วิทยาลัยเภสัชฯ ม.รังสิต ค้นพบสารจากกัญชายับยั้งเซลล์มะเร็งปอด

เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีหาวิทยาลัยรังสิต แถลงข่าวผลงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา จำนวน 4 นวัตกรรม ว่า ม.รังสิต เริ่มคิดนอกกรอบด้วยการวิจัยกัญชามาตั้งแต่ 3 ปีก่อน ตั้งแต่คนยังมองไม่เห็นคุณค่าและประโยชน์ และยังไม่รู้ว่าจะปลดล็อกมาใช้ทางการแพทย์ได้หรือไม่ ซึ่งเรามีนักวิจัยที่มีคุณภาพเกือบ 40 คน โดยเป็นดอกเตอร์กว่า 30 คน ยังมีเครื่องมือที่ทันสมัย ไม่ใช่แค่หม้อต้มหม้อเคี่ยว แต่ลงทุนทั้งหมดเกือบ 40 ล้านบาท และความก้าวหน้างานวิจัยก็มาถึงขั้นที่สกัดสารที่ไม่เคยมีมาก่อน และสามารถผลิตยาได้หลายตำรับและอนาคตก็จะผลิตอีกหลายตำรับ

ล่าสุด ผลวิจัยในหนูทดลองมีผลรักษามะเร็ง โดยการฉีดสารมะเร็งในหนู และฉีดยากัญชาเข้าไปรักษามะเร็งหายแล้วในเชิงประจักษ์ ซึ่งมะเร็งถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยสูงสุด อย่างไรก็ตาม จะต้องพัฒนาต่อไปถึงในคน ซึ่งก็มีความพร้อมในการวิจัยในคนได้แล้ว

“เรามีคณะแพทยศาสตร์ และมีโรงพยาบาลในเครือของเรา ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ซึ่งขณะนี้ได้มีการประสานติดต่อทั้ง รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตนราชธานี ที่จะทดลองยากัญชารักษามะเร็งได้ ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่ง” นายอาทิตย์ กล่าว

และว่า เรื่องกัญชาทางการแพทย์ อยากให้รัฐบาล สนช. และข้าราชการที่มีอำนาจ ทำอะไรเพื่อประชาชนคนไทย อย่ามาทำเพื่อผูกขาดผลประโยชน์เฉพาะตัวหรือเอื้อนายทุน เราต้องการการปฏิวัติเรื่องนี้ทุกด้าน” นายอาทิตย์ กล่าว

ผศ.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ม.รังสิต ผู้วิจัยการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดมนุษย์ของสารจากกัญชาในหนูทดลอง กล่าวว่า โรคมะเร็งปอด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทีมวิจัยสามารถแยกสารบริสุทธิ์ของกัญชาออกมาได้ ทั้ง ทีเอชซี ซีบีดี และ ซีบีเอ็น ซึ่ง ซีบีเอ็น เกิดจากการเสื่อมสลายของ ทีเอชซี จากปฏิกิริยาออกซิเดชัน

โครงการวิจัยจึงนำสารทั้ง 3 ชนิด มาทดสอบ โดยเริ่มจากทดลองเซลล์มะเร็งปอดมนุษย์ในหลอดทดลอง พบว่า สาร ซีบีดี ทำให้ลักษณะของเซลล์มะเร็งเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่จำนวนลดลง แต่สาร ทีเอชซี และ ซีบีเอ็น ทำให้เซลล์มะเร็งตาย ถือว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์ในระดับหนึ่ง

ผศ. ภญ.สุรางค์ กล่าวว่า จากนั้นจึงใช้สาร 3 ชนิด ที่มีความเข้มข้นต่างๆ และวัดอัตราการรอดชีวิตของเซลล์มะเร็ง โดยพบว่า ความเข้มข้นสูงสุดของสาร ทีเอชซี และ ซีบีเอ็น เซลล์มะเร็งรอดเพียง ร้อยละ 20-30 คือ เซลล์ส่วนใหญ่ตาย ส่วนสาร ซีบีดี อัตรารอดชีวิตเซลล์มะเร็งสูง ร้อยละ 75 เรียกว่าเซลล์ยังรอดเยอะ ไม่ค่อยเป็นพิษต่อเซลล์

