7 ขั้นตอน ต่อสู้เบาหวาน ลด A1C อย่างไร

มะระที่นิยมของผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาดคือ มะระจีน เพราะมีรสชาติดี (ไม่ขมมาก) เนื้อหนา ผลใหญ่

ในฐานะคนเป็นเบาหวานมานาน นอกจากจะทำตัวเป็นผู้ป่วยที่ดี ฉันยาตามแพทย์สั่งอย่างจริงจังแล้ว ยังศึกษาหาความรู้ด้านอาหาร และผลไม้ตามตำราหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ อยู่เสมอ เท่าที่ทดลองมา ขอฟันธงเป็นประการแรกก่อนว่า ไม่มียาขนานใดในโลกนี้ ที่จะรักษาเบาหวานให้หายขาดได้ ไม่ว่าจะเป็นยาในท้องตลาดหรือยาสมุนไพรหรืออาหารใดก็ตาม ทำได้ดีที่สุด คือ ทำได้เพียงลดระดับน้ำตาลชั่วคราวเท่านั้น แต่ที่จะรักษาให้หายขาดนั้นไม่มี

เมื่อก่อนเคยเถียงแพทย์ที่พูดว่า เบาหวาน รักษาไม่หายเหมือนกัน บางทีที่ผู้ป่วยเบาหวานรู้สึกว่า เบาหวานหายได้ เพราะนานๆ เจาะเลือดครั้งหนึ่ง บังเอิญพบว่าน้ำตาลต่ำกว่ากำหนด จึงทึกทักเอาว่า เบาหวานหายแล้ว แต่นานไปพอเบาหวานแผลงฤทธิ์ก็ทำอะไรไม่ทัน สายเกินแก้เสียแล้ว ชาวเบาหวานจึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท หากอยู่ในเงื่อนไขที่เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเส้นเลือดได้ ควรทำเป็นประจำ อย่าปล่อยให้เนิ่นนาน เช่น วัดระดับน้ำตาล ปีละ 2 ครั้ง จะน้อยไป ควรให้ถี่กว่านั้น พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเครื่องมือพร้อมวัดได้ทุกวันจะเป็นการดี จะได้วางแผน ทั้งการรับประทานอาหาร ยา และการออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี

 

ฤทธิ์ของเบาหวาน เป็นอย่างไร

ท่านที่เป็นเบาหวานแล้วจะทราบดีว่า เวลาที่ท่านไปหาแพทย์ เวลาแพทย์ตรวจแล้ว จะสั่งยามาเป็นชุดคือ ยาลดน้ำตาลในเส้นเลือด ยาลดความดัน และยาลดไขมัน ไม่ค่อยจะมีโรคเดี่ยว เช่น มีเบาหวานแต่ไม่มีความดันโลหิตสูง แต่คนเป็นความดันโลหิตสูงและไขมันในเส้นเลือดสูงมีจำนวนมาก

เมื่อเบาหวานเป็นผู้นำ ไขมันสูง และความดันโลหิตสูง จึงเป็นบริวารที่ซื่อสัตย์ ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เป็นกระบวนการ

อิทัปปัจจยตา คือ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น โรคแทรกซ้อนต่างๆ จะค่อยๆ ตามมา

โรคแทรกซ้อนที่ติดตามสามเกลอ (เบาหวาน ไขมันสูง และความดันโลหิตสูง) นี้มาอย่างน้อย 3 โรค คือ โรคหัวใจ โรคไต และโรคตา ทั้ง 3 โรคนี้ มีเบาหวาน เป็นต้นทางที่มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ เช่น พอเป็นโรคสามเกลอ (เบาหวาน ไขมันสูง และความดันโลหิตสูง) แล้ว จะต้องรับประทานยามาก เมื่อรับประทานยามากๆ จะเกิดอาการใหม่คือ ดื้อยา เมื่อดื้อยา แพทย์จะสั่งเพิ่มปริมาณยา ให้มากขึ้นๆ เพื่อจะลดความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง และน้ำตาลในเส้นเลือดสูง เมื่อรับประทานยามากๆ โรคไตก็จะตามมา หากไม่ระวังรักษาให้ดี ต่อมาต้องฟอกไตแบบถาวร เมื่อเครื่องกรองอยู่ในสภาพที่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ โรคอื่นๆ จะพากันตามมาโดยมิได้นัดหมาย เพราะมีเหตุปัจจัยให้เป็นอย่างนั้น

ส่วน โรคตา เช่น ต้อกระจก และต้อลม เป็นผลจากน้ำตาลในเส้นเลือดสูงโดยตรง เรียกขานกันในหมู่ชาวเบาหวานว่า น้ำตาลขึ้นตา เวลาไปหาจักษุแพทย์ ต้องมีข้อมูลน้ำตาลด้วยเสมอ บางรายที่จะผ่าตัดต้อกระจก จักษุแพทย์ต้องตรวจน้ำตาลในเส้นเลือดอย่างเคร่งครัด ถ้าพบว่า น้ำตาลสูงมาก จะต้องรอให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงก่อน โดยเฉพาะ A1C ต้องอยู่ระหว่าง 6-7 ถ้ามากกว่านั้นแพทย์จะแนะนำให้ลดระดับน้ำตาลให้ต่ำ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ต้นปี 2559 อาตมาไปผ่าตัดต้อกระจกตาด้านซ้าย วัด A1C ได้ 7.1 คุณหมอค่อนข้างกังวล แนะนำให้ลด A1C ให้ต่ำกว่านี้

จากการแนะนำของคุณหมอในวันนั้น จึงตั้งหน้าตั้งตา ลด A1C เรื่อยมา จนกระทั่งลดลงมาที่ 6.9, 6.4, และเพิ่งได้รับผลการตรวจ A1C ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ที่ผ่าน ลดลงมาอยู่ที่ 6.0

ถ้าจักษุแพทย์ที่ผ่าตัดทราบคงจะดีใจไม่น้อย ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำ จน A1C เข้าสู่สภาวะที่ดีขึ้น จะต้องเดินหน้าต่อให้ถึงเป้า อย่างน้อย 5.5 สักครั้งหนึ่ง ซึ่งเคยทำมาได้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่พอตามใจปากมาก A1C เคยกลับมาสูงถึง 9 อีก

ส่วน โรคหัวใจ ก็จะตามมายามที่ไขมันในเส้นเลือดสูง ก่อให้เกิดตะกรันไขมันในหลอดเลือด ทำให้ช่องทางเดินเลือดตีบแคบลง น้ำตาลสูงเป็นเหตุให้หลอดเลือดแข็ง ความดันโลหิตสูง ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวและแข็ง ปรากฏการณ์เช่นนี้ ล้วนเป็นเหตุปัจจัยของโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง (จากหนังสือ ฉันอย่างไร หัวใจแข็งแรง : คู่มือฉันอาหารสำหรับพระสงฆ์)

จะต่อสู้เบาหวาน ลด A1C อย่างไร

ขอเล่าประสบการณ์ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับวิชาการมากนัก แต่ได้ทดลองและจดจำไว้

