‘ผักเบี้ยใหญ่’ สมุนไพรโอเมก้า 3 สูง แต่ไขมันต่ำ นานาชาติยอมรับใช้รักษาโรค

ผักเบี้ยใหญ่ เป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับคุณนายตื่นสาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Portulaca oleracea L. อยู่ในวงศ์ ACANTHACEAE ชื่ออื่นๆ ผักอีหลู ผักตาโค้ง ผักเบี้ยดอกเหลือง ผักเบี้ยใหญ่ แดงสวรรค์ ลำต้นกลม อวบน้ำ สีเขียวอมแดง เตี้ยเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ใบประกอบแบบนิ้วมือ มี 5 ใบย่อย ดอกเดี่ยวหรือช่อ ออกเป็นกลุ่มประมาณ 3-5 ดอก ไม่มีก้านดอก ออกที่ปลายยอด สีเหลือง

ผักเบี้ยใหญ่ มีรสเปรี้ยว นิยมกินเป็นผักสด ผักสลัด หรือนำมาต้ม ลวก กินร่วมกับน้ำพริก มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก

ผักเบี้ยใหญ่ เป็นพืชที่แพร่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้มีการนำไปใช้เป็นยาอย่างหลากหลาย เช่น ในอิหร่านใช้ในการรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (Abnormal uterine bleedind) รักษาหอบหืดและโรคทางเดินหายใจ

ในออสเตรเลีย มีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของเหลวสกัดจากผักเบี้ยใหญ่ ใช้ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด แก้ท้องเสีย ติดเชื้อในทางเดินอาหาร ฆ่าพยาธิ รักษาโรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ อาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวารหนัก หนองใน เลือดออกตามไรฟัน หรือติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ

ในมาเลเซียและไนจีเรีย มีการใช้ผักเบี้ยใหญ่ช่วยให้นอนหลับและบำรุงหัวใจ เช่นเดียวกับชาวพื้นเมืองแอฟริกาตะวันตก ส่วนแถบเกาะสุมาตราใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอก ประเทศจาเมกาใช้รักษาโรคหลอดเลือดและหัวใจ

จากการที่ใบผักเบี้ยใหญ่มีโอเมก้า 3 สูงมาก จึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันหลอดเลือดตีบแข็ง หัวใจวาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง และมีผลทำให้ตามีน้ำหล่อเลี้ยงมากขึ้น ใบผักเบี้ยใหญ่ยังมีข้อดีกว่าน้ำมันปลา เนื่องจากมีเส้นใยอาหาร ให้แคลอรีและไขมันต่ำ นอกจากนี้ หมอยาพื้นบ้านไทยยังนิยมใช้รักษาอาการร้อนคอ ร้อนท้อง ริดสีดวง ช่วยระบาย

ปัจจุบัน มีงานวิจัยใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงฤทธิ์และคุณสมบัติอันมากมายของผักเบี้ยใหญ่ทยอยกันออกมาเรื่อยๆ เช่น ฤทธิ์บำรุงสมองและหัวใจ ฤทธิ์ต้านมะเร็งได้หลายชนิด ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด และรักษาโรคผิวหนัง ใช้เป็นส่วนผสมบำรุงผิวในเครื่องสำอาง สารสกัดน้ำของผักเบี้ยใหญ่ช่วยลดการหลั่งกรด ป้องกันแผลเยื่อบุกระเพาะอาหาร เมื่อให้ในขนาดสูงมีผลเทียบเท่ายา sucralfate ซึ่งเป็นยาสมัยใหม่ที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะ

ข้อควรระวัง สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ เนื่องจากพบว่ามีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว ใบสดของผักเบี้ยใหญ่ 100 กรัม มีกรดออกซาลิก 1.31 กรัม หรือ 9% ของน้ำหนักแห้ง ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในไตจึงควรระวังการใช้

ที่สำคัญ ผักเบี้ยใหญ่ ยังมีปริมาณโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีภาวะโพแทสเซียมสูง จึงควรปรึกษาแพทย์

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2564