เวียดนามคิด “หลอดหญ้า” ใช้แทนหลอดพลาสติก เก็บได้นานสูงสุด 6 เดือน!

ในแต่ละปีขยะพลาสติกจากทั่วโลกมากกว่า 8 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทร ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็น “หลอดพลาสติก” ที่เราใช้กันทุกวัน เฉพาะที่สหรัฐฯ นั้นมีการใช้หลอดราว 500 ล้านหลอดต่อวัน ลองคิดดูว่าถ้าเป็นทั้งโลกจะขนาดไหน

ทั้งนี้ วัตถุดิบสำคัญที่ใช้สำหรับการผลิตพลาสติก คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ โดยในกระบวนการผลิตพลาสติกปัจจุบันนั้นมีการพัฒนาให้พลาสติกนั้นสามารถย่อยสลายได้ง่ายขึ้นด้วยการเติมสารเร่งปฏิกิริยาที่มักเป็นสารโลหะ และในการผลิตทั่วไปมักมีสารเร่งปฏิกิริยาเหลือค้างอยู่ในพลาสติกเสมอ

หากเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เมื่อถูกย่อยสลายแล้วจะมีการปล่อยสารเร่งปฏิกิริยาที่เหลืออยู่ออกสู่สิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำใต้ดินและบนดิน ซึ่งสารบางชนิดอาจมีความเป็นพิษต่อมนุษย์และระบบนิเวศได้ เช่น ตะกั่ว พลวง และแคดเมียม ซึ่งสารพิษเหล่านี้กว่าจะย่อยสลายได้ก็ใช้เวลาหลายร้อยปีเลยทีเดียว

Photo by RODRIGO BUENDIA / AFP)

ปัจจุบัน ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น Tran Minh Tien ชาวเวียดนาม เป็นหนึ่งในนั้น โดยเขาที่คิดค้น “หลอดจากหญ้า” ที่ชื่อว่า Lepironia articulata เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่ชอบขึ้นในบริเวณน้ำขังตามริมแม่น้ำหรือทะเลสาบที่เป็นดินโคลน ลักษณะเดียวกับ “กระจูด” ซึ่งพบมากทางภาคใต้และภาคตะวันออกขอประเทศไทย โดยในบ้านเรานั้นมักนำไปทำผลิตภัณฑ์อย่างเสื่อ กระเป๋า กระบุง พัด เป็นต้น

ลักษณะของหญ้านี้ลำต้นกลม ด้านในกลวงเป็นโพรงตรงกลาง ลำต้นสูงประมาณ 1.5-2 เมตร โดยหลอดที่ Tran Minh Tien ผลิตนั้นมี 2 แบบ คือแบบสด และแบบแห้ง โดยหลอดหญ้าแบบสด นั้นสามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นได้นานกว่า 2 สัปดาห์ และเก็นในอุณหภูมิห้องได้ 1 สัปดาห์ ส่วนหลอดหญ้าแบบแห้ง ซึ่งได้จากการนำไปตากราว 2-3 วัน จากนั้นนำไปอบ สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิห้องนานสูงสุดถึง 6 เดือน

โดยทั้งหมดนั้นมีวางจำหน่ายจริงที่เวียดนาม ภายใต้ชื่อบริษัท Ong Hut หลอดหญ้าแบบสดนั้นราคา 2.6 เซนต์ หรือประมาณ 0.83 บาท ส่วนหลอดแบบแห้งนั้นราคา 4.3 เซนต์ หรือประมาณ 1.37 บาท เรียกว่าได้ประโยชน์เรื่องรักษาสิ่งแวดล้อม แล้วยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับหญ้าธรรมดาๆ อีกด้วย