มนัญญา ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี แจงมาตรการช่วยเหลือชาวสวนผลไม้รับมือไวรัส-โควิด 19 จับมือห้างโมเดิร์นเทรดและเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศ ร่วมกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคทั่วถึง

“มนัญญา” ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ติดตามสถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออกที่กำลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด คาดผลผลิตจะออกมากในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ประเมินผลกระทบไวรัส-โควิด 19 อาจทำให้การส่งออกผลไม้ไปจีนลดลง เผยเตรียมมาตรการรับมือใช้กลไกสหกรณ์ร่วมกันระบายผลผลิตสู่ตลาดในประเทศ พร้อมทำข้อตกลงกับห้างโมเดิร์นเทรดรับซื้อ ผลไม้คุณภาพจากสหกรณ์

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ประชุมหารือกับตัวแทนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่รวบรวมผลไม้ 79 แห่ง 29 จังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการระบายผลผลิตสู่ตลาด ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์โรคไวรัสโควิด -19 แพร่ระบาดหนักในประเทศจีนและอีกหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุด และลำไย แต่ละปีทางประเทศจีนมีปริมาณการสั่งซื้อผลไม้เหล่านี้จากไทยจำนวนมาก ดังนั้น ต้องกระตุ้นการบริโภคผลไม้ภายในประเทศให้มากขึ้น โดยจะใช้เครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศเป็นกลไกในการระบายผลไม้สู่ตลาดในทุกพื้นที่และเข้าถึงผู้บริโภค ในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งสหกรณ์ที่เป็นแหล่งผลิตผลไม้จะรวบรวมและกระจายผลผลิตส่งให้กับสหกรณ์ผู้ซื้อทั่วประเทศ ช่วงระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน “ได้ของบประมาณ 414.20 ล้านบาทสำหรับบริหารจัดการกระจายผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์สู่ผู้บริโภค โดยให้สหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ส่งผลผลิตไปยังสหกรณ์ผู้ซื้อในจังหวัดต่างๆ เพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคในพื้นที่ โดยจะอุดหนุนค่าบริหารจัดการต้นทางถึงปลายทางประมาณ 4 บาท ต่อกิโลกรัม เป้าหมายเบื้องต้น 8 หมื่นตัน เพื่อกระตุ้นตลาด ซึ่งเมื่อเริ่มโครงการนี้ ตลาดก็มีการเคลื่อนไหว มีคนโทร.มาว่า รมช.ไปทำอย่างไร พ่อค้าเริ่มลงพื้นที่หาของ และล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีก็บอกว่าราคาทุเรียนขยับเพิ่มขึ้น ดิฉันก็อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันบริโภคผลไม้ และขอความร่วมมือห้างโมเดิร์นเทรดช่วยพยุงราคาผลไม้ โดยรับซื้อผลผลิตผ่านสหกรณ์ไปจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดทุกสาขาและขอให้รับซื้อในราคาที่เป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร” นางสาวมนัญญา กล่าว

นอกจากนี้ รมช.เกษตรฯ ยืนยันว่า จะช่วยดูปัญหาเรื่องรับรองแปลงการผลิตที่ดีหรือ GAP เพื่อให้สวนผลไม้ได้รับรองมาตรฐานและสามารถส่งออกได้ โดยได้ลงนามของบจากรัฐ 400 ล้านบาท ให้กรมวิชาการเกษตร (กวก.) ที่ถูกตัดงบ ปี 63 ด้วย โดยจำนวนเงินเป็นไปตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ

ทั้งนี้ งบอุดหนุน 414.20 ล้านบาท จะจัดสรรให้สหกรณ์ต้นทางใช้เป็นค่าบริหารจัดการผลไม้ กิโลกรัมละ 1 บาท ค่าขนส่ง จากแหล่งรวบรวมไปสหกรณ์ปลายทาง กิโลกรัมละ 2 บาท ค่าจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้า กล่อง จำนวน 3.5 ล้านใบ และค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคในพื้นที่ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ และจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ รวม 16 จังหวัด และระดับอำเภอ 824 อำเภอ ซึ่งในเดือนเมษายน คาดว่าผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดช่วงแรกประมาณ 200,000 ตัน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเกษตรเชิงท่องเที่ยวในสวนผลไม้ มหกรรมสินค้าสหกรณ์ที่เน้นจำหน่ายผลไม้ รวมทั้งปรับระบบช่องทางการจำหน่ายผลไม้ จากช่องทางปกติ เป็นการขายแบบตลาดออนไลน์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัด และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และเอกชนเข้ามาร่วมด้วย

โอกาสนี้ สหกรณ์ชาวสวนผลไม้ได้จับมือกับภาคเอกชน และมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขาย   ผลไม้ระหว่างสหกรณ์ชาวสวนผลไม้จากภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือ กับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้โลตัส) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซนทรัล ฟู้ดรีเทล จำกัด (ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต) และบริษัทผู้ส่งออก ได้แก่ บริษัท ริชฟิลด์ จำกัด เพื่อรับซื้อผลไม้คุณภาพจากสหกรณ์กระจายสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพิ่มช่องทางกระจาย ผลไม้ให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาเป็นธรรม

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดแคมเปญ “เทศกาลผลไม้ฤดูกาลภาคตะวันออก” ที่ห้างแม็คโคร สาขาจันทบุรี และเป็นแคมเปญที่ทางบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นเป็นเวลา 4 เดือน ในห้างแม็คโครทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย และจะระบายผลผลิตออกจากพื้นที่ไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งในปี 2563 นี้ แม็คโคร ตกลงรับซื้อผลไม้ตามฤดูกาลจากสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวนกว่า 4,000 ตัน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด โดยมีคณะกรรมการ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ ซึ่งสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด มีสมาชิก 1,348 คน        สหกรณ์ฯ ได้รวบรวมผลผลิตของสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ ได้แก่ มังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง สะละ และโกโก้ ในปี 2562 สหกรณ์สามารถรวบรวมผลไม้ ทั้ง 6 ชนิด ปริมาณ 6,486 ตัน รวมมูลค่ากว่า 372.92 ล้านบาท และปี 2563 สหกรณ์มีเป้าหมายรวบรวมผลผลิต 6,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 398.3 ล้านบาท

จากนั้น ได้พบปะสมาชิกสหกรณ์ฯ และเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในอำเภอเขาคิชฌกูฏ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะหาตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกรชาวสวน ผลไม้และจะมีมาตรการเพื่อช่วยพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำ ซึ่งกลไกลสหกรณ์จะมีส่วนสำคัญในการขยายช่องทางการจำหน่ายผลไม้ไปสู่ผู้บริโภคและจะมีการติดตามสถานการณ์ราคาผลไม้อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไป