ราชมงคลสุวรรณภูมิ คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เวทีระดับชาติ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) คว้ารางวัล Silver Prize จาก Korea Invention Promotion Association และรางวัล Special Award for Innovation จาก King Abdulaziz University จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน Seoul International Invention Fair 2019 (SIIF 2019) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้

อาจารย์ชนะรบ วิชาลัย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.สุวรรณภูมิ เจ้าของผลงาน “นวัตกรรมเครื่องมือทดสอบการรับน้ำหนักของดินแบบอัตโนมัติ” ที่ได้รับรางวัลเปิดเผยว่า สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้น เป็นเครื่องมือทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของดิน สามารถทำการเพิ่มน้ำหนักบรรทุกและอ่านค่าการทรุดตัวจากภายนอกหลุมทดสอบ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้งเครื่องมือนี้ยังสามารถทำการบันทึกค่าการทรุดตัว-น้ำหนักบรรทุกในตัวตามระยะเวลาที่ทำการทดสอบได้ ลดภาระการทำงานของผู้ปฏิบัติงานทดสอบ และยังสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ทแบบไร้สายผ่านระบบบลูทูธได้ เครื่องมือนี้มีส่วนประกอบเป็นชุดแผ่นเหล็กรองรับน้ำหนักที่รับน้ำหนักบรรทุกที่ใช้ทดสอบ ซึ่งอาจเป็นน้ำหนักของเครื่องจักรกลหรือแคร่บรรทุกน้ำหนัก ที่ถ่ายน้ำหนักด้วยแม่แรงที่มีการป้องกันการเยื้องศูนย์ของน้ำหนัก โดยน้ำหนักที่ส่งผ่านจะถูกตรวจวัดด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดน้ำหนักหรือโหลดเซลล์ (Load Cell) เมื่อเกิดการทรุดตัวเกิดขึ้นระหว่างการทดสอบ ค่าการทรุดตัวที่เกิดขึ้นสามารถตรวจวัดได้จากชุดอุปกรณ์วัดการทรุดตัวที่ถูกติดตั้งอยู่โดยรอบของแม่แรง โดยด้านหนึ่งของอุปกรณ์วัดการทรุดตัวถูกติดตั้งเข้ากับคานระดับอ้างอิง ข้อมูลการทรุดตัวและน้ำหนักบรรทุกที่ตรวจวัดได้จะถูกส่งต่อเพื่อแสดงผลในหน่วยแสดงผลระยะใกล้ ซึ่งติดตั้งไว้ภายนอกหลุมทดสอบ ซึ่งหน่วยแสดงผลระยะใกล้นี้สามารถสื่อสารแบบ  ไร้สายเพื่อแสดงผลในชุดควบคุมระยะไกลที่สามารถควบคุมการทำงานของปั๊มไฮดรอลิกในการ ทดสอบแบบอัตโนมัติ ตลอดจนการบันทึกผลการทดสอบและส่งผลการทดสอบขึ้นบนคลาวด์หรือแสดงผลบนอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ได้

นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้ในการทดสอบการรับน้ำหนักของดินในการก่อสร้างฐานรากตื้นบนพื้นดินแข็ง (Plate Load Test) หรือใช้ในการทดสอบการทรุดตัวของเสาเข็มแบบสถิต (Pile Static Load Test) หรือการทดสอบซีบีอาร์ (California Bearing Ratio; CBR) ในงานก่อสร้างถนนได้ตลอดจนสามารถลดอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของดินตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ สามารถผลิต และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ด้วยราคาที่ไม่แตกต่างจากชุดเครื่องมือทดสอบแบบปกติที่มีจำหน่ายในท้องตลาดปัจจุบัน

สำหรับผู้สนใจเครื่องมือทดสอบการรับน้ำหนักของดินแบบอัตโนมัติ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรม มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี โทรศัพท์ (089) 183-1984