กระทรวงวิทย์ จัดงาน ASEAN Next 2019 เปิดเวทีขยายเครือข่ายความร่วมมือ วทน. สร้างการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในประชาคมอาเซียน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเวทีส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจ และต่อยอดผลการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประชาคม  อาเซียนกับงาน ASAEN Next 2019

วันที่ 18 มีนาคม 2562 รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการจัดงาน “ASEAN Next 2019 : STI Leading towards Community Happiness” โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่เจรจาเข้าร่วมงานฯ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างอาเซียนกับประเทศญี่ปุ่น และร่วมกันจัดทำแผนกิจกรรมความร่วมมือรายสาขาที่สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของประชาคม รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน วทน. ในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาคมทั้งในเชิงเศรษฐกิจที่สามารถเพิ่มรายได้ และเชิงสังคมที่ใช้ทักษะในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประชาคมได้ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะสามารถนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนในประชาคมอาเซียนต่อไป

รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ว่า ASEAN Next 2019 เป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ริเริ่มและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2017 หรือ พ.ศ. 2560 โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่างาน ASEAN Next ของประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย จากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ให้การตอบรับและเข้าร่วมจำนวนมาก ดังนั้น จึงเป็นแรงผลักดันให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดกิจกรรม ASEAN Next 2019 ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและต่อยอดความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียน และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะผู้แทนไทยในการดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) กับอาเซียน ได้พยายามผลักดันความร่วมมือผ่านกิจกรรม/โครงการ หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มที่เรียกว่า ASEAN STI Partnership Contribution ซึ่งให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมการนำ วทน. ไปใช้ประโยชน์ในวงเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปีที่ผ่านมาได้มีประเทศสมาชิกร่วมลงทุนเพิ่มอีกประเทศละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการนำ วทน. เข้ามาเป็นกลไกพื้นฐานในการนำ   อาเซียนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เราให้การสนับสนุนและผลักดันเสมอมา และในปี 2019 หรือ พ.ศ. 2562 นี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยได้รับโอกาสให้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนหรือ ASEAN Thailand Chairmanship ในทุกๆ บริบท กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้เสนอการจัดทำแผนที่นำทาง ด้านนวัตกรรมของอาเซียน หรือ ASEAN Innovation Roadmap 2019-2025 ซึ่งเราจะใช้ Roadmap ระดับภูมิภาคนี้กำหนดแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน ให้ครอบคลุมทั้งระบบ การสร้างเครือข่ายรวมทั้งการเข้าถึงประชาชน และสร้างศักยภาพในการรองรับการเปลี่ยนแปลงด้าน วทน.

สำหรับการจัดงาน ASEAN Next 2019 ในครั้งนี้มีกิจกรรมที่หลากหลาย และมีหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ดังนี้

การจัด Forum ในสาขาด้าน วทน. ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ในการจัดทำแผนงานความร่วมมือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ

  1. การปฏิรูปความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.)
  2. โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพเพื่อการเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมและศักยภาพทางการแข่งขัน โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)
  3. เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อนวัตกรรมทางวัตถุ โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)
  4. เครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นกรณีศึกษาว่าด้วยผลกระทบของศักยภาพด้านนวัตกรรมไทย-ญี่ปุ่น โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.)

นอกจากนี้ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน วทน. ของ      อาเซียน ได้แก่

Advertisement
  1. Quality Audit for Personal Dosimetry for Individual Monitoring Service Laboratory in Southeast Asia โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)
  2. Enhancement of capacity building for FCM testing laboratories among ASEAN member states โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
  3. ASEAN Sustainable and Environmental Materials Workshop โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
  4. ASEAN Workshop on Green Construction Material for Community and MSMEs โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
  5. Railway technology for track and Rolling stock maintenance โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
  6. International Workshop Bioresource Centre: Connecting the Nature, Creating the Future โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)

การจัดงานในครั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีความตั้งใจและมุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ระหว่างอาเซียน และกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งในปีนี้คือประเทศญี่ปุ่น ที่จะนำไปสู่การขยายเครือข่ายความร่วมมือด้าน วทน. ร่วมกันในอนาคต รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้าน วทน. ของอาเซียนให้ก้าวไกลต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเติบโตทางเศรษฐกิจใน     อาเซียนโดยไทยเป็นผู้มีบทบาทนำ

 

Advertisement