เผยแพร่ |
---|
ปัจจุบัน มักพูดกันในวงการศึกษาเรื่องอาหารว่า ความรู้เกี่ยวกับการใช้พืชสมุนไพรรักษาโรค ตลอดจนการรู้จักเก็บหาผักล้มลุก ผักยืนต้นมากิน ดูจะลดน้อยลงเรื่อยๆ คือเราไม่ค่อยรู้จักชนิดของพืชผักกันแล้วนั่นเอง ส่งผลให้การสืบทอดตำรับอาหารที่ปรุงจากพืชท้องถิ่นหรือพืชป่าสูญหายไปมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ ฟังเผินๆ ก็ดูเหมือนจะจริงนะครับ แต่ครั้นเราลองไปเดินจับจ่ายซื้อของตามตลาดนัดหมู่บ้านย่านชุมชนชานเมืองใหญ่ๆ ก็กลับพบว่า มีการเพิ่มขึ้นของแผงผักพื้นบ้านอย่างชัดเจนในช่วงราวสองทศวรรษที่ผ่านมา ผักหน้าตาแปลกๆ เดี๋ยวนี้มีให้เห็นทั่วไป โดยเฉพาะตามหมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ เผลอๆ จะมีมากกว่าตลาดต่างจังหวัดด้วยซ้ำไป
การเพิ่มขึ้นของสินค้าใดๆ ย่อมสัมพันธ์โดยตรงกับผู้บริโภค กรณีของผักพื้นบ้าน คำอธิบาย ณ เวลานี้ที่เห็นชัดก็คือ มันตอบสนองรสนิยมการกินของแรงงานวัยหนุ่มสาวจากชนบทที่อพยพโยกย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ดังนั้น คงไม่เกินเลยความจริงไปนัก หากจะบอกว่า “ความรู้” ที่ชาวเมืองวิตกกันว่าจะสูญหายนั้น ได้ถูกชาวชนบทพลัดถิ่นนำเสนอด้วยการยืนยันวิถีการบริโภคซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยบุรพกาลของพวกเขา ให้เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาทุกเมื่อเชื่อวัน
ไม่ว่าจะเป็นน้ำใบย่านางคั้นสำเร็จ ยอดผักสะแงะ สะเดาดิน หรือผักขี้ขวง ใบขิงอ่อน ยอดเสม็ดชุน ลูกก่อ สมอไทย มะกอกเลื่อม ฯลฯ หาพบได้ทั่วไปตามแผงผักในตลาดสด ที่คนหนุ่มสาวพูดจาพาทีกันด้วยน้ำเสียงแปลกแปร่งต่างเดินจับจ่ายซื้อหากันอย่างคึกคักทุกเช้าเย็น
ภาพที่พวกเขายืนเลือกลูกสมอ ลูกมะกอก ไปตำเอาส้ม ทำให้ผมไพล่นึกไปถึงผลการขุดค้นทางโบราณคดีที่ถ้ำผีแมน แม่ฮ่องสอน เมื่อต้นทศวรรษ 1970 โดย Chester Gorman นักโบราณคดีอเมริกัน ครั้งนั้นเขาขุดพบเมล็ดพืชที่มีทั้งมะกอกเลื่อม ละมุดสีดา ลูกท้อ หมาก มะยาว และลูกก่อ เป็นต้น
เมล็ดพืชพวกนั้นกำหนดอายุได้กว่า 8,000 ปี มาแล้ว
หลายสิ่งหลายอย่างในวัฒนธรรมอาหารไม่เคยเปลี่ยน แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเกือบหมื่นปีแล้วก็ตาม
…
ผมเชื่อที่ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชรบุรี เคยบอกว่า “ความรู้” (กรณีนี้คือ การรู้จักเก็บของกิน) ใดๆ นั้นไม่ได้สูญหายไปไหน แต่อยู่ที่ไหนสักแห่งที่เรายังเข้าไปไม่ถึง แล้ววันหนึ่งเราก็จะค้นพบมันเอง ดังนั้น ผมจึงพยายามสืบเสาะ ไถ่ถาม ค้นหาความรู้เรื่องของกินที่ว่านี้มาตลอด แล้วก็พบว่าจริงด้วย คือมันอยู่ตรงโน้นนิด ตรงนี้หน่อย ให้เราค่อยๆ พบเจอมันไปเรื่อยๆ
เร็วๆ นี้ ผมก็เจอ “ความรู้” ชุดใหญ่ในหนังสือเก็บป่ามาฝากเมือง ที่รวมพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2555 จากข้อเขียนเป็นตอนๆ โดยเภสัชกร ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร “พี่ต้อม” และคณะ ซึ่งเคยพิมพ์เผยแพร่ในอภัยภูเบศรสาร วารสารของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี ซึ่งพี่ต้อมเองเป็นเภสัชกรคนสำคัญ ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการศึกษาพืชสมุนไพรไทยเพื่อการรักษาโรค ณ โรงพยาบาลแห่งนี้มานานร่วม 30 ปี
