พิสูจน์แล้ว! พลิกดินเค็ม ปลูกข้าว-ผักปลอดสารพิษ ขายได้เงินรายสัปดาห์ ช่วยลูกหลานคืนถิ่น

ดินเค็ม หมายถึงดินที่มีปริมาณเกลืออยู่ในดินมากเกินไป จนมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช มีค่าการนำไฟฟ้าของสารละลายที่สกัดจากดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำมากกว่า 2 เดซิซีเมน ต่อเมตร (dS/m) พบว่า ในประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นดินเค็ม ประมาณ 14.9 ล้านไร่

ดินประภทนี้นั้นทำให้พืชที่ปลูกได้รับความเสียหาย เนื่องจากการขาดน้ำ เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร มีการสะสมของโซเดียมและคลอไรด์ที่เป็นพิษในพืชมากเกินไป ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและมีการสูญเสียอินทรียวัตถุสูง เนื่องจากมีพืชน้อยชนิดมากที่สามารถขึ้นได้ ทำให้ไม่มีเศษซากพืชที่จะสลายตัวให้อินทรียวัตถุ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ถูกทิ้งร้าง ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรไม่ได้ มีน้ำใต้ดินเค็มอยู่ใกล้ผิวดิน พบวัชพืชทนเค็ม เช่น หนามพุงดอ และหนามพรม เป็นต้น

นางระเบียบ สละ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองนาววัว ต.หัวหนอง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อก่อนบ้านตนมีที่นากว่า 60 ไร่ ปลูกข้าวไม่ได้ผล เพราะผืนนามีแต่คราบเกลือขึ้น ประสบปัญหาดินเค็มอย่างมาก จึงยึดอาชีพต้มเกลือขายถ้วยละ 50 สตางค์ เพราะไม่สามารถปลูกพืชอะไรได้เลย จนต้องจำใจขายที่ดินให้กับนายทุนไร่ละ 1,500 บาท เก็บเหลือไว้เพียง 25 ไร่ ลูกก็ต้องไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ข้าวก็จะต้องซื้อเขากิน เพราะข้าวที่ปลูกในพื้นที่ 25 ไร่ ได้ผลผลิตเพียง 10 ถุงปุ๋ย (ถุงละ 30 กก.) แล้วยังเจอปัญหาข้าวลีบ เมล็ดไม่สวย ไม่พอกินในครัวเรือน

พอสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 และสถานีพัฒนาที่ดินขอนแก่น ได้เข้ามาทำโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มทุ่งเมืองเพีย เมื่อปี 2543 ก็เข้าร่วมโครงการ ได้รับความรู้เรื่องการปรับปรุงดินเค็ม การไถกลบตอซังข้าว ปลูกพืชปุ๋ยสด การทำน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่ง พด. ใช้ทดแทนสารเคมี

ซึ่งตอนแรกก็ยังไม่เห็นผล จนกระทั่งฟื้นฟูดินเข้าสู่ปีที่ 6 ดินดีขึ้นมาก ข้าวหอมมะลิ 105 และ กข 6 เริ่มให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จนเมื่อปี 2560 ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 400 ถุง จากที่เคยต้องซื้อข้าวกินปัจจุบันมีแต่เอาข้าวไปขายเขา ยกเว้นปีนี้ที่เจอภัยแล้งหนักปลูกข้าวไม่ได้

แม้จะปลูกข้าวไม่ได้เพราะไม่มีน้ำ แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะยังมีรายได้จากการขายผักปลอดสารพิษ ซึ่งหลังจากปรับปรุงพื้นที่ดินเค็มส่วนหนึ่งก็มีการรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองนาววัว มีสมาชิกกว่า 30 คน ปลูกผักปลอดสารพิษซึ่งทุกแปลงผ่านมาตรฐานจีเอพี (GAP) ทั้งหมด และยังเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกพริกในพื้นที่ดินเค็มเพื่อการส่งออก

โดยผลผลิตจะมีพริก แตงกวา บวบ ข่า ตะไคร้ ชะอม เป็นต้น จำหน่ายที่โรงพยาบาลบ้านไผ่ และหน้าอำเภอบ้านไผ่ เป็นประจำทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 800-1,000 วัน ทำให้มีรายได้เฉลี่ย 3,000 บาทต่อสัปดาห์

“ปัจจุบันเกษตรกรบ้านหนองนาวัว มีอาชีพที่ค่อนข้างมั่นคง ลูกหลานส่วนใหญ่ที่เคยไปทำงานต่างถิ่นจึงย้ายกลับมาอยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวน เรามีข้าว พืชผักปลอดสารพิษปลูกไว้บริโภคเอง มีเหลือจำหน่าย เรามีรายได้มั่นคง แถมสุขภาพก็ดีเพราะไม่ใช้สารเคมี ผู้บริโภคก็ปลอดภัย ครอบครัวเกษตรกรกลับมามีความสุขมีอาชีพและชีวิตที่ดีขึ้นมาก เพราะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากกรมพัฒนาที่ดิน

ซึ่งไม่เพียงแค่เอาโครงการมาลงในพื้นที่ ยังเข้ามาถ่ายทอดความรู้ สนับสนุนปัจจัยการผลิต มีการติดตามผลช่วยเหลือสิ่งที่เกษตรกรขาดอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันเข้ามาติดตามความคืบหน้าเป็นประจำทุกเดือน ทำให้เกษตรกรมีที่พึ่ง เรื่องที่เกษตรกรไม่รู้ก็จะให้วิทยากรมาช่วยสอนจนเกษตรกรเข้าใจและทำได้เอง ส่งผลให้โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มทุ่งเมืองเพียสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างทุกวันนี้

และที่สำคัญทางกลุ่มกำลังต่อยอดความสำเร็จ โดยร่วมมือกับหมอที่โรงพยาบาลบ้านไผ่ ที่จะช่วยสนับสนุนนำผลผลิตผักปลอดสารพิษเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าในอนาคต เป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับสมาชิก”