นใยสูงและสารต้านอนุมูลอิสระ ผักกระโดนใบรสฝาดแก้ท้องร่วงสมานลำไส้ ยอดเม็กรสฝาดแก้ท้องอืด ถั่วฝักยาวรสมันบำรุงไต

ส่วนผักกูดอุดมไปด้วยธาตุเหล็กและเบต้าแคโรทีน การกินผักกูดร่วมกับเนื้อสัตว์จะช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุต่างๆ ได้ดีขึ้น และยังช่วยบำรุงร่างกายอีกด้วย จึงช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเม็ดเลือด ช่วยบำรุงโลหิต เนื่องจากผักกูดเป็นผักที่มีธาตุเหล็กมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จึงช่วยแก้โรคโลหิตจาง และช่วยบำรุงสายตาได้เป็นอย่างดี

ธาตุน้ำ มักเจ็บป่วยด้วยของเหลวหรือน้ำภายในร่างกาย โรคที่เกิดจะเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน จมูก ลำคอ หลอดลมและทรวงอก เช่น มีเสมหะ ไซนัส เป็นหวัดบ่อย หอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โรคกระเพาะ และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย เช่น ริดสีดวงทวาร เป็นต้น

จึงควรกินอาหาร รสเปรี้ยว เพื่อช่วยฟอกเสมหะ ซึ่งหากเทียบกับการแพทย์แผนตะวันตกก็คือให้กินผลไม้ที่มีวิตามินซีให้มากนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่ง สตรอเบอรี่ หรือส้ม เพื่อป้องกันอาการหวัด คัดจมูก ตาแฉะ โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่เกิดอาการขึ้นง่าย

ส่วนปัญหาสุขภาพอื่นๆ คล้ายกับธาตุดินเนื่องจากเป็นธาตุที่เอื้อกัน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระบบทางเดินหายใจ และโรคอ้วน จึงควรกินอาหารประเภทแป้งขัดขาวให้น้อยเช่นกัน

ผัก สำหรับคนธาตุน้ำเลือกผักที่มี รสเปรี้ยว เช่น มะกรูด มะนาว มะม่วง มะดัน มะยม มะกอก ผักติ้ว ใบชะมวง ส้มป่อย มะเขือเทศ มะขาม มะเฟือง ตะลิงปลิง เป็นต้น

ผลไม้ ได้แก่ ส้ม สับปะรด มะม่วงดิบ กระท้อน

อาหารว่าง เช่น มะยมเชื่อม สับปะรดกวน กระท้อนลอยแก้ว มะม่วงน้ำปลาหวาน มะม่วงกวน ฯลฯ

เครื่องดื่ม เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มคั้น น้ำมะเขือเทศ น้ำมะขาม น้ำสับปะรด น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะเฟือง เป็นต้น

ตัวอย่างอาหารปรับสมดุลธาตุน้ำ เช่น ยำมะม่วง ส้มตำ แกงส้มดอกแค ต้มโคล้งปลากรอบ ต้มโคล้งยอดมะขาม ต้มยำกุ้ง ต้มส้มมะดัน ต้มใบชะมวง ผัดเปรี้ยวหวาน แกงขี้เหล็กปลาย่าง สะเดาน้ำปลาหวาน ลาบหรือยำที่มีรสเปรี้ยวนำ น้ำพริกผักจิ้ม ฯลฯ

เมนูแนะนำพิเศษสำหรับชาวธาตุน้ำคือ “ยำมะม่วง” ซึ่งมีวิตามินซีสูงช่วยป้องกันหวัดและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน นอกจากนั้น ยังมีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีนช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส บำรุงสายตา ไฟเบอร์ในมะม่วงยังเป็นช่วยเรื่องขับถ่าย เผาผลาญพลังงาน และอาหารรสเปรี้ยวจะช่วยให้คนธาตุน้ำกระปรี้กระเปร่าสดชื่นขึ้น

ส่วนผักแนมน้ำพริกต่างๆ นั้น ใบมะกอกมีรสเปรี้ยวอมฝาดช่วยแก้โรคธาตุพิการ แก้บิด มีสารเส้นใยสูง ลดความดันโลหิต และไขมันในเลือด ผักติ้วรสเปรี้ยวมีเบต้าแคโรทีนสูงช่วยรักษาโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ

ธาตุลม มักจะเจ็บป่วยด้วยระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบประสาท โรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจ อารมณ์ ความหวั่นไหว ความวิตกกังวล ปัญหาด้านสุขภาพของคนธาตุนี้คือ นอนไม่ค่อยหลับ ปวดท้อง จุกเสียด ระบบอวัยวะภายในมีความเป็นกรดมาก การย่อยอาหารไม่ดี ภาวะหัวใจขาดเลือด และโรคเกี่ยวกับระบบการทำงานของประสาท สมอง ไขสันหลัง เช่น ปวดหลัง

ธาตุลม จึงควรกิน รสเผ็ดร้อน เช่น กะเพรา โหระพา กระเทียม ขึ้นฉ่าย ยี่หร่า ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทย พริกขี้หนู ขมิ้นชัน เป็นต้น

ผัก ให้กินผักพื้นบ้านที่มี รสเผ็ดร้อน เช่น กะเพรา ผักคราด กระชาย ยี่หร่า โหระพา หูเสือ ชะพลู ข่าอ่อน ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว ขิง ตะไคร้ ผักไผ่ ผักคราดหัวแหวน สะระแหน่ เป็นต้น

เนื่องจากคนธาตุลมระบบการย่อยไม่แข็งแรงจึงควรกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ให้น้อยแต่ให้เน้นที่ผักใบเขียวแทน ขิง ข่า ตะไคร้ หัวหอม ข่าอ่อน ช่วยแก้ลมจุกเสียดและช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง รสเผ็ดร้อนช่วยขับลมแก้ปวดท้อง ท้องอืดเฟ้อ แก้คลื่นเหียนอาเจียน กระชาย ช่วยขับปัสสาวะลดความดันโลหิต ใบอ่อนยี่หร่ามีฤทธิ์ขับลม

ผลไม้ ได้แก่ ชมพู่ แตงโม แตงไทย

อาหารว่าง เช่น บัวลอยน้ำขิง เต้าฮวย เต้าทึง มันต้มขิง ถั่วเขียวต้มขิง เมี่ยงคำ

เครื่องดื่ม เช่น น้ำตะไคร้ น้ำข่า น้ำขิง น้ำมะตูม น้ำกานพลู

ตัวอย่างอาหารปรับสมดุลธาตุลม อาหารที่มีรสเผ็ด เช่น ผัดกะเพรา ผัดขิง คั่วกลิ้ง แกงเผ็ด แกงปลาดุกใส่กะทือ ต้มข่าไก่ ต้มยำ แกงหอยขมใส่ใบชะพลู สมอไทยจิ้มน้ำพริก

เมนูแนะนำเป็นพิเศษสำหรับคนธาตุลมคือ “ยำตะไคร้” สรรพคุณของตะไคร้นั้นเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร และมีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยรักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยไล่ลมที่อยู่ในกระเพาะอาหารและขับน้ำดีมาช่วยย่อย

ธาตุไฟ เป็นคนขี้ร้อน หิวบ่อย กินเก่ง ผมหงอกเร็ว ปัญหาสุขภาพคือ เครียดง่าย โรคกระเพาะอาหาร ผิวหนังแพ้ง่าย ท้องเสียบ่อย ร้อนใน เป็นฝี และมีแผลในปาก มักเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โรคเกี่ยวกับระบบน้ำดี เป็นนิ่ว เป็นต้น จุกเสียด ท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน เป็นไข้ ร้อนใน ติดเชื้ออักเสบง่าย เป็นต้น

ธาตุไฟ ควรกินอาหาร รสขม เย็น จืด อย่างเช่น สมุนไพรฟ้าทลายโจร หรือผลไม้ เช่น มังคุดเพื่อแก้ไข้ร้อนใน ดับพิษ และควรกินอาหารจำพวกไขมันให้น้อย แม้ว่าร่างกายจะเผาผลาญเนื้อสัตว์ได้ดี แต่หากกินไขมันที่ย่อยยาก จะทำให้มีความร้อนในร่างกายมากเกินไปจะป่วยไข้ได้

ผัก ได้แก่ เห็ดหูหนู ผักบุ้ง ตำลึง กะหล่ำปลี ผักเป็ดน้ำ ผักกาดหอม ผักกาดจีน สายบัว ผักกาด มะระ มะรุม มะเขือ ผักหนาม ยอดมันเทศ กระเจี๊ยบมอญ สะเดา ยอดฟักทอง หยวกกล้วย หม่อน มะเขือขาว กุยช่าย บัวบก ผักบุ้ง ตำลึง แตงกวา คะน้า บวบ มะละกอดิบ

สรรพคุณใบบัวบกมีรสขมมัน ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ดี ช่วยลดความดันโลหิต มีวิตามินเอ สารต้านอนุมูลอิสระ และแคลเซียมสูง ผักกาดหอมมีรสเฝื่อนเย็น ช่วยทำให้นอนหลับได้ดี แก้ไข้ แก้ไอ ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ ส่วนกะหล่ำปลีมีรสจืด ดับพิษ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ

ผลไม้ เช่น มังคุด พุทรา แอปเปิ้ล มะละกอ มันแกว

อาหารว่าง เช่น ซ่าหริ่ม ไอศกรีม น้ำแข็งไส ฯลฯ

เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำแตงโมปั่น น้ำใบบัวบก น้ำใบเตย น้ำเก๊กฮวย

ตัวอย่างอาหารปรับสมดุลธาตุไฟ เช่น แกงจืดตำลึง ผัดบวบ มะระผัดไข่ ผัดผักบุ้ง หรืออาหารที่มีรสจืด อย่างแกงจืดตำลึง แกงจืดมะระ ผัดสายบัว แกงคูน แกงหยวกกล้วยใส่ปลาช่อน ยำผักกระเฉด ผักหนามผัดน้ำมันหอย ฯลฯ

เมนูแนะนำพิเศษสำหรับคนธาตุไฟ แนะนำ “ยำเห็ดหูหนูขาว” สรรพคุณของเห็ดหูหนูขาวที่สำคัญคือ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ เสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้การไหลเวียนเลือดของหัวใจดีขึ้น ลดอาการหลอดเลือดหัวใจขาด ตีบตัน มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง สามารถขจัดริ้วรอยย่นบนผิว ช่วยให้ผิวดูอ่อนเยาว์ และรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ดี

อย่างไรก็ตาม การกินอาหารในชีวิตประจำวันควรเลือกกินอาหารให้หลากหลายครบทุกรสทั้ง 4 ธาตุ ไม่ควรเลือกกินเฉพาะรสใดรสหนึ่งตามธาตุเจ้าเรือนของตนเองเท่านั้น เนื่องจากร่างกายต้องการอาหารบำรุงธาตุครบถ้วนทั้ง 4 ธาตุ ไม่ควรขาดการบำรุงธาตุใดธาตุหนึ่ง

เว้นแต่ในกรณีที่ร่างกายเสียสมดุลหรือเจ็บป่วยให้เพิ่มการกินอาหารบำรุงธาตุเจ้าเรือนเป็นพิเศษให้มากกว่าธาตุอื่นที่สมดุลอยู่แล้ว เป็นการปรับพฤติกรรมสร้างสมดุลให้ได้ผลดียิ่งขึ้น