ปลาดุกร้า 2 รส ไร้สารพิษ โอท็อป 5 ดาว ท่าเตียน นครศรีธรรมราช

เมื่ออดีตที่ผ่านมา พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบทางสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำจืดขาดแคลน น้ำเค็ม น้ำเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม ในหลายพื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ ถึงปลูกได้ก็ให้ผลผลิตน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของพระองค์ จึงมีพระราชดำริจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเน้นแก้ปัญหาน้ำ พื้นที่ทำการเกษตร พัฒนาสิ่งแวดล้อม คมนาคม การสื่อสาร สวัสดิการ และส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชน

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์สร้างอาชีพใหม่ที่ก่อให้เกิดเป็นรายได้ให้กับครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมากมาย และหนึ่งในอาชีพที่เกิดขึ้นในชุมชน คือ การต่อยอดน้ำวัตถุดิบที่ในชุมชนมาแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่ายสร้างรายได้เสริม

ในพื้นที่บ้านท่าเตียน ตำบลแหลม อำเภอหัวไทร มีหลากหลายอาชีพที่เกิดขึ้นมาหลังจากโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาดุก

นอกจากอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ที่เป็นอาชีพหลักแล้ว อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมที่คนในชุมชนหันมาให้ความสนใจเพาะเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก

ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงปี 45 ส่งผลทำให้ราคาปลาเริ่มตกลงตามไปด้วย  อีกทั้งยังถูกผูกมัดเรื่องราคารับชื้อจากพ่อค้าแม่ค้า ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุนกันทั่วหน้า

จากปัญหาดังกล่าวเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกในหมู่บ้านจึงได้รวมกลุ่มระดมความคิดเห็น หาทางแก้ไปปัญหา โดยการนำมาแปรรูปทำเป็นปลาดุกร้าส่งจำหน่ายภายในชุมชนและต่างจังหวัด ภายใต้ชื่อกลุ่ม  “ปลาดุกร้า 2 รส บ้านท่าเตียน”

รวมกลุ่มแปรรูปเพิ่มมูลค่า

ติดตลาด  ขยายการผลิต

กลุ่มปลาดุกร้า 2 รส บ้านท่าเตียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 โดยมี คุณลุงช่วง ชูเมือง เป็นประธานกลุ่ม

คุณลุงช่วง เล่าให้ฟังว่า กลุ่มเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน ที่ประสบปัญหาราคาปลาตกต่ำ โดยเริ่มมีสามาชิกเข้าร่วมกลุ่ม 12 คน ในช่วยตลอดระยะเวลาที่กลุ่มเกิดขึ้นมา ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่ให้ความรู้ กระบวนการผลิตที่ถูกหลักอนามัยและทุนเป็นจำนวนมาก  ทั้งมหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหลม และสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยงค่อยดูแลเสมอมา

“การนำปลาดุกมาแปรรูปเป็นปลาดุร้า ทำกันมานานกว่า 20 ปี โดยแต่ละบ้านที่เลี้ยงปลาดุกจะนิยมนำมาแปรรูปเก็บไว้บริโภคภายในครอบครัว จนทำให้มีความรู้ความชำนาญในการแปรรูปปลาดุกพอสมควร

ในช่วงแรกที่เริ่มทำการแปรรูปทำเป็นปลาดุกร้าจะมีสูตรดั้งเดิมที่ทำกันมาโดยผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาจะว่างขายภายในชุมชนและส่งเข้าไปจำหน่ายในจังหวัดก่อนในช่วงแรกๆ ซึ่งในระยะแรกยังไม่ค่อยได้รับการตอบรับมากเท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จัก อีกทั้งรสชาติยังไม่ลงตัว หวานบ่าง เค็มบ้าง ซึ่งจากคำติชมเหล่านี้ทางกลุ่มจึงได้เก็บมาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขจนได้สูตรที่ลงตัวมีรสชาติที่อร่อยเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับปลาดุกที่นำมาแปรรูปคุณลุงช่วงบอกว่า จะมีทั้งปลาดุกพื้นบ้านที่เลี้ยงเองและปลาดุกบิ๊กอุ้ย โดยบางส่วนจะสั่งชื้อจากตำบลข้างเคียง เนื่องจากปริมาณความต้องการมีเพิ่มมากขึ้นทุกเดือน อีกทั้งเกษตรกรเลิกเลี้ยงและหันมาแปรรูปกันหมดส่งผลทำให้ปลาในพื้นที่มีไม่เพียงพอต่อการนำมาแปรรูป

ขั้นตอนและวิธีทำ คุณลุงช่วงเล่าให้ฟังว่า ก่อนอื่นต้องนำปลาดุกที่คัดเลือกน้ำหนักต่อตัวเฉลี่ยประมาณ 3-4 ขีด มาตัดหัวและน้ำไปล้างน้ำ 4 น้ำ จากนั้นเกลือและน้ำตาลทรายแดงที่ผสมกันไว้ทาลงไปที่ตัวปลาให้ทั่วก่อนนำลงไปว่างเรียงไว้ในภาชนะหมัก ปิดฝาทิ้งไว้ 3 คืน(ช่วง 3 คืน ต้องมาพลิกกลับปลาทุกวัน) หลังจากที่ทิ้งไว้จนครบก็จะนำขึ้นมาตากในโรงเรือนเพื่อป้องกันแมลงวันและนกประมาณ 3-4 แดด และก่อนนำบรรจุจำหน่าย ในราคากิโลกรัมละ 240 บาท (7-8 ตัว) 100 บาท (2-3 ตัว)

แต่ละอาทิตย์ กลุ่มจะแปรรูปปลาดุกร้าเพิ่มขึ้นทุกๆวัน ถึง ณ วัน นี้ ตกอยู่ที่อาทิตย์ละประมาณ 1 ตัน โดยกระบวนการทำงานของกลุ่มจะมีสมาชิกเข้ามาหมุนเวียนกันทำงานทุกวัน เนื่องจากการแปรรูปและกระบวนการทำปลาดุกร้าค่อนข้างจะต้องใช้แรงงานคนและเวลาเนื่องจากมีหลากหลายขั้นตอน อีกทั้งต้องยึดหลักความสะอาด  เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

ผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าของกลุ่มทุกๆ เดือนจะได้รับเชิญไปออกร้านจำหน่ายในงาน โอท๊อปทั้งในจังหวัดและกรุงเทพมหานคร  งานประจำปี  ซึ่งมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นทุกปี  โดยเฉพาะในช่วงของเทศกาลทำบุญเดือนสิบ เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลปีใหม่

ส่วนการนำมาประกอบอาหาร คุณลุงช่วง แนะนำมาว่า ปลาดุกร้าจะรับประทานให้อร่อยต้องนำไปทอดและหั่นซอยหอม มะนาว พริกใส่ บีบมะนาวใส่เล็กน้อย ซึ่งเมื่อทานกับข้าวเหนี่ยวร้อนๆ รสชาติไม่ต้องพูดถึง “แซ่บเว่อร์”

ด้วยปลาดุกร้าจะมีรสชาติหวานและเค็มผสมกันอยู่ หากจะนำมาทอด คุณลุงช่วงบอกว่าต้องใช้ไฟอ่อนๆ เนื่องจากมีน้ำตาลหากใช้ไฟแรงทอดอาจจะทำให้เนื้อปลาไหมก่อนที่ข้างในจะสุก แต่หากใครที่ชอบแบบปิ้งย่างก็สามารถทำได้ แต่ต้องใช้ไฟอ่อนๆเช่นกัน

วันนี้ ปลาดุกร้า 2 รส บ้านท่าเตียน มีว่างจำหน่ายในหลายจังหวัด ทั้งสุราษฎ์ธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช  แต่ยังอยู่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามด้วยความสะอาดและดีกรี สินค้าโอท๊อประดับ 5 ดาว จะใช้เวลาไม่นานตลาดอื่นๆ ก็จะรู้จักกันเป็นอย่างดี

ท้ายที่สุด ลุงช่วง ยังบอกอีกว่า ถึงแม้ผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าจะยังไม่เป็นที่ยอมรับมากเท่าที่ควร แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับและสะท้อนให้เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ คือ การหวงแหนและการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเก่าของชาวบ้านที่พยายามรักษาสิ่งดีงามเหล่านี้ให้ยังอยู่ไปถึงชั่วลูกชั่วหลานสืบไป

สนใจติดต่อ กลุ่มปลาดุกร้า 2 รส บ้านท่าเตียน 86/2 หมู่ 10 ตำบลแหลม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ (086) 942-9905, (085) 672-8313 บริการส่งจำหน่ายทั่วประเทศ (ค่าจัดส่งขึ้นอยู่กับน้ำหนัก)