อ่างเก็บน้ำหนองด้าง ตัวอย่างการจัดการน้ำ เพื่อชีวิตของคนในชุมชน ที่จอมทอง

“น้ำคือพื้นฐานของชีวิต” การมีแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และตามสภาพทางภูมิศาสตร์ ล้วนมีผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนทั้งด้านการใช้น้ำเพื่อดื่ม เพื่อใช้ การประกอบอาชีพ เป็นสถานที่พักผ่อนและท่องเที่ยว ออกกำลังกาย การประกอบพิธีกรรม วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ฯลฯ การที่จะรักษาสภาพของแหล่งน้ำให้เป็นธรรมชาติสมบัติของชุมชนได้อย่างยั่งยืนนั้น นอกจากการจัดการดูแล บำรุงรักษาที่ดีพอแล้ว ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ทั้งคน งบประมาณด้วย

ขอนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำของชุมชนข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดผลจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการบูรณาการร่วมกันทั้งผู้นำชุมชน คนในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ เพื่อการบรรลุผลประโยชน์ร่วม

หนองด้าง เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ อยู่ที่ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยลักษณะทางภูมิประเทศของพื้นที่อำเภอจอมทอง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบกว้างระหว่างริมฝั่งแม่น้ำปิงและลำน้ำแม่กลาง ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่นกระจายในพื้นที่ มีพื้นที่หุบเขาเชิงเขาทางทิศตะวันตก และมีพื้นที่ราบลุ่มทางทิศเหนือ ลาดเอียงเล็กน้อยจากเชิงดอยอินทนนท์ หนองด้างจึงเป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปิง พื้นที่ดังกล่าวใช้ประโยชน์ในการทำนา ทำสวน ทำไร่ ไม้ยืนต้น เช่นลำไย

หนองด้าง ได้รับการพัฒนาให้เป็นอ่างเก็บน้ำโดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้คัดเลือกให้เป็นแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ ซึ่งแต่เดิมนั้นอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ตื้นเขินจึงได้ทำประชาคมหมู่บ้านและคนในชุมชนเห็นด้วยที่จะฟื้นฟู รักษาสภาพแหล่งน้ำด้วยการขุดลอกให้กว้างและลึกให้เกิดประโยชน์ด้านการเกษตร ประมง และแหล่งอาหาร

การบูรณาการความร่วมมือในพื้นที่
มุมมองของผู้นำชุมชนในพื้นที่

คุณชรัณชิต แสนใจบุญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลข่วงเปา โทร. (082) 890-2295 ได้ให้ข้อมูลว่า อ่างเก็บน้ำหนองด้างเป็นที่สาธารณะ ครอบคลุม 3 หมู่บ้าน ได้แก่หมู่ที่ 3, 5, 9 และมีองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่ ในอดีตนั้นมีการบริหารจัดการกันมาเช่นไร ตนเองขอไม่กล่าวถึง แต่เมื่อตนเองได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เห็นว่าอ่างเก็บน้ำหนองด้างกับผู้คนในชุมชนมีวิถีชีวิตผูกพันกันมาอย่างยาวนาน มุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำที่ก่อเกิดประโยชน์แก่คนและชุมชน ให้เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน ให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจว่าตนเองเป็นเจ้าของแหล่งน้ำสาธารณะนี้ มีสำนึกในการดูแลอ่างเก็บน้ำ เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติก็จะมีกลุ่มไลน์เฝ้าระวังเหตุ และแจ้งเหตุได้ทันที จึงได้ดำเนินการบริหารจัดการด้วยวิธีการต่างๆ ร่วมกับหลายภาคส่วน

คุณชรัณชิต แสนใจบุญ

การบริหารจัดการพื้นที่รอบอ่างน้ำ ได้มีการปรับปรุง ทำถนนอย่างดีมาก่อนแล้ว และมีการปูพื้นทางเท้าให้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย มีระยะทางยาว 1,000 เมตร มีพื้นที่ว่างรอบอ่างเก็บน้ำก็เปิดโอกาสให้คนในชุมชนใครก็ได้ที่มีความขยันปลูกพืชผักได้ แต่ต้องดูแลด้วยตนเอง ให้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำมารดผัก เจ้าของเก็บกินหรือขายเอง ขายให้แก่คนที่มาออกกำลังกาย หรือนำไปขายที่ตลาดเป็นรายได้ของครัวเรือน เศษของผักก็ขอให้นำไปใช้เป็นอาหารปลา ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือที่ดี

