ปลาอีไท นกยูง และ หญ้าหัวไก่เถื่อน ในผืนป่ากันชนของ ชุมชนบ้านซำหวาย

พื้นที่ป่าชุมชนบ้านซำหวาย อำเภอน้ำผืน อุบลราชธานี มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีอาณาบริเวณติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม เป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลลงสู่ห้วยพระเจ้า ห้วยวังใหญ่ และห้วยบอน มีอ่างเก็บน้ำห้วยวังใหญ่ ซึ่งมีน้ำขังตลอดปีเพื่อใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร หล่อเลี้ยงวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนตำบลซำหวาย

ชุมชนได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานด้านการอนุรักษ์อย่างชัดเจน มีการเชื่อมโยงการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า พืช สัตว์ อย่างสัมพันธ์และเกื้อกูลกัน เช่น การกำหนดแนวเขตการอนุรักษ์ป่าเป็น “ป่ากันชน” มีการเก็บน้ำไว้ใต้ดินเพื่อนำกลับมาใช้ได้ใหม่ในฤดูแล้ง การทำฝายชะลอน้ำ โครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาอีไท ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่นและใกล้สูญพันธุ์ ด้วยการกำหนดเขตพื้นที่ห้ามจับปลาในช่วงฤดูกาลวางไข่ ได้กำหนดกฎระเบียบการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน และแหล่งน้ำสาธารณะที่ชัดเจน นอกจากนั้น ยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมอีกด้วย

คนในชุมชน

“ป่ากันชน” ผืนนี้นั้นหากย้อนกลับไปมองอดีต จากคำบอกเล่าของคนในตระกูล “สะนัย” ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยเพียงไม่กี่ครัวเรือน เริ่มต้นตั้งแต่ พ่อมี สะนัย เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2466 ต่อมาก็มีผู้คนในตระกูลสะนัย สืบต่อมาอีกจนถึง พ่อหมื่น สะนัย ผู้สืบทอดรุ่นที่สี่ เล่าให้ฟังว่า เป็นผืนป่าทึบ มีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้พื้นถิ่น ผักพื้นถิ่น และสัตว์ป่าจำพวก กระต่าย กระจง สุนัขจิ้งจอก นกยูง หรือแม้แต่ช้างป่า ปลาอีไท เป็นต้น รวมไปถึงประเภทผักป่าและแมลงอีกหลากหลายชนิด ส่งผลให้ชาวบ้านจากหลายชุมชน ต่างอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนมาจับจองพื้นที่ทำกิน ตัดไม้สร้างที่อยู่อาศัย เป็นต้น

โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2444 ได้มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-เขมร ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้พื้นที่ดังกล่าวได้ขยายพื้นที่ทำกิน มาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชุมชนบ้านซำหวาย จนถึงปี 2515 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดน เนื่องจากการสู้รบในประเทศกัมพูชาของเขมร 3 ฝ่าย ที่เรียกกันว่า “สมรภูมิช่องบก” ที่ครอบคลุมอาณาบริเวณสามประเทศ ไทย ลาว และเขมร ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามแนวชายแดน หน่วยงานภาครัฐได้อพยพผู้คนออกจากพื้นที่สู้รบ เพื่อความปลอดภัย

อ่างเก็บน้ำ

ปี พ.ศ. 2520 ได้มีการประกาศพื้นที่ฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ บางส่วนให้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณ ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้อย่างสะดวกสบาย

อย่างไรก็ดี ชุมชนต่างมีความต้องการที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในผืนป่า ที่ยังคงเหลืออยู่และยังไม่ถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ฯ เพื่อขอกันพื้นที่ไว้ใช้ประโยชน์ของชุมชน

ปี พ.ศ. 2538 คณะกรรมการป่าสงวนและเขตอนุรักษ์คุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติได้เห็นชอบให้ขยายแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม ในพื้นที่ตำบลสีวิเชียร และตำบลโดมประดิษฐ์เพิ่มเติม ในช่วงเดียวกันนี้ จำนวนประชากรในพื้นที่ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่ทำมาหากิน การล่าสัตว์ การบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่เพิ่มขึ้น ทำให้ป่าถูกทำลาย เกิดเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม นำมาสู่เหตุการณ์หรือความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน มีการผลักดันให้คนออกจากป่า ชาวบ้านหลายรายถูกจับกุมด้วยความไม่เข้าใจกัน

ที่อยู่ของนกยูง

เมื่อเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมชาวบ้านที่เข้าตัดไม้ หาของป่าในบริเวณหลังเขื่อนห้วยวังใหญ่ เมื่อมีการตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างรอบคอบแล้ว พบว่าพื้นที่บริเวณที่จับกุมชาวบ้านไม่ใช่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ฯ หรือพื้นที่ของเขื่อนห้วยวังใหญ่แต่อย่างใด นายก อบต. และกรรมการจากเทศบาล รวมไปถึง นายบัว สุธรรม อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านซำหวาย หมู่ที่ 3 ได้เข้าปรึกษากับ นายวิชิต จิรมงคลการ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ในช่วงเวลานั้น จึงพบว่าพื้นที่ดังกล่าว คือ “ป่ากันชน” ชุมชนจึงมีแนวคิดในการหาข้อยุติและประสงค์จะใช้ประโยชน์จากป่า จึงได้รับคำแนะนำจากนายวิชิต ไปดำเนินการขอจดแจ้งเป็นพื้นที่ป่าชุมชน ที่สำนักป่าไม้จังหวัด แผนกป่าชุมชน จากนั้นชุมชนได้เริ่มประชาคมกับชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เทศบาล และชุมชน ร่วมกันหาแนวทาง ในการจับพิกัดพื้นที่และกำหนดพื้นที่ป่าชุมชน ในที่สุดก็ได้ผืนป่าจำนวน 1,072 ไร่

เสาหลักเขตที่เป็นแนวกั้นอาณาบริเวณ “ป่ากันชน” กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม

อย่างไรก็ดี ปลัดปัญญา สะนัย ผู้เกิดและเติบโตในชุมชนนี้ได้เล่าเรื่องราวลำดับขั้นตอนตั้งแต่ครั้งเป็นเด็กจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้กล่าวเน้นในตอนท้ายว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2558 คณะกรรมการป่าชุมชนได้ขอคืนพื้นที่โดยวิธีประนีประนอม พูดคุยทำความเข้าใจกัน จากชาวบ้าน 4 รายที่บุกรุกพื้นที่ป่า คณะกรรมการได้นำข้อมูลหลักฐานที่มีการจับพิกัดพื้นที่ และใช้มติ กฎของหมู่บ้านเข้าไปร่วมพูดคุย เป็นรายบุคคล ซึ่งไม่ได้เป็นการขอให้สละพื้นที่ หากแต่เป็นการกั้นพื้นที่มิให้บุกรุกหรือขยายเพิ่มเติม มีการปักหมุดกั้นเขตไว้ ตลอดจนมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันในชุมชนให้แต่ละรายเห็นความสำคัญและตระหนักถึงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าส่วนรวม

ต้นประดู่ใหญ่ภายในป่าที่ผู้คนยังกราบไหว้บูชา ขอพร

โดยเฉพาะการอนุรักษ์ปลา “อีไท” เตื้อนไตรเก๊ราะ (ภาษาเขมร) ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่น หรือเรียกกันว่า “ปลาสร้อยนกเขาหรือปลาสร้อยหางแดง” ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า (Hard-lipped bard, Osteochilus vittatus เป็นปลาชนิดหนึ่งในวงปลาตะเพียน) อีกทั้งพิจารณาถึงการจะทำอย่างไรให้นกยูงคืนถิ่น เพราะเคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นแรกๆ เล่าให้ฟังว่า เคยเป็นพื้นที่ของนกยูงมาแต่เดิม

ประกอบกับภูมินิเวศของป่าผืนนี้มีร่องน้ำจำนวนหลายร่อง ที่ไหลมาจากพื้นที่ต้นน้ำเทือกเขาพนมดงเร็ก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม ต่างไหลมารวมกันที่อ่างเก็บน้ำห้วยวังใหญ่ ซึ่งเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ มีบริเวณพื้นที่อีกราวพันไร่ ทำให้ปลาอีไทขึ้นวางไข่ ถึงปีละ 2 ครั้ง ในบริเวณน้ำที่ตื้นเขิน รวมทั้งปลาพื้นถิ่นอื่นๆ เช่น ปลากด ปลาเซียม ปลาตอง ปลาช่อน เป็นต้น

พ่อใหญ่คาน สะนัย ผู้นำรุ่นที่สาม เล่าให้ฟังว่า

ปลาร้าก้อน

“แต่ก่อนเคยมีนกยูงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์สังเกตได้จากพื้นที่ตั้งวัดชื่อว่า “วัดพลาญนกยูง” ซึ่งเป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพง ชาวบ้านอีกหลายรายยืนยันว่าเป็นพลาญนกยูงจริง เนื่องจากบริเวณนี้มี “หญ้าหัวไก่เถื่อน” เป็นอาหารที่นกยูงชื่นชอบมาก และมีปริมาณมากในพื้นที่ “พลาญ” อีกทั้งเป็นยาสมุนไพร ใช้ได้ทั้งคนและสัตว์ จึงได้ให้ความสนใจและจัดทำโครงการนกยูงคืนถิ่น จนถึงปัจจุบันมีผู้เห็นนกยูงคืนถิ่นแล้วจำนวนหนึ่ง”