ดังนั้น จึงนำเฉพาะสาร ทีเอชซี และ ซีบีเอ็น ไปศึกษาต่อในหนูทดลอง โดยปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งปอดมนุษย์ในหนูทดลอง เลี้ยงหนู 2-3 สัปดาห์ จึงเกิดก้อนขึ้นในตัวหนู ซึ่งตรวจยืนยันแล้วว่า เป็นมะเร็งจริง และแบ่งหนูที่ฉีดมะเร็งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม ให้รับน้ำเกลือ กลุ่มรับ ทีเอชซี และกลุ่มรับ ซีบีเอ็น โดยฉีดให้ทุกวัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์

“ผลวิจัยพบว่า ช่วงสัปดาห์แรกขนาดก้อนมะเร็งแต่ละกลุ่มไม่ต่างกันมากนัก แต่ช่วงสัปดาห์ที่สอง กลุ่มที่ไม่ได้รับสาร ก้อนมะเร็งโตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกลุ่มรับ ทีเอชซี และ ซีบีเอ็น ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง โดยผลไม่ต่างกันมากระหว่างสาร ทีเอชซี 3 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับ ซีบีเอ็น 8 มิลลิกรัม ทั้งนี้ กัญชาที่วิจัยเราได้รับมาจากของกลางของ ป.ป.ส. เรียกว่า การวิจัยนี้สาร ทีเอชซี และ ซีบีเอ็น ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้” ผศ. ภญ.สุรางค์ กล่าว

ภก. เชาวลิต มณฑล ผู้วิจัยยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา กล่าวว่า สารสำคัญของกัญชาสามารถดูดซึมทางช่องปากโดยไม่ต้องรับประทาน จะเห็นว่าน้ำมันกัญชาที่ใช้ในใต้ดินก็เป็นแบบใช้หยดใต้ลิ้น จึงต้องการพัฒนายาเม็ดที่ส่งสารสำคัญทางเยื่อบุช่องปากได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ยาจะต้องแตกตัวได้อย่างรวดเร็ว จึงจะดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็ว ดังนั้น การพัฒนายาจึงนึกถึงขนมเวเฟอร์ที่เป็นชั้นๆ และหักง่าย จึงพัฒนายาเม็ดให้มีความเปราะ มีรูพรุนคล้ายฟองน้ำ จึงดูดซึมน้ำได้เร็ว ยาแตกตัวได้อย่างรวดเร็ว

ผศ. ภญ.สุชาดา จงรุ่งเรืองโชค ผู้วิจัยผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาที่ควบคุมคุณภาพมาตรฐานระดับสากล กล่าวว่า การควบคุมมาตรฐานน้ำมันกัญชา ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประเทศไทย กัญชายังเป็นสารเสพติดประเภท 5 ผู้ป่วยมีการลักลอบซื้อหรือใช้น้ำมันกัญชา ส่งผลให้น้ำมันกัญชามีราคาแพง ส่วนใหญ่ที่ใช้ไม่มีการผ่านมาตรฐาน

ทีมผู้วิจัยจึงได้วิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิด คือ ทีเอชซี ซีบีดี และ ซีบีเอ็น ในน้ำมันกัญชาที่สกัดได้ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณที่ถูกต้องแน่นอน เพื่อประสิทธิผลในการรักษา ความปลอดภัยของผู้ป่วย และได้ทำการศึกษาความคงสภาพของน้ำมันกัญชาที่ผลิตได้อีกด้วย นอกจากนี้ กัญชาเป็นพืชที่สามารถดูดซับโลหะหนักได้ดี ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบหาปริมาณสารปนเปื้อนและปริมาณโลหะหนัก รวมถึงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาคือจะต้องไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Staphylococcus aureus ต่อน้ำมันกัญชา 1 กรัม เชื้อจุลินทรีย์ชนิด Clostridium spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม และเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Salmonella spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม