รมว.เกษตรฯ ยัน ‘ข้าวโพดหลังนา’ ขายได้กำไรชัวร์ แจง อ.ภูซาง จ.พะเยา ที่เป็นข่าว ไม่ได้เข้าโครงการ

ตามที่มีสื่อมวลชนบางฉบับลงข่าวว่า เกษตรกรใน อ.ภูซาง จ.พะเยา ไม่สามารถขายข้าวโพดได้ราคาตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศ และอ้างว่ามีนายทุนเป็นผู้กำหนดราคาขายไม่ใช่รัฐบาล ทำให้เกษตรกรขายได้ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และวิสาหกิจชุมชนที่อ้างต้องมารองรับปัญหาด้วยการช่วยซื้อข้าวโพดดังกล่าวนั้น

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดและสหกรณ์จังหวัดพะเยาเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวทันที และพบว่า ในพื้นที่ อ.ภูซาง จ.พะเยา เกษตรกรตามที่ปรากฏในข่าวไม่ได้เป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ และจุดที่เกษตรกรไปจำหน่ายไม่ได้เป็นจุดรับซื้อของสหกรณ์ตามโครงการฯ ที่ได้ทำลงนามความร่วมมือหรือเอ็มโอยูร่วมกันไว้ และพบว่าเกษตรกรที่ ขายให้กับจุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่โครงการฯ กำหนดไว้ ได้แก่ สหกรณ์นิคมเชียงคำ จำกัด โดยมีสหกรณ์การเกษตรบ้านร่องส้าน จำกัด ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน รองรับผลผลิตและส่งจำหน่ายต่อ โดยราคาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการฯ โดยไม่วัดความชื้น จำหน่ายแบบเหมาทั้งฝัก ความชื้นอยู่ที่ประมาณ 30-34 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่พอใจ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.20-5.40 บาท และเกษตรกรในพื้นที่สามารถผลิตได้ 1,200-1,500 กก.ต่อไร่ ทำให้มีรายได้จากการขายข้าวโพดเฉลี่ยไร่ละประมาณ 6,890 บาท ต้นทุนการผลิตต่อไร่ประมาณ 4,550 บาทต่อไร่ เกษตรกรก็ยังมีกำไรจากการผลิตต่อไร่ประมาณ 2,340 บาท

กฤษฎา บุญราช
กฤษฎา บุญราช

นายกฤษฎากล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาใน 37 จังหวัด ซึ่งช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เข้าฤดูเก็บเกี่ยว ย้ำให้เกษตรกรทุกคนที่เข้าร่วมโครงการฯ ขายตามจุดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดไว้ มีสหกรณ์การเกษตรรับซื้ออยู่ทุกอำเภอ และเกษตรกรพิจารณาราคาได้จากหน้าโรงงาน ไม่หลงเชื่อพ่อค้าคนกลางที่มากดราคาขาย เพราะกระทรวงเกษตรฯ พร้อมดูแลเกษตรกรทุกคน แต่เกษตรกรก็ต้องให้ความร่วมมือที่จะไปขายยังจุดที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดไว้ด้วย หรือประสานไปยัง สำนักงานสหกรณ์จังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดที่ใกล้บ้าน เพื่อขอข้อมูลว่าสามารถรับซื้อได้ที่จุดไหนบ้าง ซึ่งได้ประสานงานจุดรับซื้อผลผลิตใกล้กับแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรในโครงการดังกล่าวรวม 294 แห่ง แยกเป็นของสหกรณ์การเกษตร 262 แห่ง และจุดรับซื้อของภาคเอกชน 32 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 386 อำเภอ ใน 37 จังหวัด ทำให้เกษตรกรมีแหล่งขายผลผลิตที่แน่นอนช่วยลดต้นทุนค่าเดินทางให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

“ขอย้ำว่าได้ใช้นโยบายตลาดนำการผลิตและได้ประสานทุกสหกรณ์ ในการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ผลจากการเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรผลิตตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เกษตร สามารถได้ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 1,200-1,500 กก.ต่อไร่ ซึ่งราคาที่โรงงานรับซื้อขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 5.20 บาท ซึ่งเป็นราคารับซื้อทั้งฝัก โดยไม่วัดความชื้น นอกจากนี้ ขอยืนยันว่าจะไม่มีการนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแหล่งผลิตอื่นมาลักลอบจำหน่ายยังจุดสหกรณ์ที่เปิดเป็นจุดจำหน่ายแน่นอน เนื่องจากได้เปิดระบบเว็บ corn service มากำกับการรับซื้อทุกพื้นที่ด้วยแล้ว ยังได้ย้ำให้มีการประกาศจุดรับซื้อของสหกรณ์ แต่ละพื้นที่ให้ทั่วถึง ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงจุดจำหน่ายได้ และขายได้ในราคาที่เกษตรกรพอใจ” นายกฤษฎากล่าว