ไปบางปะอิน อย่าลืมแวะซื้อของฝาก ที่ตลาดโก้งโค้ง

ด้านในกว้างขวาง เดินเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสะดวก

ปีนี้วันหยุดต่อเนื่องมีแทบทุกเดือน เลยพอมีโอกาสพาครอบครัวไปพักผ่อนไหว้พระ โดยตั้งใจว่าจะเดินทางแบบวันเดียวเช้ากลับเย็น จึงตกลงล็อกเป้าไปยังจังหวัดที่ตั้งอยู่ขอบตะเข็บติดกับกรุงเทพฯ พอพิจารณาดูแล้วเห็นว่าอยุธยาเหมาะสมที่สุด ทั้งระยะทางและเส้นทาง ที่สำคัญคือเป็นจังหวัดที่มีวัดสำคัญหลายแห่ง

ขากลับผ่านเส้นทางบางปะอินพบป้ายระบุชื่อ “ตลาดโก้งโค้ง บ้านแสงโสม” เห็นว่าน่าสนใจ ทำไมจึงตั้งชื่อแปลก เลยโฉบเข้าไปหาคำตอบสักหน่อย??

ไปไม่ถูกดูแผนที่
ไปไม่ถูกดูแผนที่

“ตลาดโก้งโค้ง” ตั้งอยู่บริเวณบ้านแสงโสม ตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอดีตสถานที่แห่งนี้มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์เนื่องจากเป็นที่ตั้งของด่านขนอน และเป็นสถานที่ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิด ทั้งสินค้าในชุมชนและสินค้าที่มาจากต่างเมือง

ด้วยอากัปกิริยาลักษณะการขายสินค้าของผู้คนในอดีตที่มักนั่งขายกับพื้น ไม่ได้ตั้งวางของสูงเช่นในปัจจุบัน จึงทำให้คนซื้อเลือกของจะต้องโน้มตัวลงเพื่อหยิบของในลักษณะท่าโก้งโค้ง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อตลาดโก้งโค้งนับจากนั้น และความเป็นตลาดกลับต้องหายไปเมื่อคราวเสียกรุงอยุธยาครั้งที่ 2

แต่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้คนกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ตำบลขนอนหลวง ตั้งใจจะรื้อฟื้นตลาดเก่าแก่โบราณแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แล้วจัดหาสถานที่บริเวณบ้านแสงโสม เพื่อจัดสร้างเป็นตลาดโก้งโค้ง บ้านแสงโสม โดยตลาดแห่งนี้มีการจัดสถานที่และบรรยากาศแบบไทยโบราณ

พร้อมทั้งอนุญาตให้พ่อค้า-แม่ค้า ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือต่างพื้นที่นำสินค้าทุกชนิดมาวางขายโดยไม่มีการเก็บค่าเช่าสถานที่ เพียงเพื่อต้องการให้ชาวบ้านนำของกิน ของใช้ ที่ทำขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาวางขายเพื่อสร้างรายได้ แล้วยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จักสิ่งของเหล่านั้นด้วย

คุณนภาพร เวชพฤกษ์พิทักษ์ หรือ คุณกุ้ง โปรโมตด้วยชุดพื้นบ้านแบบไทย
คุณนภาพร เวชพฤกษ์พิทักษ์ หรือ คุณกุ้ง โปรโมตด้วยชุดพื้นบ้านแบบไทย

คุณนภาพร เวชพฤกษ์พิทักษ์ หรือ คุณกุ้ง ผู้ก่อตั้งตลาดโก้งโค้ง บอกเล่าความเป็นมาว่า ความจริงตัวเองทำอาชีพพยาบาลอยู่กรุงเทพฯ แต่ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ จึงได้ลาออกแล้วกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด

แต่พอได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์พบว่า บริเวณสถานที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นด่านขนอนสำหรับเก็บภาษีจากเรือสินค้าที่เข้ามาค้าขายในจังหวัด อีกทั้งยังเป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าด้วย ดังนั้น ด้วยความภาคภูมิใจจึงต้องการรื้อฟื้นความเป็นตลาดโบราณแห่งนี้ขึ้นมาอีก จึงได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคราชการและเอกชน พร้อมกับได้รับความกรุณาจากพี่สาวเพื่อใช้สถานที่บริเวณบ้านแสงโสม จำนวนเนื้อที่ 10 ไร่ เพื่อจัดสร้างตลาดโก้งโค้ง แล้วเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2549

คุณกุ้ง บอกว่า เป็นตลาดที่ริเริ่มโดยเอกชนเท่านั้น จากนั้นมอบให้ชุมชนดูแลจัดการบริหารงานกันเอง แล้วผู้ที่เข้ามาขายในตลาดแห่งนี้ไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ แต่อาจจะต้องมีการช่วยค่าบริหารจัดการ แล้วแต่กำลังทรัพย์ของแต่ละราย ทั้งนี้ เพื่อให้พ่อค้า-แม่ค้านำสินค้าที่มีคุณภาพมาขายในราคาไม่แพง

“ความหลากหลายของสินค้ามีทั้งอุปโภค-บริโภค ทั้งสินค้าเกษตร อาทิ พืช ผัก ผลไม้ในชุมชน แต่ที่โดดเด่นจะเป็นสินค้าประเภทอาหาร คาว หวาน เพราะถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่เป็นวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมของชาวอยุธยา ภายใต้เจตนาเพื่อต้องการฉายภาพให้เห็นถึงความเป็นตลาดโบราณที่มีประวัติความเป็นมาทางประวัติศาสตร์”

ตลาดโก้งโค้ง บ้านแสงโสม มีร้านค้าทั้งหมดราว 100 ร้าน แบ่งเป็นร้านขายอาหาร/ขนม และของใช้อย่างละ 50 เปอร์เซ็นต์ คนที่มาขายของในตลาดแห่งนี้ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นคนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเป็นใคร ที่ไหนก็ได้ เพียงแต่ต้องมีใจเดียวกัน มีการตั้งปณิธานและจุดมุ่งหมายว่าขอให้เป็นคนไทยใจดี มีอัธยาศัยไมตรีที่ดี และต้องขายสินค้าที่มีคุณภาพในราคาไม่แพง

อาหารคาว อาทิ ข้าวขาหมูตุ๋นลำไย ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ส้มตำไก่ย่าง หมูสะเต๊ะ ห่อหมก น้ำพริกลงเรือ ปลาเห็ด หรือทอดมัน รสชาติพื้นบ้าน ก๋วยเตี๋ยวหลอดญวน ปูหลน ปลาร้าทรงเครื่อง เต้าหู้ทอด

ขนมหวาน อาทิ ขนมแป้งจี่ ขนมครกโบราณ ใช้แป้งโม่เอง ขนมกล้วยนาบ ขนมบ้าบิ่น ขนมต้ม ขนมดอกโสน ข้าวต้มลูกโยน ห่อด้วยใบอ้อยที่เดี๋ยวนี้หากินได้ยาก โรตีสายไหม ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน กล้วยเชื่อม มันเชื่อม หน้าตาแบบบ้านๆ กระยาสารท กวนกันใหม่ๆ ตักจากกระทะส่งให้เลย ขนมถ้วย ขนมตาล

เมื่อซื้ออาหาร/ขนม เครื่องดื่มได้เหมาะใจแล้ว มีที่นั่งกินให้เลือกอยู่ 2 บรรยากาศ เป็นแบบนั่งโต๊ะและนั่งพื้น พอกินอิ่มก็ชวนกันเอาจานชามไปเก็บตรงที่เตรียมไว้ ตามป้ายบอกบนโต๊ะ ถือเป็นการช่วยฝึกความเป็นระเบียบด้วย

งานหัตถกรรมพื้นบ้าน
งานหัตถกรรมพื้นบ้าน

ทางด้านท่านที่ต้องการซื้อของฝากก็มีให้เลือกตามแบบพื้นบ้าน อาทิ ปลาแดดเดียว ปลาแห้ง เป็นปลาแบบชาวบ้านทำขาย เครื่องจักสาน หมวก ตะกร้า กระจาด กระบุง ท่อนไม้ฝาง เครื่องดินเผา เตา กระถาง ตุ๊กตาแก้ว ตัวเล็กน่าเอ็นดู ที่ช่างเป่าแก้วมาเป่าให้ดูกันใกล้ๆ เครื่องประดับผลิตภัณฑ์จากไม้ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การจัดสถานที่และบรรยากาศแบบย้อนยุค ตลอดจนใบหน้าอันเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มจากชาวบ้านที่นำของมาขาย ถือเป็นเสน่ห์สร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้ามาเที่ยวและเลือกซื้อสินค้า นอกจากนั้น ภายในบริเวณตลาดยังแบ่งเป็นโซนอาหารและของใช้แยกเป็นสัดส่วน สร้างความสะดวกแก่การเดินช็อป จึงทำให้มีผู้คนต่างหลั่งไหลเดินทางมาซื้อของในตลาดแห่งนี้ตกราวพันกว่าคนต่อวันในช่วงเทศกาลวันหยุด

รูปปั้นตา-ยาย เพื่อสรงน้ำในวันสงกรานต์
รูปปั้นตา-ยาย เพื่อสรงน้ำในวันสงกรานต์

ไม่เพียงแค่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของชาวบ้านในบรรยากาศย้อนยุค แต่ตลาดโก้งโค้ง บ้านแสงโสม ยังเปิดบริการห้องอบรม/สัมมนาให้หมู่คณะต่างๆ รวมถึงยังฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยด้วยการรับจัดพิธีมงคลสมรสแนวไทยเดิมในราคาประหยัด

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากในบริเวณโดยรอบจังหวัดพระนครศรีอยุธยาล้วนเป็นที่ตั้งโรงงานทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ และพนักงานที่ทำงานล้วนมาจากต่างถิ่นแล้วมาพบรักกัน ดังนั้น หากต้องการจัดงานแต่งงานของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคงเป็นที่ลำบากใจของญาติทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้จึงสรุปว่าแต่งที่อยุธยาเลย เพื่อนๆ และญาติต่างก็เดินทางมางานได้สะดวกเพราะมีสถานที่พักและอาหารไว้บริการในราคาถูกมาก

“อยากให้ช่วยกันสนับสนุน ชาวบ้านที่มีความตั้งใจผลิตสินค้าเพื่อนำมาขายแก่ผู้มาท่องเที่ยว ด้วยการเชิญชวนท่านผู้อ่านมาเที่ยวตลาดแห่งนี้กันมากๆ จะได้เป็นกำลังใจให้แก่คนขายที่เป็นชาวบ้าน เพราะไม่เพียงท่านจะได้ซื้อสินค้าในราคาถูกและเป็นสินค้าคุณภาพจากฝีมือของชาวบ้านแท้จริง แถมท่านยังมีส่วนร่วมในการช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม เพราะ “แค่แวะมาเยี่ยมชม เราก็แอบนิยมอยู่ในใจ”” คุณกุ้ง กล่าวเชิญชวน

ตลาดโก้งโค้ง ตั้งอยู่บ้านแสงโสม หมู่ที่ 5 ถนนบางปะอิน-วัดพนัญเชิง ตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ 089) 107-8443, (089) 925-1174, (035) 728-286 เปิดบริการตั้งแต่วันพฤหัสบดี-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. หรือเข้าไปดูบรรยากาศก่อนได้ที่ www.talardkongkhong.com

 

ข้อมูลสำหรับการเดินทางด้วยรถ

 

ตลาดโก้งโค้ง ตั้งอยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 3477 ถนนบางปะอิน-วัดพนัญเชิง ขับตรงเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ตลาดอยู่ฝั่งขวามือ มีที่จอดอย่างสะดวกสบาย