ที่มา | มติชน |
---|---|
เผยแพร่ |
ประธาน.ชมรมคนปลูกปาล์มน้ำมัน กระบี่ ระบุ รัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำหนักสุด ในรอบ 20 ปี มาตรการช่วยเหลือที่ออกมา ล้วนแต่เอื้อผลประโยชน์ เอกชน ไม่ถึงชาวสวน
นายชโยดม สุวรรณรัตนะ ประธานชมรมคนปลูกปาล์มน้ำมัน จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า แม้ว่า มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมากเพื่อแก้ปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มในขณะนี้ แนวทางการปรับสมดุลน้ำมันปาล์ม โดยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 160,000 ตัน นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และการส่งเสริมนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตไบโอดีเซลและสนับสนุนใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 โดยมีเป้าหมาย 15 ล้านลิตร/วัน หรือ 600,000 ตัน/ปี แต่ไม่ทำให้ราคา ปาล์มน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ราคาอยู่กิโลกรัมละ ไม่ถึง 2 บาท
เนื่องจากรัฐบาล กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมัน กนป. ไม่จริงใจแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ ตั้งแต่มีมาตรการช่วยเหลือออกมา ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำต่อเนื่อง จากขณะนั้นราคา อยู่ที่ 2.70-2.80 บาทต่อ กิโลกรัม ล่าสุดขณะนี้ เหลือราคา 1.90-2.20 บาท เท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ตกต่ำ ที่สุดในรอบ 20 ปี และต่อเนื่องตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันเป็นอย่างมากแสนสาหัส เนื่องจากแต่ละนโยบายจากรัฐบาลที่ออกมา ล้วนแต่เอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนทั้งสิ้น เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันได้รับประโยชน์น้อยมาก เช่น การชดเชยราคา กิโลกรัมละ 3.20 บาท โดยต้องขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร คุณภาพน้ำมันอยู่ที่ 18 % ถึงจะขายได้ กิโลกรัมละ 3.20 บาท หากต่ำกว่า 18% ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.9-2.00 บาท เท่านั้น
เช่น เมื่อเกษตรกรนำผลปาล์มน้ำมันขายให้กับโรงงานที่ร่วมโครงการ จำนวน 3000 กิโลกรัม จะถูกคัดคุณภาพ ได้คุณภาพ 18% เพียง 1,000 กิโลกรัม ที่เหลือได้คุณภาพต่ำกว่า 18% หลังจากนั้น โรงงานสกัด ไปเบิกส่วนต่างเต็มจากจำนวนที่รับซื้อจากเกษตรกร
และโครงการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 160,000 ตัน นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางกลุ่ม จากการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่ร่วมโครงการ โดยซื้อน้ำมันปาล์มดิบที่มีคุณภาพต่ำ มีกรดมากราคาต่ำกว่า 18 บาท แต่ใช้งบประมาณรับซื้อ อยู่ที่กิโลกรัมละ 18 บาท ต้องขนส่งทางเรือเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยมีเพียงเอกชนรายเดียว ที่มีเรือขนส่งน้ำมันปาล์ม และการจัดเก็บสต๊อก โดยมีการส่งมอบน้ำมันปาล์ม 60,000 ตัน
ส่วนที่เหลือต้องผ่านเอกชนรายหนึ่ง จำนวน 100,000 ตัน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคา หลายร้อยล้านบาท และการชดเชยส่วนต่างให้กับเอกชน กรณีนำน้ำมัน บี 20 มาจำหน่าย โดยชดเชยส่วนต่าง ลิตรละ 5 บาท แต่ไม่สามารถตรวจสอบน้ำมันได้ว่ามีการผสมน้ำมันปาล์มในสัดส่วนที่กำหนดไม่เกิน ร้อยละ 20 ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เป็นต้น
นายชโยดม กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ปัญหา ต้องห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศอย่างเด็ดขาด ส่งเสริมสนับสนุนการใช้ นำน้ำมัน บี 20 และบี 100 ที่ผลิตจาก น้ำมันปาล์มดิบ 100% ให้แพร่หลาย เพื่อเป็นการช่วยลดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบในสต๊อก อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้ราคาตกต่ำอย่างนี้ต่อไป เชื่อว่าระบบปาล์มน้ำมันในประเทศไทยจะล่มสลายเหมือนกับ กาแฟ ที่ผ่านมา
ด้าน นายศุภชัย เกิดสุข เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า ชาวสวนปาล์มน้ำมัน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจาก ราคาตกต่ำ อย่างต่อเนื่อง ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นราคาที่ตกต่ำสุดในรอบ 20 ปี ล่าสุดราคา อยู่ที่ 1.80-2.20 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิต ค่าต้นกล้า ค่าปุ๋ย ค่าแรงเก็บเกี่ยว ค่าขนส่ง อยู่ที่กิโลกรัมละ 3.70 บาท เท่ากับว่าขณะนี้ชาวสวนขายปาล์มน้ำมัน ในราคาที่ขาดทุน แต่จำเป็นต้องขาย เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย การแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำของรัฐบาลที่ผ่านมา มองว่าเป็นการแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปแต่ละครั้งเท่านั้น โดยเกษตรกรหลายรายได้โค่นต้นปาล์มทิ้งแล้ว เพื่อเปลี่ยนปลูกพืชอย่างอื่นแทน ทำให้ขณะนี้ มีการลดราคาต้นกล้าปาล์มน้ำมัน บางราย โปรโมชั่น ซื้อ 1 ต้น แถม 1 ต้น กันแล้ว
ด้าน นายอธิราษฎร์ ดำดี ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วย นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานสภาเกษตรกร จ.กระบี่ ในฐานะคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เข้ายื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ โดยเตรียมเสนอข้อเรียกร้องเสนอประธาน ดังนี้
1.ให้กำกับดูแลและออกมาตรการควบคุมให้มีการรับซื้อผลปาล์มอย่างเป็นธรรมตามกลไกตลาด ในระบบสัดส่วนผลประโยชน์ที่เป็นธรรมและยุติธรรมต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน
2.ตรวจสอบขบวนการที่ฉกฉวยโอกาส ค้ากำไร กดราคา หรือบิดเบือนกลไกตลาด เพื่อให้เกิดการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรในระบบสัดส่วนผลประโยชน์ที่เป็นธรรมและยุติธรรม ข้อเรียกร้องดังกล่าวมาจากมติของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มผู้ประกอบการลานเท ที่ได้สะท้อนปัญหามายังคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งยังเลือกใช้การเคลื่อนไหวผ่านกลไกปกติไม่มีการปลุกระดมมวลชนออกมาชุมนุมเรียกร้องแต่อย่างใด