“กฤษฎา” ย้ำปลัดเกษตรฯ-สศก. เช็คข้อมูลให้ตรงกัน-อย่าวิเคราะห์ตัวเลขลอยๆ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการปลัดกระทรวงเกษตรฯ และเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลหรือคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตรหรือเผยแพร่เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขทางการเกษตรที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจหรือปริมาณผลผลิตและราคาผลผลิต ขอให้คำนึงถึงความแม่นยำของข้อมูลชนิด ประเภทการทำเกษตรกรรมแต่ละชนิด จำนวนพื้นที่เกษตรกรรมหรือจำนวนเกษตรกร ครอบครัวเกษตรกรต่างๆ ต้องเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง โดยให้ตรวจสอบก่อนว่ามีที่มาอย่างไร

ประการสำคัญหากเป็นข้อมูลหรือสถิติที่หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ รวบรวมไว้ต้องสอบทานให้เป็นข้อมูลเดียวกัน เพื่อไม่ให้ผู้รับข่าวสารหรือรับรายงานไม่เชื่อถือหรือก่อให้เกิดความสับสน และกล่าวหาว่าหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ บกพร่อง เพราะเป็นหน่วยราชการสังกัดเดียว ตัวเลขยังไม่ตรงกัน เป็นต้น ข้อมูลที่แม่นยำมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ และองค์กรต่างๆ

กฤษฎา บุญราช

รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวว่า กรณีวิเคราะห์ข้อมูลหรือคาดการณ์ว่าราคาผลผลิตหรือสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรในปัจจุบันและอนาคต เช่น จะเกิดภาวะขาดแคลน ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ สินค้าล้นตลาดหรือตลาดต้องการสินค้าเกษตรใด ให้ สศก. ระบุด้วยว่าทำอย่างไรกับการคาดการณ์หรือข้อมูลดังกล่าว ได้แก่ มีข้อเสนออย่างไรต่อหน่วยปฏิบัติใช้ส่งเสริมการผลิต หรือหน่วยที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาแล้ว ไม่ควรรายงานหรือวิเคราะห์ออกมาลอยๆ แล้วไม่แจ้งผู้เกี่ยวข้องให้รับไปดำเนินการ

“ต้องวางระบบข้อมูลภาคเกษตรทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ ที่สำคัญคือ ต้องรู้จำนวนพื้นที่ทำการเกษตรแต่ละชนิด ในทุกฤดูกาล โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ยาง ปาล์มน้ำมัน ยังเป็นปัญหาอย่างทุกวันนี้ ที่หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ยังมีข้อมูลไม่ตรงกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีถามย้ำในที่ประชุม ครม. เรื่องตัวเลขที่ไม่ตรงกันจะยึดของหน่วยงานใด

จากนี้ สศก. และหน่วยงานเกี่ยวข้องเมื่อประเมินสภาวะการผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากเกิดภาวะภัยแล้งต้องตอบได้ว่า ฤดูกาลถัดไปเกษตรกรไทย ไม่ควรปลูกอะไร และต้องทำเกษตรกรรมใดที่ตลาดต้องการด้วย รวมทั้งประสานกับหน่วยงานทั้งระดับพื้นที่เพื่อสนับสนุนเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ปรับเปลี่ยนทำเกษตร จะทำให้เกษตรกรมีศักยภาพในการแข่งขันของตลาดและรู้เท่าทันสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาการจัดการผลผลิตภาคเกษตรไม่สามารถทำแผนระยะยาวและวางรากฐานภาคเกษตรได้ สาเหตุหนึ่งมาจากขาดข้อมูลไม่แม่นยำ แล้วต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเท่านั้น” นายกฤษฎา กล่าว