“ก๋วย” ภาชนะบรรจุพืชผล ภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนเชียงดาว

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

อาชีพเกษตรกรรม ถือได้ว่าเป็นอาชีพหลักของคนไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน จนทำให้เกิดงานอาชีพที่ใกล้เคียงและเสริมสร้างงานทางการเกษตรเกิดขึ้นมากมาย เช่น การทำปุ๋ย การทำเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อใช้ในการเกษตร รวมถึงการทำภาชนะบรรจุผลผลิตทางการเกษตร เช่น “ก๋วย” หรือภาคกลางเรียกว่า “เข่ง” พบมากทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งผลิตก๋วยที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือ

คุณวรรณ ยามเมาะ ชาวบ้านใหม่สามัคคี อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนยึดการสานก๋วยเป็นอาชีพเสริมภายหลังทำการเกษตร มากว่า 10 ปี โดยไม้ไผ่ที่นำมาสานก๋วยปลูกไว้เอง มีพันธุ์ไผ่บ้าน ไผ่ป่า และไผ่ซางป่า

“ไม้ไผ่ ที่นำมาสานใช้ไม้ไผ่อายุประมาณ 1–5 ปี ขึ้นไป ที่สำคัญต้องเป็นไม้ไผ่สดเท่านั้น เนื่องจากถ้าเป็นไม้ไผ่แห้งจะหักง่าย จากนั้นนำไม้ไผ่มาตัดให้ได้ความยาว 1.62 เมตร หลังจากนั้น ใช้มือหรือเครื่องจักรผ่าไม้ไผ่ให้เป็นซีกๆ แล้วตัดส่วนที่เรียกว่า ตาไม้ทั้งตานอกและตาในให้หมด นำเข้าสู่เครื่องจักรเพื่อผ่าเป็นซีกให้เล็กๆ บางๆ เรียกว่า “ตอก” แล้วนำไปตากแดดประมาณ 1 วัน เพื่อให้ตอกแห้ง และป้องกันการเกิดเชื้อราก่อนนำมาสานก๋วยหรือเข่ง”

สำหรับรูปแบบหรือลวดลายที่นำมาสาน เป็นแบบตาจน เนื่องจากมีความโปร่งระบายอากาศได้ดีเมื่อนำไปใช้บรรจุพืชผัก อีกทั้งยังประหยัดตอกที่นำมาสานอีกด้วย  หลังจากได้ตอกที่ตากแดดแล้ว นำมาสานฐานหรือ “การก่อก้นก๋วย” โดยใช้ตอก 28 เส้น ต่อด้วยสานขึ้นรูปใช้ตอก 7 เส้น และเก็บความเรียบร้อยของงาน (การไพปากก๋วย) ราคาใบละ 4–4.50 บาท

คุณรัชนีกร แดงขาวเขียว ชาวบ้าน หมู่ที่ 3 บ้านใหม่สามัคคี อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ผู้รับซื้อตอกและก๋วยสำเร็จรูป เล่าว่า การรับซื้อตอกเพื่อส่งให้กับผู้สาน รวมถึงการรับก๋วยสำเร็จรูปในแต่ละหมู่บ้านเพื่อส่งต่อให้กับพ่อค้ารายใหญ่ มีตารางวันและเวลาในการรับส่งผลิตภัณฑ์ คือ วันจันทร์ไปเอาตอกที่หมู่บ้านห้วยจะค่าน บ้านปางมะเยา ปละบ้านป่ากู้ ในอำเภอเชียงดาว วันศุกร์บ้านแม่จา ทุ่งข้าวพวง วันเสาร์บ้านสัน บ้านแม่ข้อน และบ้านม่วงง้ม วันอาทิตย์บ้านใหม่สามัคคี บ้านสหกรณ์ ส่วนวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี จะไปรับก๋วยสำเร็จรูปโดยเมื่อครบกำหนด 1 สัปดาห์ หลังจากที่นำตอกไปส่งจะกลับไปรับก๋วยที่สานเสร็จแล้ว โดยก๋วยจะถูกวางซ้อนกัน แถวละ 50 ใบขึ้นไป เนื่องจากสะดวกต่อการนับจำนวนและการเก็บรักษา

“แต่เดิมนั้นตนเองมีอาชีพขับรถไถนาและได้ผันมาเป็นอาชีพแม่ค้ารับส่งก๋วย เนื่องจากอาชีพขับรถมีการบำรุงและซ่อมแซมต้นทุนสูง แต่สำหรับรับส่งก๋วยนั้นเป็นอาชีพที่มั่นคง ซึ่งมั่นใจได้ว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงในอนาคต การสานก๋วยเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังคงดำเนินต่อไปและเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่คนไทยโดยเฉพาะอำเภอเชียงดาว สามารถยึดเป็นอาชีพหลัก อีกทั้งความต้องการผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปใส่พืชผักผลไม้ยังคงจำเป็นที่จะต้องใช้ควบคู่กันไป”

จากอาชีพการเกษตร ผนวกเข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงความต้องการของตลาดที่สอดคล้องกับผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร จากการสานก๋วย ภาชนะบรรจุพืชผลทางการเกษตร โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในหมู่บ้านและยังสามารถทดแทนกันได้ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเป็นอย่างดี

ผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ คุณรัชนี แดงขาวเขียว โทร. 08-4949-1158