เลี้ยงสัตว์แบบพอเพียง เส้นทางพลิกชีวิต หนุ่มนครศรีธรรมราช

“เพราะผมยึดหลักการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 จึงทำให้สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้จนถึงทุกวันนี้”

คุณนิยม คงเมฆ อยู่บ้านเลขที่ 186 หมู่ 4 ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช โทร. 084-0638634 บอกเล่าถึงสิ่งที่ยึดมั่นในการดำเนินชีวิต จนประสบความสำเร็จ

โรงเรือนเลี้ยงแพะ

ครั้งหนึ่งเขาคือ เกษตรกรผู้ยากจน แต่ในวันนี้เขาคือเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จ  และยังเป็นประธานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนวังอ่าง ซึ่งมีสมาชิกถึง 702 ครัวเรือน ได้ก้าวเดินไปบนอาชีพการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชแบบพอเพียง

ในวันนี้ วังอ่างได้กลายเป็นตำบลที่สามารถผลิตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ ทั้งเป็ด ไก่ แพะ เป็นต้น ส่งจำหน่ายทั้งในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุง

 พลิกจากเกษตรกรยากจนมาสู่พอมีพอกิน

ไก่ที่เลี้ยง ทำรายได้เป็นอย่างดี

จากจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เป็นเกษตรกรที่มีฐานะยากจน จึงทำให้พี่นิยมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลานมาอย่างต่อเนื่อง

“แต่ก่อนลำบากมากครับ โดยเฉพาะหนี้สินมีมากมายเลยครับ แต่ผมก็ไม่ท้อสู้กับภรรยามาตลอด“ พี่นิยม กล่าว

จุดสำคัญที่ทำให้พี่นิยมตัดสินใจปรับเปลี่ยนพลิกชีวิตตัวเองมีสาเหตุมาจากการจำหน่ายผลผลิต ซึ่งถูกพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อกดราคามาโดยตลอด

“ผมเริ่มต้นเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ขายในปี 2539 พอในช่วงปี 2540 ที่ประเทศเราประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นปีที่ผมลำบากมาก เพราะผลิตอะไรออกมาจำหน่ายพ่อค้าจะกดราคามาก และเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด ผมเลยแก้ปัญหาด้วยการไปซื้อรถมอเตอร์พ่วงข้างมาขนผลผลิตไปขายที่ตลาดเอง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มเห็นทางออก”

ไข่ที่ได้จาการเลี้ยงแบบโบราณ ผลิตไม่ทันกับความต้องการ

ที่สำคัญอีกประการ คือ การเข้ามาของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีการสนับสนุนในทุกด้านเพื่อให้สภาพชีวิตความอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ดีขึ้น ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตด้วยการดำเนินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

“พอทำมาจนถึงปี 2547 ตามแนวทางของพระองค์ท่าน ได้ทำให้ผมหลุดพ้นจากสภาพการเป็นหนี้สิน มีรายได้มากขึ้น จนสามารถซื้อที่ดินทำสวนยางพาราได้เพิ่มอีก 40 ไร่

“ในสวนของผมเป็นการทำเกษตรแบบหลากหลาย ปลูกเลี้ยงและขายทุกอย่าง ทั้งพืช ทั้งสัตว์ มีอะไรเรามีขายให้หมด ซึ่งผมก็ทำมาจนถึงทุกวันนี้”

บ่อเลี้ยงปลาดุก

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชีวิต ทำให้เขาเริ่มมองถึงเพื่อนเกษตรกรที่อยู่รอบข้าง ซึ่งยังต้องประสบปัญหาอีกมากมาย และได้กลายมาเป็นการเริ่มต้นของการรวมกลุ่ม และขยายผลจนถึงมาวันนี้

จาก 18 คน มาเป็น 702 ครัวเรือน

“เกษตรกรในตำบลวังอ่างนั้น ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำกันมาอย่างยาวนาน แต่ก็เหมือนกับเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมาก ที่ต้องประสบปัญหาในการประกอบอาชีพมากมาย ทำให้มีสภาพความอยู่ที่ค่อนข้างยากจน แม้ว่าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานจะเข้ามาช่วยส่งเสริมในด้านต่างๆ แต่เราก็อยู่ในสภาพที่ล้มลุกคลุกคลานกันมาตลอด”

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องอยู่ในสภาพดังกล่าวคือ การขาดการรวมพลังที่เข้มแข็ง

อาหารแบบโบราณที่ผลิตขึ้นใช้เองภายในฟาร์ม

ดังนั้นเมื่อมองเห็นปัญหา จึงเป็นที่มาของการปรึกษาพูดคุยและรรวบรวมเกษตรกรในพื้นที่ที่มีแนวจะร่วมกันพัฒนา จัดตั้งขึ้นเป็นกลุ่ม

“เราเริ่มมีการตั้งกลุ่มกันในปี 2549 ครั้งแรกเรารวมคนได้ 18 คน และเริ่มต้นทำกัน ท่วมกลางสายตาชาวบ้านที่มองว่าพวกผมบ้า” คุณนิยมกล่าว

เมื่อรวมกลุ่มกันขึ้น สิ่งที่พวกเขาทำคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจกรรมของสมาชิก จากที่ทุกคนต้องมาร่วมกันทำกิจกรรมที่กลุ่ม เช่น การเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ก็เปลี่ยนเป็นให้สมาชิกนำสัตว์กลับไปเลี้ยงที่บ้านสมาชิกแทน และนำผลผลิตที่ได้มาจำหน่ายให้กับทางกลุ่ม จากที่เราทำแบบนี้ ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ทั้งรูปแบบการทำงานที่ประสบความสำเร็จและเกษตรกรโดยทั่วไปต่างให้ความสนใจกันมากขึ้น และสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่ม

คุณนิยม คงเมฆ

“ตอนนี้เรามีสมาชิกถึง 702 ครัวเรือน ซึ่งแต่ละคนจะมีการเลี้ยงสัตว์หรือทำกิจกรรมอย่างใดนั้นจะมีคณะกรรมการของกลุ่มเป็นผู้พิจารณาให้ โดยเราจะคำนึงถึงความพร้อมและควารมสามารถของเกษตรกร ความเหมาะสมของพื้นที่ เมื่อผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะมีการส่งปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้ไปเลี้ยง”

การดำเนินการของกลุ่มนั้นเป็นไปทม่ามกลางการสนับสนุนและให้กำลังใจของหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สนับสนุนพันธุ์สัตว์และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้อย่างต่อเนื่อง อีกสิ่งที่เราทำคือ การจัดการประกวดเกษตรกรของกลุ่มเรา โดยจะมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่เข้ามาเป็นร่วมเป็นกรรมการกับทางกลุ่ม เมื่อมีกาปรระกวดได้ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกของเราเกิดความตื่นตัวอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความสำเร็จ

“เพราะทุกคนจะมีความภาคภูมิใจครับ เพราะนอกจากจะมีรางวัลให้เช่น พันธืเป็ด พันธืไก่ หรืออาหารต่างๆ ที่สำนักงานปศุสัตว์สนับสนุนมากให้ เรายังมีการจัดทำป้ายไปติดให้ที่หน้าของผู้ชนะการประกวดทุกคนด้วย ซึ่งเราจะเปิดให้ทุกคนที่สนใจเข้าร่วมประกวดได้ ตอนนี้มีหลายคนที่กลายเป็นเกษตรกรตัวอย่างแล้ว เพราะสามารถคว้ารางวัลเกษตรกรดีเด่นได้ถึง 3 ปี ซ้อน มีป้ายไปติดที่หน้าบ้านถึง 3 ป้าย ตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่เกษตรกรสมาชิกของเราภูมิใจมาก“ คุณนิยมกล่าว

เน้นการเลี้ยงแบบโบราณที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

หนึ่งในเกษตรกรเครือข่าย ซึ่งได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ

สำหรับรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ทั้งที่พี่นิยมได้ปฏิบัติอยู่รวมถึงในกลุ่มสมาชิก พี่นิยมบอกว่า เป็นรูปแบบการเลี้ยงที่เรียกว่า “แบบโบราณ”

“เป็นวิธีการเลี้ยงสัตว์ที่รุ่นพ่อแม่ของเราทำมาตั้งแต่อดีต แต่เราลืมไป ไม่นำมาใช้ ซึ่งภายในกลุ่มเรามีการพุดคุยปรึกษากัน เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี เพราะสามารถใช้ของที่มีอยู่รอบตัวมาเป็นอาหาร มาเป็นยารักษาโรคสัตว์ได้ เช่น สมุนไพรต่างๆ พืชอาหารสัตว์ต่างๆ “

“ผลที่ออกมานั้นแม้ว่าสัตว์ที่เลี้ยงต้องใช้เวลาในการเลี้ยงมากขึ้น เช่น ถ้าเลี้ยงแบบใช้อาหารสำเร็จรูป จะขายได้หลังจากเลี้ยงไป 4 เดือน แต่วิธีการของเราต้องใช้เวลาถึง 5 เดือนจึงขายได้ แต่สิ่งที่เราดีกว่าคือ ใช้ต้นทุนต่ำ เพราะไม่ต้องเสียเงินมากมายไปกับการซื้ออาหารสำเร็จมาใช้ ทำให้เรามีกำไรเหลือมากขึ้น”

จากวิธีการดังกล่าว นอกจากจะทำให้การเลี้ยงสัตว์สามารถลดต้นทุนได้แล้ว ยังเป็นการเลี้ยงที่ปลอดภัยด้วยเพราะไม่มีการใช้สารเคมีต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น การใช้สารเร่งต่างๆ

“ตอนนี้ผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าของผมเขาชอบมาก หากบอกว่า เป็นไข่ หรือเนื้อสัตว์ที่มาจากการเลี้ยงแบบโบราณ จะได้หมดเลยครับ จนตอนนี้ที่เราผลิตอยู่นั้นไม่เพียงพอกับความต้องการ ผลิตเท่าไรก็ขายหมด เพราะเขารู้ว่าเลี้ยงแบบนี้กินแล้วปลอดภัย  ซึ่งในอนาคตนั้นเราก็กำลังมองไปถึงรูปแบบการเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์ ซึ่งตอนนี้ได้มีการร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ามาช่วยอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรสมาชิก ซึ่งในอนาคตที่นี่อาจเป็นแหล่งปศุสัตว์อินทรีย์ที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่ง“ คุณนิยม กล่าวในที่สุด

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2563