กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน แปรรูป-จำหน่าย ผลิตภัณฑ์หมูดำ หวังดึงตลาดสุขภาพ

ระหว่างรอการแก้ปัญหาราคาหมูจากหลายภาคส่วนที่ยังหาข้อยุติอย่างยั่งยืนไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงหมูต้องแบกรับภาระต้นทุนต่อไป ด้วยเหตุนี้ทางกรมปศุสัตว์จึงต้องเร่งหาทางออกเพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน

พอร์คช็อปหมูดำ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบูรณ์ได้นำแผนส่งเสริมเลี้ยงหมูดำ โดยชักชวนชาวบ้านในพื้นที่เลี้ยงในรูปแบบหมูอินทรีย์ พร้อมร่วมมือกับทางวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสร้างตลาดรองรับหวังดึงผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยสร้างแบรนด์ชูความโดดเด่น ในชื่อ “หมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน”

“หมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน” เป็นพันธุ์หมูที่มาจากการสร้างสายพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยมีสายพันธุ์ตั้งต้น จาก 1. หมูดำเชียงใหม่ 2. หมูพันธุ์เบิร์กเชียร์ และ 3. หมูพื้นเมืองเพชรบูรณ์ (หมูกระโดน)

ด้วยคุณลักษณะเด่นของแต่ละสายพันธุ์ที่มารวมกันจึงทำให้หมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน เป็นสุกรที่ให้เนื้อคุณภาพสูง มีเนื้อนุ่ม เส้นใยเนื้อมีความละเอียด อุ้มน้ำ มีวิตามินบีสูง คอเลสเตอรอลต่ำ ไขมันดีสูง

เนื้อมีความหอมแตกต่างจากสุกรทั่วไป เพราะมีวิธีเลี้ยงแบบปล่อยในสถานที่กว้าง ช่วยให้หมูดำได้ออกกำลังกาย ได้สัมผัสแสงแดด มีสุขภาพดี เพราะได้รับอาหารเป็นสมุนไพรจากที่ปลูกในพื้นที่

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงสุกรวิถีธรรมชาติอย่างยั่งยืน” ตั้งขึ้นจากความตั้งใจของเกษตรกรกลุ่มหนึ่งที่เห็นคุณค่าของธรรมชาติจาก “หมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน” เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดสิ่งดีๆ จากธรรมชาติ ไปสู่พี่น้องชาวเพชรบูรณ์ที่รักสุขภาพด้วยการนำร่องแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หมูดำจำหน่ายยังตลาดสุขภาพ

คุณธีรภัทร์ สุดเวหา ประธานวิสาหกิจชุมชนหมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน

ผลิตภัณฑ์ “หมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน” เป็นผลิตภัณฑ์แนวโฮมเมด จากกระบวนการผลิตแปรรูปตามแนวทางการทำอาหารพื้นเมืองแบบโบราณที่สืบทอดต่อกันมาที่เรียกว่า “เมนูฝีมือแม่” ด้วยการใช้ศิลปะการควบคุมความร้อนจากฟืนไม้มะขามที่ให้ความร้อนได้ต่อเนื่องยาวนาน แล้วนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างเป็นผลิตภัณฑ์หมูดำเพื่อสุขภาพหลายประเภท อาทิ สเต๊กหมูดำ, ขาหมูดำตุ๋น, หมูดำแดดเดียว, ซี่โครงหมูดำอบซอสบาร์บีคิว, ไส้อั่วหมูดำ, ลูกชิ้นหมูดำ, หมูยอหมูดำ รวมไปถึงสินค้าของฝากอย่างหมูฝอยนุ่ม, หมูสวรรค์เม็ดผักชี, หมูหย็อง และหมูทุบ

คุณธีรภัทร์ สุดเวหา ประธานวิสาหกิจชุมชนหมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน กล่าวว่า แนวคิดการเลี้ยงและแปรรูปหมูดำเกิดจากปัญหาราคาหมูทั่วไปลดลงจนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ทางปศุสัตว์จังหวัดได้ ร่วมกับทางวิสาหกิจชุมชนจึงหาแนวทางการสร้างอาชีพเลี้ยง-แปรรูปหมูดำขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน

ขาหมูดำตุ๋น

การเลี้ยงหมูดำของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นโครงการแม่พันธุ์ซึ่งเริ่มมาเมื่อประมาณปี 2560 ตอนนี้อยู่ในช่วงการส่งเสริมให้เลี้ยงหมูดำเพื่อขยายพันธุ์ก่อน โดยมีการแจกแม่พันธุ์ไปใช้สมาชิกที่มีคุณสมบัติความพร้อมเลี้ยง แล้วพอได้ลูกหมูดำแล้วสมาชิกจะนำลูกหมูมาให้วิสาหกิจชุมชนเป็นวิธีที่เรียกว่า “ธนาคารหมู” ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าห้ามนำไปผสมพันธุ์กับหมูที่อื่นเด็ดขาด โดยจะเป็นการผสมเทียมที่ใช้น้ำเชื้อของโครงการเท่านั้น

“การให้สมาชิกเลี้ยงทั้งแม่พันธุ์และหมูขุนจะต้องเปลี่ยนวิธีเลี้ยงให้ต่างจากการเลี้ยงหมูทั่วไป คือจะต้องสร้างเป็นคอกเลี้ยงแบบเปิดให้มีความเป็นอิสระ ขณะเดียวกัน ควรจะต้องสร้างคอกไว้ท่ามกลางสวนหรือไร่เพื่อให้หมูสามารถเดินเข้า-ออกจากคอกเข้าสวนไปทำกิจกรรมต่างๆ”

ร้านจำหน่ายอยู่ที่ตลาดกรีนมาร์เก็ตหน้าองค์พระใหญ่

ประธานกลุ่มชี้ว่า ความจริงแล้วมีแนวคิดต้องการเลี้ยงหมูดำในไร่ข้าวโพดกับพืชผักต่างๆ แล้วมีการแบ่งพื้นที่ในไร่ออกเป็นส่วน โดย 4 เดือนแรกให้เลี้ยงไว้ในแปลงหนึ่ง หลังจากนั้นอีก 4 เดือน ให้ย้ายมาเลี้ยงอีกแปลง เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพื่อต้องการให้หมูดำกินพืชผักชนิดต่างๆ ในไร่แบบอินทรีย์เป็นอาหาร แล้วเมื่อหมูถ่ายมูลก็จะมีการคุ้ยเขี่ยดินทำให้ดินเกิดการร่วนซุย เพราะถ้าหากใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียวอาจมีปริมาณถึง 200-300 กิโลกรัม พอเมื่อใช้แนวทางนี้จะช่วยประหยัดค่าปุ๋ยอินทรีย์ทันที แถมยังมีประสิทธิภาพดีกว่า

“  ทางกลุ่มฯ เข้าระบบการขยายจำนวนหมูขุนเพื่อให้ได้จำนวน 300-500 ตัว ต่อเดือน จากสมาชิกที่เลี้ยง ที่จัดแบ่งว่ารายใดจะเลี้ยงแม่พันธุ์กับหมูขุน อย่างไรก็ตาม การให้สมาชิกเลี้ยงหมูขุน อาจต้องใช้การตั้งราคาขายแบบประกันราคาเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจ”

เนื้อหมูดำไม่อันตรายต่อสุขภาพแม้จะเป็นขาหมูตุ๋นก็ตาม

คุณธีรภัทร์ เผยว่า ในช่วงเปิดตลาดขายเนื้อหมูดำสด ผู้บริโภคยังไม่ทราบถึงความแตกต่างของเนื้อหมูดำกับเนื้อหมูทั่วไป จึงนำเนื้อหมูดำสดไปวางขายแทนเนื้อหมูดำทั่วไปที่วางขายตามแผงหมู เพราะมีลูกค้าที่เป็นคนขายอาหารอย่างหมูสะเต๊ะ,หมูปิ้งนมสด หรือร้านอาหารทั่วไปอยู่