การบริหารจัดการทรัพยากรปลา จากการที่กรมประมง โดยประมงอำเภอจอมทอง ได้นำพันธุ์ปลามาปล่อย ในลักษณะของประมงหมู่บ้าน หมู่บ้านก็จะบริหารจัดการกันเอง ผู้ใหญ่ชรัณชิต บอกขั้นตอนการบริหารจัดการปลาในอ่างว่า 1. หลังการปล่อยพันธุ์ปลาแล้ว ก็จะมีการประชาคมแต่ละหมู่บ้าน แล้วตั้งกรรมการร่วมกันดูแลปลาไม่ให้มีใครเข้ามาจับปลาก่อนได้รับอนุญาต 2. เมื่อปลาเติบโต มีการแพร่พันธุ์ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ก็จะเปิดให้มีการประมูลจับปลาไปขายโดยกำหนดช่วงเวลาจับปลาได้ภายในเวลา 2 เดือน พ้นกำหนดเวลาก็จะประกาศเสียงตามสาย อนุญาตให้คนในชุมชนข่วงเปา หรือจากชุมชนอื่นๆ จับปลาได้ฟรี เป็นเวลา 3 เดือน จับปลาด้วยอุปกรณ์ที่อนุญาตให้จับเท่านั้น จะนำไปประกอบอาหารที่บ้านหรือนำไปขายเป็นรายได้ให้แก่ครัวเรือนก็แล้วแต่ ไม่มีเงื่อนไข

แหล่งอาหาร

แม้จะเปิดโอกาสให้มีการจับปลาโดยเสรี หลังจากพ้นเวลาจะประกาศงดจับปลาทุกกรณี เพื่อการพักอ่างเก็บน้ำ แต่ในอ่างก็ยังมีปลาอยู่จำนวนมาก ปล่อยให้แพร่พันธุ์และรอการปล่อยปลาในครั้งต่อไป 3. จัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ คือนำเงินที่ได้มาจากการประมูลแบ่งให้ 3 หมู่บ้าน เพื่อนำไปพัฒนาชุมชน และให้เป็นกองทุนชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลข่วงเปา แต่มีจำนวนเงินน้อยกว่าจัดสรรให้ 3 หมู่บ้าน

ผู้ใหญ่ชรัณชิต ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่คนในชุมชน และชุมชนได้รับจากอ่างเก็บน้ำหนองด้างมีมากมาย ได้แก่

  1. เป็นพื้นที่ทำมาหากิน และหารายได้ของคนในชุมชนที่ขยันปลูกพืชผักไว้เป็นอาหารในครัวเรือน หรือขาย
  2. เป็นพื้นที่ทำประมงหมู่บ้าน ผลิตอาหาร คือ ปลา ไว้กินในครัวเรือน หรือขายเป็นรายได้
  3. น้ำจากอ่างเก็บน้ำ นำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรในสวน หรือไร่นาของเกษตรกรได้
  4. มีรายได้จากการเปิดให้มีการประมูล นำเงินเข้าหมู่บ้าน นำไปพัฒนาในด้านต่างๆ
  5. เป็นสถานที่ออกกำลังกาย-พักผ่อน

ส่วนราชการที่มีบทบาทสำคัญในการบูรณาการอ่างเก็บน้ำหนองด้างคือ ประมงอำเภอ คุณวิลาศ กล่อมสุนทร อดีตประมงอำเภอจอมทอง ได้ให้ข้อมูลว่า ประมงหมู่บ้านเป็นโครงการหนึ่งของกรมประมง ที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาท้องถิ่น วัตถุประสงค์ที่สำคัญ ต้องการจะบูรณะ ขุดลอกและก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 100 ไร่ และอยู่ใกล้หมู่บ้าน ให้สามารถกักเก็บน้ำให้คนในหมู่บ้านใช้อุปโภคและบริโภคได้ อีกทั้งยังมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นอาหารของคนในหมู่บ้าน มีการอบรมให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ การบริหารแหล่งน้ำแบบง่ายๆ อย่างกรณีอ่างเก็บน้ำหนองด้าง นับได้ว่าเป็นการบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง กล่าวคือ คนในหมู่บ้านมีน้ำใช้ และมีการจับสัตว์น้ำไว้กิน หรือขายเป็นรายได้ของตนเองและชุมชน ทำให้การอพยพไปหางานนอกหมู่บ้านน้อยลง

คุณรุ่งสุริยา เชียงชีระ และคุณวิลาศ กล่อมสุนทร

คุณวิลาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลัก ในการบริหารจัดการทรัพยากร และพัฒนาในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ หมู่บ้านหรือชุมชน โครงการบริหารจัดการน้ำด้านการประมงเพื่อชุมชน สามารถสร้างเสริมให้คนในชุมชนมีความเข้าใจ ในทรัพยากรน้ำ และเพื่อให้นำชุมชน คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนในชุมชน มีส่วนร่วมในการวางแผน และตัดสินใจ บนข้อมูลพื้นฐานของชุมชน และด้านวิชาการ โดยประมงอำเภอเป็นผู้ให้คำแนะนำ แต่ละปีประมงอำเภอจอมทอง ให้การสนับสนุนในด้านพันธุ์ปลา นำมาปล่อยลงอ่างในวันสำคัญๆ ของประเทศ อาทิ วันที่ 3 มิถุนายน, 28 กรกฎาคม, 12 สิงหาคม, 5 ธันวาคม

