ครม. อนุมัติ 2.9 พันล้าน ช่วยเกษตรกรปลูกพืชหลังนา 600 บาท/ไร่

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 2,922 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกร ตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 รายละ 600 บาท ไม่เกิน 15 ไร่/ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 4.87 ล้านไร่ และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าธรรมเนียมโอนเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 2.27 ล้านบาท และงบบริหารโครงการฯ วงเงิน 8.15 ล้านบาท ซึ่งจะใช้งบของกรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์โครงการฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าสูบน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องสูบน้ำ และการบริหารจัดการศัตรูพืชสูงกว่าฤดูกาลปกติ โดยเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นๆ ในนา เช่น พืชไร่ พืชผัก พืชใช้น้ำน้อย ยกเว้นอ้อยและสับปะรด

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบช่วยเหลือตามโครงการฯ ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี ที่ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ระหว่าง 1 พ.ย. 2561-31 มี.ค. 2562 ต้องลงทะเบียนภายในวันที่ 31 พ.ค. 2562, พื้นที่นอกเหนือจากพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง และภาคใต้ ทำการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ระหว่าง 1 พ.ย. 2561-31 มี.ค. 2562 ต้องลงทะเบียนภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2562 และพื้นที่ภาคใต้ ทำการเพาะปลูก 1 มี.ค.-15 มิ.ย. 2562 และต้องลงทะเบียนภายในวันที่ 15 ส.ค. 2562

“กระทรวงเกษตรฯ ได้ของบประมาณ 7,433.11 บาท เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกร ครอบคลุมไปถึงชาวนาที่ทำนาปรัง แต่ด้วยสถานการณ์ที่ขณะนี้น้ำแล้ง ไม่สอดคล้องกับการบริหารจัดการ สำนักงบประมาณจึงมีการท้วงติงว่า ขณะนี้ผลผลิตข้าวในระบบก็เกินความต้องการอยู่แล้ว และที่สำคัญชาวนาได้รับการช่วยเหลือในเรื่องของค่าครองชีพไปแล้วเมื่อการทำนาปี จึงได้ตัดงบประมาณในส่วนการช่วยเหลือชาวนาออกไป กว่า 4.4 พันล้านบาท”

นายณัฐพร กล่าวว่า ฤดูแล้งหลังนาปี 2561/62 กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยได้กำหนดแผนการเพาะปลูกที่เป็นพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชฤดูแล้งได้ จำนวน 16.08 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 11.21 ล้านไร่ และพืชไร่ พืชผัก จำนวน 4.87 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ปลูกพืชหลังฤดูกาลทำนาดังกล่าว เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าสูบน้ำ ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องสูบน้ำ

และการบริหารจัดการศัตรูพืชสูงกว่าฤดูกาลปกติ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ กระทรวงเกษตรฯ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีการเสริมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 ให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และเป็นการลดภาระค่าครองชีพควบคู่ไปกับการสร้างความ เข้มแข็งให้กับเกษตรกรให้สามารถรักษาศักยภาพการผลิตให้ต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเยียวยาความเดือดร้อนดังกล่าว ที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรมีความมั่นคงเข้มแข็งในการประกอบอาชีพต่อไป