รู้จัก “โคขาวลำพูน” โคพื้นเมืองใกล้สูญพันธุ์ สู่ “พระโคแรกนาขวัญ”

Photo by LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้จัดขึ้นเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎรผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง

ในพระราชพิธีอันสำคัญนี้ พระโคคู่งามซึ่งทำหน้าที่ไถนาและเสี่ยงทายเพื่อทำนายสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของผู้คน ในปีนั้นๆ ส่วนใหญ่เป็นพระโคที่คัดเลือกมาจากโคสายพันธุ์ “ขาวลำพูน” โคพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดลำพูนและพื้นที่ใกล้เคียง อันเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นโคที่มีลักษณะดีครบถ้วนสมบูรณ์ตามตำรา เช่น ขนสวยเป็นมัน เขาโค้งงามสีน้ำตาลส้ม ขอบตาสีชมพู นัยน์ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา หางยาวสีขาว ขนฟู กีบและข้อเท้าแข็งแรง เป็นต้น

และต่อไปนี้คือลักษณะเด่น 15 อย่าง ของโคขาวลำพูน 1.ตะโหนกปานกลาง 2.หนังสีชมพู หนังบาง 3.ขนสีขาวเกรียน 4.เนื้อทวารต่างๆ มีสีชมพูส้ม ไม่มีจุดด่างขาว 5.พู่หางสีขาว 6.เนื้อกีบสีชมพูส้ม 7.ลำลึงค์แนบพื้นท้อง 8.เหนียงสะดือสั้น ติดพื้นท้อง 9.เหนียงคอปานกลาง 10.เนื้อจมูกสีชมพูส้ม 11.สีนัยน์ตาน้ำตาลดำ 12.ขนตายาว 13.หน้าผากแบน 14.เนื้อเขาสีชมพูส้ม 15.ใบหูเล็กกาง

ขอบคุณภาพจาก http://travel.lamphunpao.go.th

โคขาวลำพูน เป็นโคพื้นเมืองที่เกิดจากฝีมือและผลงานของชาวบ้านในจังหวัดลำพูน มีการพัฒนาสายพันธุ์มานานกว่า 100 ปี เลี้ยงกันแพร่หลายในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่แล้วแพร่กระจายไปยังจังหวัดลำปาง พะเยา เชียงราย เกิดขึ้นมาได้อย่างไรไม่มีหลักฐานแน่ชัด

บางท่านเล่าว่า เกิดจากการกลายพันธุ์ของโคพื้นเมืองในสมัยพระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญไชยพระองค์แรก เมื่อ 1,340 กว่าปีมาแล้ว และเป็นสัตว์คู่บารมีของชนชั้นปกครอง ในสมัยนั้นใช้ลากเกวียน แต่หริภุญไชยก็ล่มสลายตั้งแต่ครั้งเมื่อพ่อขุนเม็งรายมหาราชยึดครอง อีกทั้งเป็นเมืองร้าง สมัยพม่าครองเมือง ช่วงกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310

ในตำราฝรั่งบางเล่มกล่าวว่า ต้นตระกูลของโคพื้นเมืองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะเป็นโคยุโรปที่ไม่มีหนอก ซึ่งต่อมาถูกผสมข้ามโดยโคอินเดียที่มีหนอก เพราะโคในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่มีลักษณะของทั้งโคยุโรปและโคอินเดียรวมกัน คือมีเหนียงคอสั้น หน้าผากแบน และหูเล็กแบบโคยุโรป มีหนอกแบบโคอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นวัวพื้นเมืองที่มีลักษณะงาม แต่ในเชิงเศรษฐกิจ โคขาวลำพูนให้ผลตอบแทนน้อย เหตุเพราะมีรูปร่างเล็ก ให้เนื้อน้อย ชาวบ้านจึงหันไปเลี้ยงวัวพันธุ์เทศที่รูปร่างสูงใหญ่ให้เนื้อดีแทน ทำให้โคสายพันธุ์ขาวลำพูนเหลือน้อยมาก ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ ได้ประกาศให้เป็นสัตว์อนุรักษ์แล้ว เพราะเกรงว่าจะสูญพันธุ์ ทั้งนี้เพราะเห็นว่าโคสายพันธุ์พื้นเมืองนี้มีคุณสมบัติเฉพาะ นั่นคือ มีความสมบูรณ์พันธุ์สูง ทนทานต่อ โรค พยาธิ และแมลงเขตร้อน แม้จะได้รับการเลี้ยงดูแบบแร้นแค้นก็ตาม จึงเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นชนบทของไทย

ท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ ชาวบ้านชุมชนบ้านไร่ป่าคา ต.ท่าตุ้ม อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา ขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2546 เพื่ออนุรักษ์พันธุ์โคขาวลำพูนมิให้สูญสิ้นพันธุ์ รวมทั้งสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน โดยมี นายอยุธ ไชยยอง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านไร่ป่าคา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูน งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนจาก สกว.

ยังมีข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า พระโค ตามคติพราหมณ์ คือเทวดานนทิผู้แปลงรูปเป็นโคอุสุภราชให้พระอิศวรทรง ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์จัตุบาท เปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง ทั้งยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล เปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้มีพระโคเพศผู้ 1 คู่ เข้าร่วมพิธีเสมอมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์

ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีฯ โดยจะดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย ต้องตามลักษณะที่ดีและสง่างาม

Photo by Panupong CHANGCHAI / THAI NEWS PIX / AFP
(Photo by Panupong CHANGCHAI / THAI NEWS PIX / AFP