เอสซีจี ผนึกสยามคูโบต้าฯ ขยายผลเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ภาคการเกษตร ส่งต่อแนวคิดสู่เวที SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future”

เอสซีจี ผนึกสยามคูโบต้าฯ ขยายผลเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ภาคการเกษตร
ระดมสมองทุกภาคส่วนร่วมถอดบทเรียน ขับเคลื่อนเพื่อสร้างความยั่งยืน
ส่งต่อแนวคิดสู่เวที SD Symposium 2020 “Circular Economy:
Actions for Sustainable Future”

การใช้ทรัพยากรที่มากเกินไปจะส่งผลกระทบในระยะยาว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ “เอสซีจี” มุ่งมั่นและเชื่อมั่นในหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมจุดประกายให้ทุกฝ่ายตระหนักรู้และร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการจัดเวทีระดมความคิดเห็น “SD Symposium” ที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นใน วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ภายใต้ หัวข้อ SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” โดยระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ใน 4 แกนสำคัญ ได้แก่ การจัดการน้ำ การจัดการขยะ ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพื่อหาข้อสรุปและเป็นข้อเสนอแนะสำหรับทุกภาคส่วนในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ เอสซีจี ได้ร่วมกับ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดงาน Pre-session: Agri-Circular Economy ระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในภาคการเกษตร ร่วมกันถอดบทเรียนสรุปเป็นข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในภาคเกษตร เพื่อส่งต่อสู่เวที SD Symposium 2020 พร้อมเรียนรู้การดำเนินงานจาก “คูโบต้า ฟาร์ม” ซึ่งเป็นฟาร์มต้นแบบที่นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้

นายอารีย์ เชาวลิตชีวินกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด

ระดมสมองขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคการเกษตร
นายอารีย์ เชาวลิตชีวินกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า การระดมความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตร (Agri-Circular Economy) เป็นความร่วมมือกันระหว่าง เอสซีจี และ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อร่วมกันหาข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในภาคการเกษตร โดยข้อเสนอแนะที่ได้จากการช่วยกันระดมความคิดเห็นต่างๆ จะทำเป็นข้อสรุปในเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อเสนอแนะให้ทุกภาคส่วนในงาน SD Symposium 2020 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วน
ต่อยอดแนวคิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างความร่วมมือ การปฏิบัติ และขยายผลไปถึงทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ รวมทั้งประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย

“เศรษฐกิจหมุนเวียนคือ การหมุนเวียนทรัพยากรจากการผลิตและการใช้ วนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และลดการก่อให้เกิดมลพิษ เช่น เรื่องขยะหากลดได้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง เอสซีจี มุ่งมั่นยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบ การจัดหา การผลิต การขนส่ง การให้ความรู้ต่อผู้บริโภค ตลอดจนการนำวัสดุที่เหลือใช้ หรือของเสียกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ใหม่อีกครั้ง แต่ทั้งหมดจะต้องอาศัยทั้งมุมมอง แนวคิด เทคโนโลยีและนวัตกรรม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน” นายอารีย์ กล่าว

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ ที่ปรึกษาสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด

ผนึกทุกภาคส่วน นำ “เศรษฐกิจพอเพียง-ทฤษฎีใหม่” ประยุกต์ใช้ในคูโบต้าฟาร์ม
ด้าน นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ ที่ปรึกษา สำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยาม
คูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนจากการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไปคือ ปัญหาทางภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปและเกิดผลกระทบรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาฝุ่นละออง จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจะให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาคเกษตรที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประชากรของโลก

ทั้งนี้ สยามคูโบต้า ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ภายในคูโบต้าฟาร์ม มีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้เป็นฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ของคูโบต้าที่รวบรวมนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรและองค์ความรู้เกษตรครบวงจร

“คูโบต้าฟาร์ม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานและขยายผลในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยนำเอาหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ทุกกระบวนการผลิต เช่น การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้ริเริ่มโครงการเกษตรปลอดการเผา รณรงค์ให้เลิกเผาตอซัง นำฟางหรือใบอ้อยไปเป็นอาหารสัตว์ หรือหมักเป็นปุ๋ย การพัฒนาแหล่งน้ำด้วยแนวคิดทฤษฎีใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญในการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตรให้เป็นที่ยอมรับ นำไปใช้จริง และเกิดการขยายผลในวงกว้างจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงการสร้างสมดุลของทรัพยากรที่มีอยู่ เป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน นำมาสู่ความเชื่อมั่นถึงศักยภาพในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับโลก”

เปิดแนวทางบริหารจัดการพร้อมโซลูชั่นรองรับ สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ BCG Economy
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของไทยคือ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตรจะมุ่งเน้นการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำมาประยุกต์ใช้ ในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกขั้นตอน อีกทั้งสยามคูโบต้าร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตร และขยายผลให้เป็นรูปธรรมภายในคูโบต้าฟาร์ม มีดังนี้

1. ทฤษฎีใหม่ (New Theory) ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านโซลูชั่นออกแบบฟาร์มเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (Farm Design Solution) ที่ช่วยเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชหลากหลายและพืชสร้างรายได้เร็ว เช่น ผัก โซลูชั่นการทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว (Rice Straw Manure) เพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ยและเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากการผลิตแบบอินทรีย์ โซลูชั่นการให้น้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของพืช ด้วยการใช้เซ็นเซอร์ที่วัดความชื้นในดิน

2. การบริหารจัดการต้นทุน (Cost Management) มีโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องคือ โซลูชั่นเกษตรปลอดนาหว่าน (Zero Broadcast Solutions) ที่ช่วยลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ลง 50-67% และโซลูชั่นเกษตรแม่นยำข้าว (Precision Farming Solution) ที่ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย ลดความสูญเสียผลผลิตจากปัญหาข้าวล้ม ด้วยการปฏิบัติตามปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar Application

3. การบริหารจัดการน้ำ (Water Management) ด้วยโซลูชั่นการบริหารจัดการนำต้นทุนน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำน้ำในสระเลี้ยงปลาและให้น้ำแก่พืช และโซลูชั่นการระบายน้ำใต้ดินเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตจากน้ำท่วมขังและยังสามารถนำน้ำใต้ดินมาหมุนเวียนใช้ให้น้ำพืชได้อีกครั้ง

4. การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ด้วยการใช้เทคนิคการเพาะปลูกผสานเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) และนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ร่วมกับการวิเคราะห์ Big Data ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แม่นยำและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต ควบคุมปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของผลผลิตและต้นทุน

5. การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างมีคุณค่า บริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยวิธีเกษตรปลอดการเผา เช่น การไถกลบตอซังข้าวเพื่อเป็นปุ๋ยในดิน การทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าวหรือใบอ้อย การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล อาหารสัตว์ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ภาชนะใส่อาหาร หรือวัสดุตกแต่งพาร์ติเคิลบอร์ด เป็นต้น

 

ถอดบทเรียนความคิด 4 ประเด็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข

สำหรับการระดมความคิดเห็น พร้อมถอดบทเรียนจากผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป โดยแบ่งผู้ร่วมงานออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อช่วยกันหาข้อเสนอแนะใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ 2. การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3. การลดต้นทุนการบริหารจัดการฟาร์ม 4. การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ 5. การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งในแต่ละประเด็นมีการนำเสนอถึงปัญหา ความท้าทาย แนวทางแก้ปัญหา และหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ต้องเข้ามาสนับสนุนในการแก้ปัญหา พร้อมช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตรเกิดขึ้นได้จริง

จากการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมีความหลากหลายและครอบคลุมในหลายมุมมองโดยสรุปได้ 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องคน หรือการสร้างคน ต้องมีการอบรม การแบ่งปันข้อมูลความรู้ ต้องมีการสร้างโมเดลต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนต้นแบบที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา (Smart Community) มีความคิดทันสมัยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือสร้างคนให้เป็นเกษตรกรที่รอบรู้ มีความภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกร (Smart Farmer) เพื่อสร้าง Mindset ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรไทยร่วมกัน

ประเด็นที่สอง ขั้นตอนในระบบการทำงาน เช่น นโยบายภาครัฐ งบประมาณ แรงจูงใจต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางมาตรฐาน การสร้างตลาด เป็นต้น ประเด็นที่สาม การสื่อสาร (Communication) เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง และประเด็นที่สี่ นวัตกรรม (Innovation) เสนอแนวทางการแก้ปัญหาการเข้าถึงนวัตกรรมแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต้นเป็นนวัตกรรมขั้นพื้นฐานที่ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่าย ระดับกลางและระดับสูงเป็นนวัตกรรมขั้นแอดวานซ์ ต้นทุนสูง เช่น ระบบ Auto Guidance หุ่นยนต์ทำงานอัตโนมัติ ที่หน่วยงานภาครัฐควรสนับสนุน infrastructure ให้พร้อมรองรับการทำงานในอนาคต รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่คิดค้นโดยคนไทย และสตาร์ทอัพที่สร้างนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ

เอสซีจี เชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
ให้เกิดขึ้นก็จะนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต จึงมุ่งมั่นสานต่อสร้างการตระหนักรู้และร่วมมือกัน ผ่านการจัดงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future”เพื่อเป็นเวทีระดมความเห็นและหาข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายผลความร่วมมือในวงกว้างมากขึ้น

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3jo6dCA และลงทะเบียนรับชมงาน SD Symposium 2020 : Circular Economy: Action for Sustainable Future วันจันทร์ที่ 9 พ.ย. 2563 เวลา 13.30 – 15.00 น. แบบออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3e4A16k หรือ QR Code นี้

ภาคีเครือข่ายร่วมกันระดมสมองขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคการเกษตรสู่งาน SD Symposium 2020
ภาคีเครือข่ายร่วมกันระดมสมองขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคการเกษตรสู่งาน SD Symposium 2020
ภาคีเครือข่ายร่วมกันระดมสมองขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคการเกษตรสู่งาน SD Symposium 2020
ภาคีเครือข่ายร่วมกันระดมสมองขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคการเกษตรสู่งาน SD Symposium 2020
ภาคีเครือข่ายร่วมกันระดมสมองขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคการเกษตรสู่งาน SD Symposium 2020