ปรากฏว่าพ่อค้าหมูสะเต๊ะมาถามแม่ค้าเขียงหมูว่าทำไมเนื้อหมูสดที่ซื้อไปจึงเสียบไม้ยากกว่าที่ผ่านมา (เพราะเนื้อนิ่มมาก) เมื่อนำไปย่างเนื้อหมูสุกเร็วกว่าเดิม แล้วพอกัดกินก็ยังพบว่าเนื้อนิ่มกว่าเดิมอีก จึงเกิดความสงสัย จึงทดลองนำเนื้อหมูทั่วไปที่เก็บไว้มาลองทำวิธีเดียวกันก็พบว่าใช้เวลาย่างนาน แล้วเนื้อไม่นิ่มเลย

ด้านตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูป “หมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน” ถ้าเป็นกลุ่มสเต๊กก็จะส่งขายให้แก่ร้านสเต๊กที่อยู่ในเพชรบูรณ์ในรูปแบบเป็นชิ้นเนื้อสด แล้วยังแบบปิ้ง/ย่าง สำเร็จพร้อมรับประทานที่ตลาดกรีนมาร์เก็ตหน้าองค์พระกับนำไปออกงานตามบู๊ธต่างๆ

สะโพกหมูดำหมัก

ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มมีแผนและเป้าหมายที่จะผลิตสูตรหมักเนื้อให้มีความเฉพาะเพื่อใช้หมักให้เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ว่าลูกค้าไปซื้อหมูดำสเต๊กแบบสำเร็จรับประทานหรือซื้อไปทำที่บ้านก็จะได้รสชาติและความนุ่มเป็นแบบเดียวกันทุกแห่ง

ด้วยมาตรฐานคุณภาพและรสชาติที่เท่ากันทุกแห่ง ไม่ว่าคุณจะหาซื้อรับประทานจากสถานที่ใด ก็จะอร่อยเหมือนกัน จึงวางเป้าหมายพัฒนา หมูดำสเต๊กให้เป็น King of Pork Steak ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปชนิดอื่นจะเน้นออกแบบให้มีแพ็กเกจที่ทันสมัย สะดวก และง่ายต่อการนำไปบริโภค ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่แปรรูปเป็นอาหารจะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติล้วน ไม่มีการแต่งสี กลิ่น ส่วนผักที่นำมาใช้ก็เป็นออร์แกนิกแล้วเป็นสินค้าของสมาชิกกลุ่ม

“ ผลิตภัณฑ์จากหมูดำ สามารถใช้ทุกส่วนของตัวหมูให้เกิดประโยชน์มากที่สุดโดยเหลือทิ้งน้อยที่สุด ฉะนั้น ทุกชิ้นส่วนที่เกิดจากหมูดำจะต้องสร้างมูลค่าให้ได้มากที่สุด โดยหวังให้สมาชิกทุกคนมีรายได้ที่เกิดขึ้นจากการแปรรูป ส่วนแผนการตลาดในอนาคตได้มองเป้าหมายใหญ่ที่กรุงเทพฯ แต่ก่อนจะไปถึงตามที่วางไว้ควรจะต้องสร้างมาตรฐานและคุณภาพให้แข็งแรงก่อน” ประธานวิสาหกิจชุมชนหมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน กล่าว

ไส้อั่วหมูดำ

ท่านใดสนใจต้องการหาซื้อผลิตภัณฑ์หมูดำไม่ต้องเสียเวลาไปเพชรบูรณ์เพราะมีบริการส่งให้ถึงบ้านหรือต้องการเป็นตัวแทนจำหน่ายติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการเลี้ยงหมูขุนวิถีธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน โทรศัพท์ (096) 669-5366 / FB : Blackhog phetchabun / Line : 0825031429 หรือ คุณธีรภัทร์ สุดเวหา ประธานวิสาหกิจชุมชนหมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน โทรศัพท์ (096) 669-5366

……………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562