เทคโนโลยีการเกษตร ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต YSF

เกษตรกรไทยรุ่นใหม่ Young Smart Farmer รู้จักเรียนรู้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ Smart Farm เข้ามาช่วยทำอาชีพเกษตรแบบยั่งยืน ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการทำเกษตรอย่างเดียวแบบยุคเก่า พัฒนาเป็นนักธุรกิจการเกษตร ทำเกษตรแบบสมัยใหม่ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรของตนเอง สร้างรายได้มั่นคงให้กับตนเอง

นายพัชรพล โพธิ์พันธุ์ (โลตัส) Young Smart Fammer ปี 2560 จากจังหวัดชัยนาท เป็นหนึ่งตัวอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากการเริ่มต้นเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมมาเป็นนักธุรกิจการเกษตรรุ่นใหม่ ลบความคิดและความเชื่อเก่าๆ ในสังคม ที่ว่าเกษตรกรต้องใช้แรงงานแลกเงินไปวันๆ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เป็นคนระดับล่าง รายได้ต่ำ มีหน้าที่แค่เป็นเพียงผู้ผลิต สู่การทำอาชีพการเกษตรสมัยใหม่ที่ให้มูลค่าสูงและมีความมั่นคงยั่งยืน มีอิสระในการทำงาน สร้างรายได้ดีและสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ จนเป็นเจ้าของ สมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) เห็ดแบรนด์ใช้ชื่อเห็ด Java Farm Chainat ที่ปัจจุบันสามารถพัฒนาและสร้างรายได้จากเห็ดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณ 7 แสนบาท ต่อปี เทียบกับจากที่เริ่มทำในระยะปีแรกๆ ประมาณ 3 แสนบาท ต่อปี


พัชรพล เล่าว่า ได้เริ่มต้นเข้าสู่อาชีพเกษตร เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา เหตุที่เลือกทำฟาร์มเห็ด เพราะอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่เหมาะสมกับประเทศไทยและมองเห็นว่าการเกษตรของไทยมีอนาคตที่ก้าวหน้าไปได้ดี โดยก่อนหน้านั้นตนเองทำอาชีพโปรแกรมเมอร์ พอมีครอบครัวมีลูกจึงคิดมองหาอาชีพที่จะเป็นหลักยึด เป็นอาชีพประจำที่มั่นคงในระยะยาว และมีเวลาที่เป็นอิสระมากขึ้น จึงตัดสินใจทำฟาร์มเห็ดดังกล่าว พร้อมกับศึกษาแนวทางการทำเกษตรที่เหมาะสม และไม่เป็นแบบดั้งเดิมคือ การเป็นเกษตรกรที่ตั้งหน้าตั้งตาปลูกพืชทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว จึงเริ่มต้นด้วยการยกระดับฟาร์มเห็ดธรรมดา ให้เป็น “สมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm)”

การทำสมาร์ทฟาร์มเห็ดของ “พัชรพล” ได้รับการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเป็นโรงเรือนเห็ดระบบปิด ปรับอากาศภายในด้วยระบบ Evap ควบคุมด้วยระบบเซ็นเซอร์อุณหภูมิ ให้ความชื้นด้วยการพ่นหมอก และ CoolingPad สามารถควบคุมและเฝ้าดูการทำงานของระบบผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือได้ตลอดเวลา จึงทำให้สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับเห็ดที่เปิดดอกได้ ลดการปนเปื้อน ได้ผลผลิตใกล้เคียงกันตลอดทั้งปี ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น นับเป็นการเน้นใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุนของเจ้าของกิจการ โดยสามารถลดการจ้างงานในการผลิตก้อนเชื้อเพื่อจำหน่ายแบบประณีตด้วยระบบนึ่งฆ่าเชื้อแบบอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดแปรรูป เช่น น้ำพริกเห็ดกรอบ เห็ดสวรรค์ แหนมเห็ด ข้าวเกรียบเห็ด ออกจำหน่ายด้วย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากเห็ด และเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการเข้าร่วมเป็น Young Smart Fammer กับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์เห็ดให้มากขึ้น และใช้การตลาดแบบออนไลน์มาเป็นส่วนช่วยในการขยายช่องทางการตลาด

พัชรพล กล่าวอีกว่า ก้าวต่อไป จะพัฒนาการปลูกพืชในระบบโรงเรือนและระบบไร้ดิน หรือ Hydroponics เช่น มะเขือเทศ และเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ เช่น จิ้งหรีด เพื่อรองรับเทรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารจากจิ้งหรีดที่กำลังเป็นเทรนด์อาหารในอนาคต เนื่องจากมีโปรตีนสูง สามารถพัฒนาต่อยอดแปรรูปเป็นอาหารอบกรอบ เค้กจิ้งหรีด จิ้งหรีดเคลือบช็อคโกแลต และอื่นๆ ได้ อีกทั้งเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงการเกษตรและร้านค้าผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม

“การพัฒนาระบบสมาร์ทฟาร์มเห็ดของผม ปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดี เราสามารถถ่ายทอดส่งต่อให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ นำไปใช้ได้ และเป็นระบบต้นแบบ ที่พร้อมเป็นศูนย์ถ่ายทอดการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่สนใจเกี่ยวกับการทำเห็ดในระบบสมาร์ทฟาร์ม เกษตรกรจะได้เรียนรู้ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีการประหยัดแรงงาน การพัฒนาเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูงขึ้นและมีผลผลิตสม่ำเสมอตลอดทั้งปี พร้อมให้ความรู้ทางด้านการทำตลาด ซึ่งวางกรอบไว้ว่า ประมาณเมษายน 2563 จะสามารถเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ได้” พัชรพล กล่าว
สำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำสมาร์ทฟาร์มเห็ด พัชรพล เล่าว่าสำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนวางระบบสมาร์ทฟาร์มเห็ด 02 มีระดับค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 75,000 ถึง 350,000 บาท ต่อขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 3 คูณ 12 เมตร ถึงขนาด 6 คูณ 22 เมตร โดย ขนาดพื้นที่ 3 คูณ 12 เมตร จะวางก้อนเชื้อเห็ดได้ประมาณ 7,000 ก้อน ส่วนขนาด 6 คูณ 22 เมตร สามารถวางก้อนเชื้อเห็ดได้ประมาณ 25,000 ก้อน และมีค่าใช้จ่ายในการซื้อเชื้อก้อนเห็ดที่ประมาณ 8.00-8.50 บาท ต่อก้อน โดยผลผลิตเห็ดที่ได้ ควรได้เฉลี่ย ก้อนละ 300 -350 กรัม ระยะเวลาได้ผลผลิตนาน 5 เดือน


พัชรพล ทิ้งทายในเรื่องการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วยว่า ไม่ใช่แบบเกษตรกรรุ่นเก่า ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตของตนเองได้ เกษตรกรรุ่นใหม่จะต้องมีความรู้ ความสามารถ ในเรื่องการบริหารธุรกิจการเกษตรด้วย รู้จักการพัฒนาต่อยอดสินค้าของตนเองให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น และมีการจัดระบบบัญชีเพื่อดูแลต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และคิดเป็นกำไรขาดทุนของตนเองได้ จะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ด้วยหลักแนวคิด “เทคโนโลยีการเกษตร คือ สิ่งที่จะมายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย”