ยอ โนนิ มิใช่ โนเนม ยกย่อง ยก “ยอ” ชะลอวัย ยอดเยี่ยม ยืนยง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia L.

ชื่อวงศ์ Rubiaceae

ชื่อสามัญ Indian Mulberry, Yo-baan

ชื่ออื่นๆ โนนิ โนนู มะตาเสือ (ภาคเหนือ) เมอกาดู (มาลายู) แยใหญ่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) สลักป่า สลักหลวง

ผมถูกนักวิชาการจัดไว้ในประเภทพืชสวน แต่ผมชอบอยู่ตามบ้านเรือนใกล้ครัวผู้คน สนิทกับชาวบ้าน แม่บ้านมากที่สุด เพราะถูกเด็ดใบไปทำ “ห่อหมกใบยอ” เข้าตำรา “หวานเป็นลมขมเป็นยา” ผมเป็นพืชสมุนไพรที่มองเป็นพืชใบใหญ่ ผลไม่สวยไม่น่าจับ เพราะดูเหมือนไข่เป็ดสีเขียวแต่มีตะปุ่มปม ไม่น่าจับต้อง ผลสุกงอมหล่นใต้ต้น เหยียบกันเละเทะ แต่ทำไมผมจึงโด่งดังระดับโลก แม้ชื่อว่าเป็นพืชท้องถิ่นในประเทศไทย แต่ก็มีชื่อตั้งแต่เกาะในมาเลเซีย มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงทวีปอเมริกา

ถ้าเอ่ยถึง “ยอ” คนก็นำผมไปใช้สับสนไปหมด เห็นพูดกันว่าผลยอที่สดทั้งอ่อนและแก่หรือสุกงอม ก็ไม่มีใครกินสดๆ เพราะเฝื่อนและ “ซ่า” แสบลิ้น ปลิ้นปาก แต่เวลาจะว่าใครก็ชอบไปเยาะเย้ยเขาว่าไปกิน “ลูกยอ” เขามาซิ หรือใครที่ได้รับความชื่นชม ก็พูดว่าได้รับคำ “เยินยอ” ผมเองจึงสับสนไปหมดว่าเขาคงจะแยกแยะกันยิบยับจะยืดยาดยืดเยื้อ ก็แยกย้ายไปยินยอมกันเอง

ทีนี้มาพูดถึงตัวจริงของผมว่า “ยอ” นี้มีชื่อแตกต่างกันไปตามถิ่นกำเนิด “ยอ” ที่โด่งดังที่สุดของโลกน่าจะเป็น “ยอโนนิ” ของชาวโพลีนีเซียน ที่ชอบขึ้นตามชายฝั่งมหาสมุทรที่มีแสงแดดจ้า แต่อากาศเย็นมีฝนตกตลอดปี มีความทนทานสูง สามารถขึ้นตามดินเค็ม ดินลาวา ดินทราย หินปูน ยอโนนิ เป็นพืชชนิดเดียวที่มีสารโปเซอโรนิน (proxeronine) สูงสุด ป้องกันต่อต้านโรคภัย มีการใช้เป็นอาหารและยามามากกว่า 2,000 ปี เขาเชื่อว่า “โนนิ” เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า ที่เขาออกไปหากินในทะเล เดินทางระหว่างเกาะต่อเกาะ เขาจะเอาน้ำโนนิ หรือใบสดๆ ติดตัวไปด้วย ต่อมานักวิทยาศาสตร์สาขาเคมีแพทย์และพฤกษศาสตร์ยอมรับว่าเป็นอาหารและยา

“โนนิ” ได้กลายเป็นอาหารเสริมที่รู้จักกันทั่วโลก เริ่มต้นธุรกิจจากชาวอเมริกัน มลรัฐยูท่าห์ สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยผลักดันให้น้ำโนนิ กลายเป็นอุตสาหกรรมอาหารเสริม และกระแสน้ำโนนิก็เข้ามาในประเทศไทย ราวๆ พ.ศ. 2542-2547 ในบ้านเมืองไทยเราก็ผลิตน้ำ “ลูกยอ” เป็นรูปสินค้าโอท็อป ในรูปแบบเครื่องดื่มต่างๆ รวมทั้งผสมน้ำสมุนไพรอื่นๆ อีกมาก เช่น น้ำลูกยอผสมกระชายดำ น้ำหมักชีวภาพลูกยอ

การคั้นน้ำผลยอ หรือยอโนนิ จะต้องทำอย่างปราศจากเชื้อปนเปื้อน ในผลโนนิสุกจะมีกรดออกตาโนอิก (Octanoic acid) ควรหมักในอุณหภูมิต่ำ 16 องศา และไม่ควรนำน้ำโนนิไปต้มเพื่อฆ่าเชื้อโรค เพราะความร้อนจะทำลายสารที่เป็นอาหารและยา จึงควรใช้วิธีการกรองด้วยผ้ากรอง ขนาดความถี่ 1 ไมครอน จะปลอดภัยและได้ประโยชน์ที่สุด

รักผมชอบผมไม่ต้องมา “ยอ” ผม เพราะ “นิคเนม” ผมดังมาก คือ “น้ำโนนิ” ดื่มแล้วทำให้ผิวเต่งตึง สดใส ไร้รอยเหี่ยวย่น ชะลอวัยได้ดีที่สุด แต่หญิงมีครรภ์ไม่ควรดื่มผม…โนดื่มนิ

……………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562