  1. งดรับประทานอาหารแป้งทุกชนิด หากจะรับประทานบ้าง ต้องปริมาณน้อยที่สุด เท่าที่จะน้อยได้ เช่น รับประทานข้าวกล้องหรือข้าวขาว แต่ไม่เกิน 2 ช้อน ไม่พูน
  2. ผลไม้รสหวาน ต้องทดลองเป็นชนิดไป ไม่ถึงกับงดเด็ดขาด พยายามทดลองดูว่า เมื่อรับประทานผ่านไปแล้ว จะมีปฏิกิริยาอย่างไร ระดับน้ำตาลขึ้นลงแค่ไหน ถ้าขึ้นไม่มากนักก็รับประทานต่อไป ถ้าขึ้นมากไป ควรหยุด อาตมาเคยทดลองฉันสับปะรดหลายครั้ง ปรากฏว่า หลังจากฉันแล้วระดับน้ำตาลขึ้นทุกครั้ง ก็ต้องหยุด หรือหากทนรบเร้าจากความอยากลิ้มลองไม่ได้ ก็รับประทานสักชิ้นหรือสองชิ้นพอรู้รสแล้วหยุดเลย
  3. ผักชนิดต่างๆ ส่วนมากรับประทานแล้วระดับน้ำตาลไม่ขึ้น ก็รับประทานต่อไป ถ้ารับประทานได้มากจนบรรเทาความหิวได้ยิ่งดี รับประทานไปเรื่อยๆ
  4. ลดปริมาณอาหารที่เคยรับประทาน หลีกเลี่ยงอาหารจานโปรดที่จะต้องรับประทานมากๆ บางคราวบรรเทาความติดในรสชาติไม่ได้ ก็จะปล่อยใจปล่อยปากรับประทานเพลินไป จงตระหนักเสมอว่า เวลารับประทานอร่อยมาก แต่เวลาระดับน้ำตาลขึ้นไปแล้วลดลงยากมาก จึงควรเจริญสติให้เข้มแข็ง
  5. พึงหลีกเลี่ยง งดเว้นขนมที่ปรุงด้วยน้ำตาลมากๆ เช่น กะทิทุเรียน ข้าวเหนียวสังขยา ตะโก้ ขนมเค้ก เป็นต้น ขนมเหล่านี้มีน้ำตาลในแป้งมากอยู่แล้ว ยังมีน้ำตาลจากน้ำตาลโดยตรงอีก จึงนำน้ำตาลสองเท่าเข้าสู่ร่างกาย
  6. ดื่มสมุนไพรเสริมเพื่อช่วยส่งเสริมยาให้ทำงานมีประสิทธิภาพ เช่น ดื่มน้ำพุทรา กระเจี๊ยบ น้ำมะรุม น้ำตะไคร้ น้ำใบเตย หัวไชเท้าแกงจืด เป็นต้น เคยทดลองมาแม้จะไม่ลดน้ำตาลได้เด็ดขาดชัดเจนแต่มีส่วนช่วย
  7. ผักอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยยาลดระดับน้ำตาลได้ชัดเจนคือ มะระ ไม่ว่าจะเป็นมะระขี้นกหรือพันธุ์ใดๆ ก็ได้ นำมาปั่นผสมน้ำพอสมควร เช่น มะระ 1 ผล ผสมน้ำครึ่งแก้วปั่นให้ละเอียดแล้วดื่ม ไม่ต้องถามนะ ว่า ขมสักเพียงใด ขมแน่นอนอยู่แล้ว เมื่อดื่มแล้วรอสัก 3 ชั่วโมง เจาะเลือดดู ค่าของน้ำตาลในกระแสเลือดจะลดระดับลง หรือวันใด ปล่อยปากเพลินไปหน่อย รับประทานผลไม้หวานหรือของหวานอื่นเข้าไปในปริมาณที่น่าวิตก รีบปั่นน้ำมะระรับประทานทันที ไม่นาน ระดับน้ำตาลจะลงมาอยู่ในระดับต่ำ เช่น มีอาสาสมัครคนหนึ่งไปเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาล อยู่ที่ 249 เมื่อเวลา 11.00 น. จึงแนะนำให้ปั่นมะระผลใหญ่ผลหนึ่งดื่มเข้าไป จากนั้น เวลา 15.00 น. กลับมาเจาะเลือดอีกครั้งหนึ่งระดับน้ำตาลลดลงที่ 77 เป็นการแสดงผลที่มีนัยสำคัญ

ใครอ่านบทความนี้แล้วข้องใจว่า ที่เขียนมาจริงหรือเปล่า ก็ทดลองปั่นดื่มเลย จะออกผลตามความเป็นจริง ที่เขียนมานี้ห้ามเชื่อเด็ดขาด ต้องทดลองดูสักสัปดาห์ ถ้าได้ผลดีทำต่อไป ถ้าไม่ได้ผลหยุดทันที

ตกลงว่า ชีวิตชาวเบาหวาน มีแต่เรื่องเศร้า ถ้ารักที่จะดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากเบาหวาน หรืออยู่กับเบาหวานได้นานๆ ต้องงดเว้นความหวานที่มีทั้งในอาหารและของหวานอย่างจริงจัง ของที่พอจะกินได้ก็มีแต่จืดชืดหรือไม่ก็ขมปี๋ ไม่มีอาหารหรือขนมหวานอร่อยแก้เบาหวานอยู่บนโลกใบนี้เลย การจะอยู่กับเบาหวานได้นานโดยมันไม่คร่าชีวิตเราไปก่อน ต้องบริหารจัดการ การรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และอาหารให้ดี ด้วยการค้นหาความจริงที่ปรากฏขึ้นแล้วบันทึกหรือจำไว้ แล้วนำไปปฏิบัติบ่อยๆ จนเกิดผลยับยั้งการลุกลามของเบาหวานไปได้ อาตมาสู้มาร่วม 20 ปี จะสู้ต่อไป

ในฐานะผู้ป่วยด้วยกันขอแบ่งปันประสบการณ์และให้กำลังใจแก่กัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จกับการอยู่กับเบาหวานโดยไม่เกิดโรคแทรกซ้อนใดๆ มาเบียดเบียนก่อนเวลาอันสมควร ขออายุ วรรณะ สุขะและพละ จงมีแด่ท่านผู้อ่านทั้งที่เป็นเบาหวานและไม่มีโรคภัยเบียดเบียนทุกท่านทุกคนเทอญ