แต่ก่อนที่จะดำเนินการปล่อยพันธุ์ปลา จะต้องมีการทำการประชาคมในหมู่บ้าน และช่วยกันเตรียมความพร้อมของอ่างเก็บน้ำ พันธุ์ปลาที่นำมาปล่อยมีหลายชนิด ได้แก่ ปลาจีน ปลาไน ปลาสร้อย ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ ปลาตะเพียน รวมจำนวนแต่ละครั้ง 100,000 ตัว เมื่อทำการปล่อยพันธุ์ปลาแล้ว ก็มอบหมายให้คณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี พันธุ์ปลาต่างๆ ได้เจริญเติบโต และมีการแพร่พันธุ์ จะอนุญาตให้มีการจับปลา ด้วยอุปกรณ์จับปลาที่อนุญาตให้นำมาใช้ ในเรื่องการจัดการผลประโยชน์ ก็แล้วแต่ชุมชนจะตกลงกันเอง

 

การพัฒนาก้าวต่อไปโดยองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา

คุณรุ่งสุริยา เชียงชีระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา (อบต.ข่วงเปา) โทร. (089) 556-7155 ได้กล่าวว่าทาง อบต.ข่วงเปา ได้เข้ามาสนับสนุนการสร้างเสริมเติมต่อการบริหารจัดการพื้นที่อ่างเก็บน้ำหนองด้าง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 90 ไร่ เป็นพื้นที่ท้องน้ำเสีย 63 ไร่ เท่าที่ผ่านมาทั้งพื้นที่โดยรอบอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ท้องน้ำในอ่าง ก็ได้รับการพัฒนามาดีแล้วในระดับหนึ่ง ทั้งการปรับปรุงถนนโดยรอบ และการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ทาง อบต.ข่วงเปา ก็จะพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้น โดยได้พูดคุยกับหลายฝ่ายแล้วว่า จะดำเนินการอยู่หลายเรื่อง ให้พื้นที่รอบอ่างเป็นสวนสาธารณะ ส่วนพื้นน้ำก็ให้เป็นแหล่งอาหาร

  1. ต้องการจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.10
  2. พัฒนาให้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย ที่มีอุปกรณ์ครบถ้วน ถูกต้องตามสุขอนามัยคือ การส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัย
  3. ให้เป็นสถานที่พักผ่อนของคนในชุมชน หรือคนที่เดินทางมาจากไกลๆ หรือจากต่างถิ่นได้มาพักผ่อนที่นี่ได้
  4. บริเวณพื้นน้ำในอ่างเก็บน้ำ จะจัดทำเรือนแพลอยน้ำ อาจใช้เป็นที่สันทนาการได้

ปัจจุบันที่ อบต.ข่วงเปากำลังดำเนินการอยู่คือ ปรับปรุงพื้นที่ทำเป็นสวนหย่อม จะจัดซื้อจัดหาเครื่องออกกำลังกาย ทั้งจะทำการเรียงหิน และปูหญ้ารอบขอบอ่าง ติดตั้งรั้วเตี้ยๆ เพื่อความปลอดภัย จ้างคนดูแลสวน เพราะอาจต้องมีการกำหนดเวลาปิด-เปิดสวนสาธารณะ ทั้งจะจัดหาถังขยะ วางเป็นจุดๆ เพื่อรักษาความสะอาดของสถานที่

มีสถานที่ออกกำลังกาย

ในระยะเวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า น่าจะมีการตั้งกลุ่มหรือชุมชนประมงท้องถิ่นเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมรอบอ่างเก็บน้ำและดูแลการบริหารทรัพยากรปลา ที่ทางประมงอำเภอจอมทอง ซึ่งคุณวิลาศ กล่อมสุนทร แม้จะเกษียณราชการแล้ว ก็ยังช่วยการประสานงานอยู่ โดยการปล่อยปลาในวันสำคัญๆ ของประเทศก็ยังดำเนินการเช่นเดิม เพียงแต่อาจปรับเปลี่ยนวิธีการ ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งเป็นผู้จ่ายในลักษณะของการกุศล และได้รับประโยชน์จากการเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้

ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้นั้น นอกจากงบของ อบต.ข่วงเปา แล้ว จะเสนอโครงการไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดกิจกรรม จากการบริหารทรัพยากรปลามาสมทบ

เมื่อพื้นที่ทั้งพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ และส่วนของพื้นน้ำในอ่าง ได้รับการบริหารจัดการที่ดี อ่างเก็บน้ำหนองด้าง จะก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน จะเห็นภูมิทัศน์ที่สวยงาม สามารถมองเห็นขุนเขาอินทนนท์ ใหญ่น้อยสลับซับซ้อน สวยงามในยามเย็น เป็นที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ได้เดินกินลมชมหมอก สนุกสนานเพลิดเพลินกับสีสันของดอกไม้ มีเครื่องออกกำลังกายให้คนรัก (ษ์) สุขภาพ มีสวนสาธารณะ น้ำไหล ไฟสว่าง สะอาดสะอ้าน

ชาวบ้านปลูกผักริมอ่าง
แหล่งสันทนาการ