จรัญ เจริญทรัพย์ คนดำเนินฯ สร้างฐานะด้วยมะพร้าวน้ำหอม จาก 1 เป็น 100 ไร่

คุณจรัญ เจริญทรัพย์ เกษตรกรสวนมะพร้าวในอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เจ้าของกิจการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมทั้งลูกสดและแปรรูป ใครจะรู้ว่ากว่าที่จะมาเป็นเจ้าของสวนมะพร้าว กว่า 120 ไร่ เมื่อก่อนเคยติดหนี้สินจนเกือบจะเสียที่นาที่มีอยู่เพียง 1 ไร่ ไปแล้ว

ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งประธานสภายุวเกษตรจังหวัดราชบุรี และประธานวิสาหกิจชุมชนอำเภอดำเนินสะดวก ทำธุรกิจส่วนตัวในฐานะผู้ประกอบการส่งออกผักและผลไม้ อยู่บ้านเลขที่ 196 หมู่ที่ 2 ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เคยได้รับรางวัล A Model Farmer From The Kingdom of Thailand โดย Food and Agriculture Organization of The United Nations จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานวันอาหารโลกประจำปี 2556 ที่จัดขึ้น ณ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ หรือ (FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

คุณจรัญ กับผลงานที่ยอดเยี่ยม

ประวัติของคุณจรัญนั้น เดิมทีพ่อแม่ทำสวนปลูกพืชล้มลุกจำพวก พริก ต้นหอม แตงกวา เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตั้งแต่ยังเยาว์วัยมีความฝันอยากเป็นข้าราชการ แต่ไม่ได้เรียน เพราะฐานะทางบ้านยากจน มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน พ่อกับแม่ได้รับมรดกจากคุณตามา 1 ไร่ ตอนทำสวนใหม่ๆ ที่ดินที่มีอยู่นั้นเกือบหลุดไปเป็นของนายทุน เพราะกู้เงินมาทำไร่ ต้องเช่าที่ 7 ไร่ มาทำสวน เพราะที่เพียง 1 ไร่ นั้นไม่พอกิน มีขาดทุนบ้าง ได้กำไรบ้าง สลับกันไป ช่วงที่ทำแล้วได้กำไรก็จะเก็บเงินที่ได้เอาไว้ลงทุนในรอบต่อไป แต่ถ้าขาดทุนก็จะไปยืมเงินมาลงทุนวนอยู่แบบนี้ประมาณ 6-7 ปี จนมีความรู้สึกว่าไม่อยากที่จะทำเกษตรแล้ว เพราะทำแล้วยิ่งเป็นหนี้ พ่อกับแม่ก็เหนื่อยมาก 

ตัดสินใจเลิกทำเกษตรเพราะเป็นหนี้

จุดเปลี่ยนของชีวิตก็มาถึงเมื่อเขาตัดสินใจเลิกทำเกษตร เพราะเป็นหนี้และไม่มีเงินไปใช้ เขาจึงตัดสินใจหยุดและยอมไปเป็นลูกจ้าง ทำงานรับจ้างทำสวนทั่วๆ ไป แต่ในขณะที่ทำสวนก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า ทำไมคนทำสวนบางคนเขาถึงรวย จึงตัดสินใจไปลงแขกกับคนที่ทำการเกษตรแล้วประสบความสำเร็จ จึงทำไปด้วยศึกษาไปด้วย สุดท้าย จึงรู้ว่าพืชมีระยะเวลาการกินอาหาร มีระยะเวลาการพักผ่อน ทำให้เริ่มเข้าใจพืชและเริ่มเข้าใจการปลูกพืชมากกว่าเดิม เริ่มรู้ว่าฤดูกาลสามารถวางแผนให้ได้ราคาว่าปลูกแล้วขายได้ราคาดีกว่าเมื่อก่อน เช่น มีการพักดินและปลูกในช่วงจังหวะที่พืชได้ราคา

เขาใช้เวลาในอาชีพรับจ้างประมาณ 2 ปี เก็บเงินที่รับจ้างไปใช้หนี้ ซึ่งขณะนั้นเป็นหนี้เกือบหนึ่งแสนบาท เมื่อใช้หนี้หมดแล้วจึงมีความคิดที่อยากจะกลับมาทำสวนอีกครั้ง

(ซ้าย) อาจารย์ประทีป กุณาศล ที่ปรึกษานิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และ คุณจรัญ เจริญทรัพย์ ที่ถือในมือ คือมะพร้าวพร้อมส่งออก

เริ่มต้นสู่การพัฒนา

เริ่มแรกคุณจรัญนำความรู้ที่ได้จากการเป็นลูกจ้างมาปลูกข้าวโพดฝักอ่อน เพราะข้าวโพดฝักอ่อนเป็นพืชระยะสั้น 45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ และสามารถขายได้ในตลาดทั่วไป ลงทุนน้อย ไม่ต้องฉีดยาใส่ปุ๋ยมากมาย เพราะว่าเมื่อก่อนปลูกพริก ปลูกหัวหอม หวังพึ่งแต่ยาเคมี ใครบอกว่าอันไหนดี ก็ไปซื้อตามมาใช้ ไม่มีเงินซื้อก็ไปหายืมเขามา แต่พอได้ทำใหม่การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนไม่ต้องใช้ยาหรือสารเคมี เงินที่รับจ้างมาก็เอามาเป็นเงินทุน

พอถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เริ่มแรกก็ส่งเข้าโรงงาน ต่อมาได้เรียนรู้ว่า ถ้าไม่ขายให้โรงงานก็สามารถที่จะแปรรูปเองได้ จึงเริ่มนำข้าวโพดฝักอ่อนมาปอกแล้วใส่ถุงขายในตลาดศรีเมืองบ้าง ฝากรถขายในตลาดในกรุงเทพฯ บ้าง ตลาดสี่มุมเมืองบ้าง พอมาทำแล้วเลยได้เรียนรู้การตลาด การแปรรูป แล้วก็นำความรู้ที่มีมาพัฒนากับหน่อไม้ฝรั่ง

ตอนทำข้าวโพดฝักอ่อน ทำอยู่ในพื้นที่ 5 ไร่ ที่ก็เช่าเขามาทั้งหมด ต่อมาเช่าเพิ่มอีก 25 ไร่ ขณะที่ขายข้าวโพดอยู่ที่ตลาดศรีเมืองก็โชคดีที่มีพ่อค้าชาวสิงคโปร์ พ่อค้าชาวมาเลเซียมาเจอ ข้าวโพดฝักอ่อนมีข้อดีคือเก็บอ่อน ฝักสั้น ไซซ์เสมอ ซึ่งแตกต่างจากของคนอื่นที่ไซซ์ไม่เท่ากัน พ่อค้าต่างประเทศมาเห็นก็เลยสนใจ เลยตามมาดูที่สวน

“เขามีล่ามมาด้วย ถามว่าสามารถส่งออกได้ไหม? ผมก็บอกว่าไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะส่งยังไง ภาษาก็ไม่ได้ เขาบอกเขาอยากซื้อ ผมก็บอกว่าผมอยากขาย” คุณจรัญเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้น ซึ่งเขามีอายุเพียง 20 ปี

“หลังจากนั้น ชาวมาเลเซียก็กลับไปและหาวิธีการให้ทางเราส่งออก เขาก็สอนเรา ทั้งเรื่องเอกสารการส่งและเรื่องการแพ็ก ก็เลยเริ่มส่งไปต่างประเทศได้” คุณจรัญ บอก

ตอนนั้นเขาเน้นพืชส่งออก เน้นพืชเศรษฐกิจ รายได้ช่วงนั้นได้เป็นแสนจึงเริ่มเก็บเงินมาเรื่อยๆ เพื่อไปซื้อไร่ แรกๆ ซื้อ 5 ไร่ ต่อมาก็ซื้อ 7 ไร่ แล้วก็ไปซื้อแปลงใหญ่ 10 ไร่ 35 ไร่ เรื่อยมา เก็บเงินได้ก็ซื้อที่ดินอย่างเดียว ขณะนั้นราคาที่ดินไร่ละประมาณ 100,000 บาท แต่ตอนนี้ราคาไร่ละ 500,000 บาท รวมแล้วทั้งหมดก็มีที่ดินทั้งหมด 100 กว่าไร่ และได้เริ่มปลูกมะพร้าวหลังจากจับจุดของการปลูกพืชได้ ตอนนี้ปลูกมะพร้าวมาประมาณ 10 ปี เริ่มต้นกระบวนการแปรรูปมาแล้ว 8 ปี และเริ่มต้นส่งออกมะพร้าวมาได้ 5 ปี จากกลุ่มพ่อค้ากลุ่มเดิมที่มาแนะนำ

ในมะพร้าวที่มี ถ้าตัดมะพร้าวทั้งหมด 32 ไร่ ก็จะได้มะพร้าวประมาณ 14,000 ลูก โดยจะหมุนเวียนการตัด ขณะนี้ขายลูกสดไปต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ส่งไป 3,000 ผล ต่อวัน เข้าโรงงาน 8,000 ผล ต่อวันเช่นกัน ส่วนลูกที่ตกไซซ์ก็จะนำมาแปรรูปเป็นน้ำมะพร้าว 100%, ไอศกรีม, เนื้อและน้ำแช่แข็ง

คนงานกำลังขึ้นรูปมะพร้าว

พลิกปัญหาสู่โอกาส

ปัญหาในการแปรรูปค่อนข้างจะเยอะพอสมควร เพราะมีเรื่องของความสดและความหอมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และน้ำมะพร้าว 100% อาจจะติดเชื้อได้ง่าย จึงเริ่มมีการคิดแก้ปัญหากันเกิดขึ้น อย่างเช่น มะพร้าวแช่แข็งตอนแรกใช้เพียงแค่น้ำธรรมดาล้างก็คิดว่าสะอาดแล้ว แต่ที่จริงแล้วเมื่อล้างน้ำเสร็จแล้วต้องนำมาล้างน้ำมะพร้าวเป็นน้ำสุดท้ายเพื่อให้เนื้อมะพร้าวคงความสด

น้ำมะพร้าวสด 100% จะเจาะก่อนจะนำไปกรองแล้วนำไปใส่ขวด มีกระบวนการฆ่าเชื้อโดยการน็อกเย็น ส่งขายตลาดในกรุงเทพฯ หรือรับออเดอร์จากที่ลูกค้าสั่ง นอกจากเจาะน้ำแล้ว ยังสามารถนำทั้งน้ำและเนื้อมะพร้าวมาแช่แข็งได้อีกด้วย โดยการแช่แข็งในอุณหภูมิถึง 5 องศา สามารถเก็บได้เป็นปี เมื่อละลายน้ำออกมาความสดของเนื้อและน้ำก็ยังคงเดิม เนื้อมะพร้าวแช่แข็งจะส่งโรงงานใหญ่ที่ทำเบเกอรี่ น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ถุงละ 80 บาท

ไอศกรีม เริ่มแรกได้สูตรมาจากที่พัฒนาชุมชนแนะนำ อาจารย์ที่ทำอาหารมาสอนสูตรให้ เคยลองทำเองแต่ว่ารสชาติไม่นิ่ง จนได้อาจารย์มาสอน แรกๆ ทำ ชาวบ้านชิมก่อน หลังจากที่รสชาติมันนิ่งก็รับคำติชมจากชาวบ้านมาแก้ไข และเมื่อชาวบ้านมากกว่า 80% ยอมรับก็นำสูตรนี้มาใช้เลย

ผลิตภัณฑ์การแปรรูปน้ำมะพร้าว 100% ตราจาโคโค่

ทางด้านการตลาด คุณจรัญ ได้กล่าวไว้ว่า “ผมเป็นคนชอบคิดทางตาย เมื่อมีอะไรที่รุ่งมากๆ ไม่นานก็จะตาย ในขณะที่เกษตรกรบอกว่าช่วงนี้กำลังแย่ ผมกำลังมองว่าตอนนี้กำลังปรับตัวน่าจะดี ในขณะที่กำลังรุ่งเรืองเรื่องมะพร้าว ผมว่าอนาคตดับ มันจะมีขั้นตอนให้คิด แล้วถึงเวลาดับเราก็จะสู้ได้ พอเวลามันดับปุ๊บเราก็ดึงมาใช้เลยไอเดียที่เราเก็บไว้เนี่ยว่าเราจะใช้มันตอนไหน เราต้องคิดในตอนที่มันเฟื่องฟู แต่ถ้าไปคิดในตอนที่มันดับ ผมว่ามันไม่ทันแล้ว”

คุณจรัญ ยังบอกอีกว่า มะพร้าวน่าจะไปแปรรูปหรือสร้างมูลค่าได้มากกว่านี้อีกเยอะ สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีคือความรู้ที่เราจะต้องเรียนรู้ไปตลอด และยังทิ้งท้ายไว้ด้วยอีกว่า “จริงๆ ที่ผมฉุกคิดขึ้นได้ ที่เริ่มทำการเกษตรที่พัฒนาใหม่ ผมใช้รูปเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 คือพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ตอนที่ผมทำเกษตรแล้วผมยังจน ผมคงไปเป็นโจรไปแล้ว ถ้าผมไม่หยุดคิดแล้วทำแบบพอเพียง แต่ในศาสตร์ของพระองค์ท่าน มันพอเพียงแล้วก็พอใจ มันหาสุขในทุกข์ให้ได้ ทุกข์มันทุกข์อยู่แล้วแหละ แต่มันต้องหาสุขให้ได้”

สนใจมะพร้าวและผลผลิตแปรรูปจากมะพร้าวติดต่อ คุณจรัญ เจริญทรัพย์ บ้านเลขที่ 196 หมู่ที่ 6 ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โทรศัพท์ (081) 459-6957

เนื้อมะพร้าวแช่แข็ง

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562