จีนเข้มล้งส่งออก! ทุเรียนอ่วม 3พันตู้ค้างเติ่งด่านชายแดน-ถูกกดราคา

ล้งทุเรียนภาคตะวันออกอ่วม กระทรวงศุลกากรจีน ตรวจเข้มสารตกค้าง-แมลง รถตู้คอนเทนเนอร์ค้างด่านชายแดนจีนทั้งทางบก-เรือ 3,000 ตู้ 6,000 ล้านบาท ซวยซ้ำทุเรียนสุก แตกเสียหาย ถูกกดราคารับซื้อเท่าตัว พาณิชย์เร่งเคลียร์

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบธุรกิจส่งออกทุเรียนจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งออกทุเรียนไทยไปประเทศจีนยังประสบปัญหาวิกฤตต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรของจีนได้ปรับเปลี่ยนระบบการตรวจสอบสารตกค้างและศัตรูพืช จากเดิมเคยสุ่มตรวจเพียงไม่กี่ตัวอย่างใช้เวลา 2-3 วัน ปัจจุบันเน้นตรวจสอบ 100% ต้องใช้เวลานานถึง 7-8 วัน ส่งผลให้รถตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิที่บรรทุกทุเรียนของไทยต้องจอดรอเข้าคิวค้างที่ด่านลางเซิน ประเทศเวียดนาม เพื่อรอผ่านด่านโหย่วอี้กวน มณฑลกว่างซี ประเทศจีน รวมแล้วกว่า 1,000 ตู้ รถติดยาวจากหน้าด่านคิดเป็นระยะทางกว่า 10 กม.

ผู้ส่งออกทุเรียนอ่วมโดนกดราคา

ความล่าช้าในการขนส่งดังกล่าว ทำให้การควบคุมอุณหภูมิของตู้ค่อนข้างมีปัญหา ส่งผลให้ทุเรียนเกิดการสุก หรือแตกเสียหายจำนวนมาก เมื่อรถผ่านด่านไปส่งให้ลูกค้าได้ จึงถูกลูกค้ากดราคารับซื้อลงกว่าครึ่ง จากราคาเดิมที่ตกลงกันไว้เฉลี่ยมูลค่าทุเรียนตู้ละ 2.1-2.5 ล้านบาท กระทบเป็นลูกโซ่ไปยังลูกค้าที่สั่งซื้อของทางออนไลน์ เคลมสินค้า 30% และทุเรียนที่สุก แตกเสียหายราคาขายลดลงถึง 50% ขณะเดียวกันผู้ส่งออกต้องจ่ายค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิเพิ่มจากเดิม ที่ขอเช่าเพียง 3 วัน ต้องขยายเวลาเช่าเป็น 8-9 วัน

นอกจากนี้ การที่ตู้คอนเทนเนอร์เช่าหมุนเวียนกลับมาไม่ทัน ทำให้ผู้ส่งออกต้องวิ่งหาเช่าตู้ใหม่ ซึ่งผู้ให้เช่าตู้ได้การปรับราคาสูงขึ้นจาก 150,000 บาท เป็น 190,000 บาท เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์ต้องใช้ระยะเวลาปั่นไฟนานขึ้น และใบรับรองสุขอนามัยพืช (P.C.) หมดอายุภายใน 7 วัน ต้องเสียเวลาทำใหม่

เจอปัญหาทั้งขนทางบก-ทางเรือ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้ประกอบการบางส่วนหันไปส่งออกทุเรียนทางเรือ หวังว่าจะทำได้รวดเร็วขึ้น แต่ในทางปฏิบัติล่าช้าเช่นกัน เพราะเรือต้องบรรทุกสินค้าเต็ม 200 ตู้ต่อเที่ยวจึงจะออกเดินทาง อีกทั้งใช้เวลาเดินทางนาน 7-8 วันกว่าจะถึงท่าเรือแต่ละแห่ง เช่น ฮ่องกง เสิ่นเจิ้น ซินโจ เพื่อกระจายสินค้าต่อไปเซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเมืองอื่น ๆ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของท่าเรือจีนเข้มงวดมากเช่นกัน คาดว่าตอนนี้มีตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งทุเรียนลอยลำอยู่กลางทะเลรอขึ้นท่าเรือจีนร่วม ๆ 2,000 ตู้

“ท่าเรือจีนบางแห่งจะบังคับให้ใช้อุณหภูมิติดลบ 13 องศา แต่เมื่อทุเรียนสุกแตกทำให้อุณหภูมิในตู้เพิ่มสูงขึ้นอัตโนมัติเป็น 23 องศา เมื่อเจ้าหน้าที่จีนวัดอุณหภูมิพบว่าร้อนกว่าที่กำหนดจะตีกลับสินค้า ไม่ให้ยกตู้ขึ้นจากเรือ ต้องส่งกลับมาแปรรูปทำทุเรียนกวน เสียหายอย่างมาก”

กระทุ้งรัฐแก้ปัญหา

นายณัฐกฤษณ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด และเจ้าของโรงคัดบรรจุหัวยี่บราเดอร์ เปิดเผยว่า ตนส่งออกทุเรียนมากว่า 10 ปี ไม่เคยมีปัญหาเรื่องระบบโลจิสติกส์ ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างรุนแรงเท่าปีนี้ ที่ปริมาณการส่งออกทุเรียนน่าจะมีเพิ่มขึ้น โดย 1 ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุทุเรียนน้ำหนัก 18 ตัน เฉลี่ยมูลค่าราคาตู้ละ 2 ล้านบาท จึงอยากให้ภาครัฐหาทางแก้ปัญหาการส่งออกทุเรียนไทยทั้งระบบในอนาคต ทั้งปัญหาการตรวจเข้มของจีน การแข่งขันของเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีความต้องการบริโภคทุเรียนสูงมาก คาดว่าราคาทุเรียนเดือนพฤษภาคมนี้จะปรับขึ้นสูงกว่า 100 บาท/กก. เพราะทุเรียนเหลือน้อยลง จากนั้นปี 2563-2564 น่าจะปรับขึ้นถึง 120-130 บาท และ 150 บาท/กก.

เผยจีนรื้อระบบตรวจสอบใหม่

นางสาวอรทัย เอื้อตระกูล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชและปัจจัยการผลิต กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ในการขนส่งทุเรียนผ่านเส้นทาง R12 เข้าจีนที่ด่านโหย่วอี้กวน อำเภอผิงเสียง มณฑลกว่างซี มาจากเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรด่านโหย่วอี้กวน ต้องเปิดตรวจและปล่อยสินค้า 100% เนื่องจากทางการจีนมีการปฏิรูประบบราชการ โดยยุบหน่วยงานสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีนหรือ AQSIQ ไปอยู่ภายใต้กระทรวงศุลกากร เมื่อปีที่แล้ว ต้องจัดระเบียบการนำเข้าและส่งออกการค้าชายแดนระหว่างเวียดนามและจีนให้มีความเป็นสากล มีเจ้าหน้าที่กระทรวงศุลกากรจากส่วนกลาง (ปักกิ่ง) มานั่งให้คำปรึกษาที่ด่านโหย่วอี้กวน มีการเปิดตรวจมากขึ้น

สินค้าผ่านด่านได้ช้าลงปกติสินค้าที่ผ่านด่านโหย่วอี้กวนจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้จากไทย 30% นอกนั้นเป็นสินค้าจากประเทศอื่น เดิมเจ้าหน้าที่จะปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ 350-400 ตู้ต่อวัน ปัจจุบันตรวจ-ปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ได้วันละ 50 ตู้ ทำให้ตู้สินค้าไปรอคิวทำพิธีการตรวจ-ปล่อยติดอยู่ฝั่งเวียดนามยาวมาก รวมเวลารอ 7-9 วัน แต่สินค้าจากไทยคือผลไม้ซึ่งเน่าเสียง่าย และการรอข้างถนนที่ไม่มีปลั๊กไฟเสียบ ทำให้เครื่องทำความเย็นไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ทำให้ผลไม้เน่าเสียได้

ส่ง จนท.เร่งเคลียร์ปัญหา

ด้าน ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญการจัดการโซ่อุปทาน CLMV และอุปนายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรกล่าวว่า จากการลงดูสภาพพื้นที่จริงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2562 ณ ด่านลางเซินชายแดนเวียดนามเข้าด่านโหย่วอี้กวนของจีน สภาพรถตู้คอนเทนเนอร์ที่แออัดอยู่กว่า 1,000 ตู้ รวมทั้งตอนนี้มีตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งทางทะเลรอขึ้นท่ากว่า 2 พันตู้ มูลค่าผลไม้ที่เสี่ยงต่อการเสียหายรออยู่หลายพันล้านบาท เป็นปัญหาเร่งด่วนที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรีบแก้ไข เร่งระบายตู้อย่างเร่งด่วน

ล่าสุด มีการเจรจากับศุลกากรจีนส่วนกลางขอผ่อนผันการตรวจนำเข้าผลไม้ช่วงเดือนนี้ ให้ทันการบริโภคทุเรียนช่วงวันหยุดยาวของจีน อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังไม่กระทบต่อราคาในประเทศ เพราะจีนยังคงต้องการทุเรียนอีกมาก ตลาดเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่งไม่มีทุเรียนบริโภค แต่ในระยะยาวต้องวางแผนแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ขณะที่ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากพื้นที่จันทบุรีกรณีตู้คอนเทนเนอร์บรรจุทุเรียนที่ตกค้างที่ด่านชายแดนจีนกว่า 1,000 คัน และตู้คอนเทนเนอร์ที่ลอยลำกลางทะเลอีกกว่า 2,000 ตู้ว่า ได้รับการแก้ไขแล้ว โดยกระทรวงพาณิชย์ส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานงาน อย่างไรก็ตาม สามารถเคลียร์ตู้คอนเทนเนอร์ไปได้เพียงบางส่วนเท่านั้น คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 1-2 สัปดาห์กว่าจะเคลียร์ปัญหาได้ทั้งหมด