ลุงตู่สั่งปลดล็อคนวัตกรรมการศึกษาระยอง จังหวัดและภาคีชูธง 25 โรงเรียนกล้าเปลี่ยน

นายกฯและนักเรียนร.ร.กำเนิดวิทย์

นายกรัฐมนตรี “ปลดล็อค” ปัญหาและอุปสรรคเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง โดยจังหวัดและภาคีสนับสนุนโครงการนำร่องใน 25 โรงเรียนกล้าเปลี่ยน หวังเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกกลุ่มรอบด้าน ให้เด็กไทยมีคุณภาพและสมรรถนะความเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21

27 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนาม
ความร่วมมือภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษาและพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ณ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง โดย นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ กับตัวแทนภาคีร่วมขับเคลื่อนในจังหวัด และภาคีการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยมี ศ. เกียรติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยาน

ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายและทิศทางการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใจความว่าทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนการศึกษา โดยหวังว่าแผนงานของโครงการนี้จะมีโรดแมปและกิจกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน และกับดักรายได้ปานกลาง ผลิตคน สร้างรายได้ ดูแลเกษตรกรให้เป็น smart farmer “เราต้องปลดล็อคตัวเอง ขจัดปัญหาและอุปสรรค ให้การศึกษาเดินหน้าและเรียนรู้ไปด้วยให้ได้มากที่สุดทั้งครูและนักเรียน การสร้างอาวุธเป็นเรื่องยากในระยะยาวแต่ก็ต้องทำ ต้องสร้างวัตถุดิบและผลผลิตทางการศึกษา คนต้องมีคุณภาพตั้งแต่เด็กเล็กขึ้นไปจนถึงระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เด็กต้องมีแรงกระตุ้น แรงจูงใจว่าเรียนแล้วจะทำอะไรต่อไป ต้องรู้ความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดให้เด็กรู้ว่าจะเรียนอะไร ท้องถิ่นก็ต้องช่วยกัน บ้าน วัด โรงเรียนต้องร่วมมือกันและเสริมด้วยดิจิทัลเพื่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้นทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการสร้างมูลค่า”

ทั้งนี้ จังหวัดระยองได้ลงนามความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย 37 แห่ง เพื่อปฏิรูปการศึกษาในระดับจังหวัด หลังจากที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดระยองได้จัดทำและประกาศแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยองที่มุ่งจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัยและทุกระดับที่ตอบโจทย์ระยอง เท่าเทียม ทั่วถึง เท่าทัน สมดุล สร้างระยองให้เป็นเมืองน่าอยู่ ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา จึงประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ให้มีการบริหารจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่มีระบบและกลไกบริหารจัดการพื้นที่ด้วยตนเอง โดยภาคีจากภาคส่วนต่างๆ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภายใต้กรอบความร่วมมือในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาเรียนรู้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขี้น”

รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาไทยที่ผ่านมาเป็นการสั่งการจากบนลงล่าง ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างการศึกษาในระดับห้องเรียนอย่างแท้จริง จึงเกิดการรวมตัวของ TEP และแม้จะมีนวัตกรรมการศึกษาเกิดขึ้นมากมายแต่ก็ไม่สามารถขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม TEP จึงร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ขับเคลื่อนจนเกิดเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดระยอง ศรีสะเกษ และสตูล ขึ้นเป็นสามจังหวัดแรกของประเทศไทยบนฐานคิดการเป็น ‘กระบะทราย’ (Sandbox) เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองหาแนวทางในการพัฒนาการศึกษาจากล่างขึ้นบน ให้เกิดการจัดการศึกษาที่ตรงตามความต้องการของคนในพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ อันจะนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

“ทีดีอาร์ไอร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ศึกษาวิจัยปัญหาและอุปสรรคในการจัดการศึกษา ขณะที่สถาบันอาศรมศิลป์และมูลนิธิสยามกัมมาจลหนุนเสริมการพัฒนาสถานศึกษาและการปรับกลไกระดับพื้นที่ของจังหวัดระยองและศรีสะเกษ ในขณะที่ สกว.ท้องถิ่น และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพี่เลี้ยงโรงเรียน สนับสนุนกลไกจังหวัด และนวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดสตูล สกว.ได้สนับสนุนงบประมาณการวิจัยเชิงปฏิบัติการและการติดตามประเมินผลในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งสามจังหวัด โดยภาคีภายนอกจะเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนภาคีในพื้นที่ แต่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมนั้นมีหัวใจอยู่ที่ความรู้สึกเป็นเจ้าของและการจับมือทำงานร่วมกันของภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุกระดับ โดยมีการพัฒนาโรงเรียนและนักเรียนเป็นเป้าหมาย ซึ่งจังหวัดระยองเป็นตัวอย่างที่ดีของความกระตือรือร้นของจังหวัดและภาคีการศึกษาในพื้นที่”

ด้าน รศ. ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมเพื่อรับใช้สังคม ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดระยองและศรีสะเกษ กล่าวว่า โครงการมุ่งหวังที่จะเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างรอบด้าน ทั้งทัศนคติ ทักษะ ความรู้ เพื่อให้เด็กไทยมีคุณภาพ มีสมรรถนะความเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 โดยในส่วนของจังหวัดระยองได้ทดลองปฏิบัติการ “โรงเรียนกล้าเปลี่ยน” ในโรงเรียนต้นแบบจำนวน 25 โรงเรียนในปีแรก ภายใต้หลักการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโรงเรียน (4.0 Whole School Transform) เพื่อสร้าง Smart Schools โดยปรับพื้นฐานระบบการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนเจ็ดด้านให้แก่ผู้อำนวยการ ครู เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ถึงคุณค่าและเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ประกอบด้วย การเปลี่ยนแนวคิดวิสัยทัศน์และสภาพแวดล้อมของการจัดการศึกษาจากระบบปิดไปสู่ระบบเปิด คือ ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสถานการณ์จริงและมีความหมายต่อชีวิต เสริมสร้างวิสัยทัศน์ผู้อำนวยการโรงเรียนให้สนใจด้านวิชาการเพิ่มขึ้นและปรับบทบาทให้เป็นโค้ชหรือครูของครู ปรับบทบาทและท่าทีของครูให้เป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดการเรียนรู้ ปรับหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนจากการบอกสอนให้เป็น Active learning จัดพื้นที่การเรียนรู้ให้เหมาะสมกับหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้ รวมถึงปรับระบบการวัดและประเมินผลให้เป็นไปเพื่อการพัฒนามากกว่าการตัดสินผู้เรียน ภายใต้นวัตกรรมหลักสูตรฝึกอบรมปฏิบัติการผู้อำนวยการและครูในโรงเรียนต้นแบบกล้าเปลี่ยน (Mini M.Ed. in Holistic Education) ซึ่งสถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับโรงเรียนรุ่งอรุณได้พัฒนาขึ้น ขณะเดียวกันโครงการวิจัยได้เติมนวัตกรรมพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และบูรณาการ พร้อมทั้งติดตั้งระบบประเมินในระดับห้องเรียนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียน เริ่มจากประถมหนึ่ง ประถมสี่ และมัธยมหนึ่งในปีการศึกษา 2562 และขยายการดำเนินการไปทีละชั้นในปีถัดไป เพื่อผลลัพธ์คือการสร้าง Smart Kids และขยายผลสู่ Smart People ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัดต่อไป