“เก็บป่ามาฝากเมือง” อาจนับเป็นรายงานภาคสนามของคณะเภสัชกรกลุ่มเล็กๆ ที่สนใจเรื่องตำนาน นิทานพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าท้องถิ่น ควบคู่ไปกับสรรพคุณทางยาของบรรดาพืชผักหายาก ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในสถานที่ที่พี่ต้อมเปรียบไว้ในคำนำหนังสือว่า เป็น “ป่านับสิบป่า ขุนเขานับสิบลูก เส้นทางนับพันนับหมื่นกิโลเมตร” ที่ได้มีโอกาสเดินเท้าตามหมอยาพื้นบ้านไปเก็บเกี่ยวความรู้สดใหม่จากสถานที่จริง ภายใต้ประสบการณ์ของเจ้าถิ่นผู้ชำนาญการที่ได้เคยทดลองใช้ สั่งสมความรู้ในการลองผิดลองถูกมาตลอดหลายชั่วอายุคน
สำหรับผม หนังสือเล่มนี้จึงเป็นทางลัดอันวิเศษ เหมือนได้เหยียบยืนบนบ่ายักษ์ ส่งสายตาเราให้ทอดยาวไกลไปร่วมเห็นอะไรต่อมิอะไรที่คณะเภสัชกรนี้ได้เห็นมาแล้ว เรื่องน่าตื่นเต้นจากปากคำหมอยาอาวุโสหลายท่านนี้ บางครั้งก็ซ้อนทับเวลาและสถานที่กันกับเหตุการณ์ในช่วงสงครามเย็นและพื้นที่ป่า “สีแดง” พลอยทำให้เรื่องเล่านั้นมีสีสันจนอยากจะตามไปคุยต่อเอาเลยทีเดียว
อย่างเรื่องต้น “พันซาด” ไม้ใหญ่ที่ทุกส่วนเป็นพิษเบื่อเมานั้น หมอบุญมี หมอยาสมุนไพรจากอำเภอเลิงนกทา เล่าว่า สมัยยังเป็นทหารป่า ครั้งหนึ่งทหารฝ่ายรัฐบาลแอบฟันกิ่งพันซาดใส่บ่อน้ำที่ทหารป่าต้องมากินในหน้าแล้ง เมื่อหมอบุญมีกับพวกกินเข้าไปก็เมาสะลึมสะลือ หมดเรี่ยวแรง โชคดีที่หมอบุญมีพกมะนาวกับน้ำตาลทรายติดตัวไป จึงอาศัยกินแก้พิษ เอาตัวรอดมาได้
ยังมีเรื่อง “มะกอกเลื่อม” (ที่ Gorman พบเมล็ดจากการขุดค้นที่ถ้ำผี) ว่าใช้กำจัดมดได้ โดยผ่าผล วางไว้ใกล้ๆ น้ำตาล มดจะกินน้ำตาลแล้วมากินมะกอกเลื่อม จากนั้นก็จะตายยกฝูง
หรือ ดอกพุดผา ที่บานตามป่าหินแถบโขงเจียม อุบลราชธานี ซึ่งนอกจากสรรพคุณทางยาสารพัดแล้ว ยังใช้เนื้อไม้ทำทัพพี ซึ่งหากเอาไปคนแกงเห็ดที่เผลอใส่เห็ดพิษลงไป น้ำแกงจะเปลี่ยนสีให้สังเกตเห็นได้ เป็นต้น
นอกจากเรื่องเล่าที่สนุกตื่นเต้นจากประสบการณ์ตรงของบรรดาหมอยา ภาพประกอบสีน้ำ ฝีมือ คุณปัญญา ใช้เทียนทอง ที่ปรากฏในทุกหน้าหนังสือเล่มนี้ ก็งดงามน่าชมเป็นที่ยิ่ง
…
ท้ายที่สุด เมื่ออ่านเก็บป่ามาฝากเมือง จบ ผมก็สงสัยว่า ในทางกลับกัน แล้ว “เมือง” ล่ะ จะมีอะไรเก็บกลับไปฝากป่า ในประเด็นเดียวกันนี้ได้บ้างไหม เพราะที่จริงเมืองเองก็เคยเป็นป่ามาก่อน ทั้งไม่ต้องพูดถึงว่า บางซอกมุมของเมืองนั้นก็ยังมีพืชผักแปลกๆ ซุกซ่อนอยู่ไม่น้อย
ณ เวลานี้ ผมคิดออกอยู่แค่ 2 ข้อ ครับ คือด้วยความรู้ที่จะพลิกแพลงสูตรอาหารต่างๆ ได้ดี น่าจะทำให้ “เมือง” และคนเมือง คิดสูตรอะไรใหม่ๆ แนวๆ ชนิดที่สามารถต่อยอดไปจากความรู้เรื่องวัตถุดิบที่หนังสือของพี่ต้อมเล่มนี้ได้สาธยายเอาไว้แล้วบ้าง
และผมคิดว่าที่สำคัญอีกข้อ ที่เมืองได้เปรียบ และมีต้นทุนมาก ก็คือ ความรู้เรื่องเทคโนโลยี ตลอดจนห้องปฏิบัติการด้านชีวเคมีและพันธุศาสตร์ ที่จะส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้าแบบลงรายละเอียด จนอาจทำให้เรา “เห็น” สรรพคุณของพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านในอีกแง่มุมหนึ่ง เช่น อาจจำแนกชนิดของโมเลกุลพืชที่สัมพันธ์กับการดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์ด้านการแปรรูปได้ดีขึ้น เป็นต้น
และถ้าทำได้ถึงขนาดนั้น ก็อาจมีใครสักคนเขียนหนังสือ “เมืองใหญ่คืนให้ป่า” พิมพ์ออกมาให้อ่านกันอีกเล่มหนึ่งก็ได้...ใครจะรู้?