มมส เร่งผลิต ‘ข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์’ พร้อมทาน เก็บนาน 2 ปี ช่วยน้ำท่วมอุบลฯ

มมส เร่งผลิต “ข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์” พร้อมรับประทาน เก็บได้นาน 2 ปี ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดอุบลราชธานี เตรียมส่งมอบพี่น้องชาวอุบล กินอาหารที่คุ้นเคยสร้างพลังใจสู้ชีวิต

ที่ห้องปฏิบัติการภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจารย์ ดร.อัศวิน อมรสิน อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมลูกศิษย์ กำลังเร่งผลิต “ข้าวเหนียวหมู่ย่าง สเตอริไลซ์” จำนวน 2,000 ชุด ภายใต้โลโก้ “กล่องข้าวน้อยให้แม่” เพื่อเตรียมนำส่งประชาชนที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ในวันพรุ่งนี้ 16 กันยายน 62

โดยกรรมวิธีการผลิตก็เหมือนกับการทำกับข้าวทั่วไป คือ นึ่งข้าวเหนียว ย่างหมู หั่นหมูเป็นชิ้น จากนั้นบรรจุข้าวเหนียวและหมูย่างใส่บรรจุภัณฑ์ ซีลปิดปากถุง เข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ สเตอริไลซ์ และติดสติ๊กเกอร์เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะเตรียมส่งถึงมือผู้รับ

อาจารย์ ดร.อัศวิน อมรสิน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำ “กล่องข้าวน้อยให้แม่” หรือข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ มาจากติดตามข่าวน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีที่ปีนี้น้ำท่วมหนักกว่าทุกปี และคาดว่าจะยาวนาน เพราะเป็นพื้นที่ท้ายน้ำ จึงอยากใช้ความรู้ความสามารถที่มีในเรื่องของการถนอมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ จึงเกิดไอเดีย ทำข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์ ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน 2 ปีขึ้นมา และตั้งชื่อว่า “กล่องข้าวน้อยให้แม่” โดยมีแรงบันดาลใจมาจากนิทานท้องถิ่นเรื่อง “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” ที่ลูกหิวโมโหเพราะเห็นก่องข้าวน้อยของแม่ เป็นแค่ก่องข้าวเล็กๆ คิดว่าตัวเองจะกินไม่อิ่มแน่ๆ แล้วลูกก็ฆ่าแม่ สุดท้ายแล้วก็กินไม่หมด

สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มจาก การเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ รวมถึงเปิดรับเงินบริจาคเพื่อเป็นทุนในการจัดซื้อวัตถุดิบ เช่น หมู ข้าวเหนียว เครื่องปรุงหมักหมู บรรจุภัณฑ์สำหรับห่อ จากนั้นเข้ามาสู่กระบวนการผลิตโดยข้าวเหนียวหมูย่างห่อนี้ ประกอบไปด้วย ข้าวเหนียวนึ่ง 120 กรัม และหมูย่าง 50 กรัม ซีลบรรจุในถุงบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก จากนั้น นำไปเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ สเตอริไลซ์ ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง

โดยตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ 10,000 ชุด แต่เนื่องจากกำลังการผลิตทั้งแรงคน และเครื่องมืออุปกรณ์ของเราไม่เพียงพอ สามารถผลิตได้เพียง 2,000 ชุด ซึ่งจะได้เดินทางนำส่งผู้ประสบภัยน้ำท่วมในวันพรุ่งนี้ วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2562 ที่จังหวัดอุบลราชธานี และเงินบริจาคที่เหลือ ได้จัดเป็นชุดยา “กล่องยาน้อยให้แม่” 1,000 ชุด ส่งไปพร้อมกับชุดข้าวเหนียวหมูย่างด้วย

นางสาวศยภัญ ทักษ์เตชาณภัค นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ตนเองรู้สึกดีใจที่มีส่วนร่วม ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ทุกคนสละเวลาของตัวเองมาช่วย ซึ่งตนเองมีหน้าที่ตั้งแต่ไปซื้อวัตถุดิบ ตลอดจนมาทอดหมู ชั่งข้าวเหนียว ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วม ได้ร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อทำให้ครบ 10,000 ถุง ตามความตั้งใจครั้งนี้