ตามติดปฏิบัติการ “Quick Win” 90 วัน  ปลูกผักสวนครัว ทางรอดยามวิกฤติ

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ ทำให้หลายคนหยุดอยู่บ้านนานนับเดือนเพื่อเลี่ยงต่อการติดเชื้อ ในช่วงแรกของการกักตัวหลายฝ่ายวิตกกังวลจนเร่งกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหาร และวิตกกังวลกันว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารเหมือนในต่างประเทศ กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ภารกิจหลักคือการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ชวนคนไทยร่วมใจปลูกพืชผักสวนครัว ในกิจกรรม “90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” โดยเชิญชวนคนไทยทุกครัวเรือนลุกขึ้นมาปลูกผักสวนครัวไว้บริโภค เป็นกิจกรรมที่ช่วยคลายความวิตกกังวล และยังตอบโจทย์ในเรื่องอาหารการกินและส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือนในภาวะวิกฤติโควิด-19 โดยช่วงต้นโครงการ พช. ร่วมกับบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จํากัด แจกเมล็ดพันธุ์ตราศรแดง 100,000 ซอง ให้กับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ และเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา พช. ได้รับมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวจาก บริษัท เจียไต๋ จำกัด เพิ่มเติมอีกจำนวน 500,000 ซอง และจะนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนใน 76 จังหวัด นำไปปลูกในครัวเรือนสู้ภัยโควิด-19 และสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว 

        นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “ความคืบหน้าเมื่อผ่านไปแล้ว 30 วันของแผนปฏิบัติการดังกล่าว มีจังหวัดที่เริ่ม Kick off โครงการทั้งระดับจังหวัดครบทั้ง 76 จังหวัดแล้ว โดยขยายผลไปยังระดับอำเภอจำนวนกว่า 1,767 หน่วยงาน เราส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนลดรายจ่ายด้วยการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ โดยเริ่มที่หน่วยงาน พช. ส่วนกลางก่อนเพื่อเป็นแบบอย่าง ก่อนจะขยายไปยังระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านต่อไป เริ่มต้นมาตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน ตั้งเป้าหมายว่าจะให้แล้วเสร็จทุกครัวเรือนภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นี้ และมั่นใจว่าเมื่อพ้นปฏิบัติการ 90 วันนี้แล้ว ผู้คนจำนวนมากจะติดการปลูกผักเป็นนิสัย ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับประเทศขึ้นมาได้” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว

        สำหรับจังหวัดที่ Kick off โครงการปฏิบัติการ “Quick Win 90 วัน” ไปแล้ว และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดย “นางนวลจันทร์ ศรีมงคล” พัฒนาการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวถึงแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของ พช. ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ว่าผ่านมา 30 วัน ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เริ่มปฏิบัติการ “90 วัน ร่วมแรง แบ่งปัน ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด” ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากระดับจังหวัด นำโดย นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้นำระดับอำเภอ จากนั้นจึงส่งมอบเมล็ดพืชผักสวนครัวให้กับพัฒนาการอำเภอ ตัวแทนพัฒนากร จาก 20 อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้เป็นแบบอย่าง ใช้มาตรการหมั่นเยี่ยมเยียนเป็นประจำแบบเดินเคาะประตูบ้านกระจายเมล็ดพันธุ์สู่ 2,447 หมู่บ้าน และ 20 ชุมชนเมือง

        “ผลความคืบหน้าของปฏิบัติการผ่านมาแล้ว 1 เดือน เราเน้นให้ประชาชนปลูกพืชผักอายุสั้น ปลูกง่าย โตเร็ว และใช้ประกอบอาหารในครัวเรือนได้ พช. ร้อยเอ็ด มั่นใจว่า ทุกครัวเรือนในจังหวัดจะมีพืชผักสวนครัวรั้วกินได้อย่างน้อย 5 ชนิด เช่น หอมแดง ข่า พริก กะเพรา สะระแหน่ และภายใน 90 วัน ของโครงการ เชื่อมั่นว่าทุกครัวเรือนจะมีพืชผักสวนครัวไม่น้อยกว่า 10 ชนิด และไม่ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังไม่คลี่คลายในขณะนี้ แต่เมื่อประชาชนทุกครัวเรือนเร่งรัดปลูกผักตามโครงการของ พช. และปฏิบัติตนตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เราก็จะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้อย่างแน่นอน” พช. ร้อยเอ็ด กล่าว

        ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดโครงการ 90 วัน สำหรับพื้นที่ที่ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย พช. จะมีการมอบรางวัลและประกาศเชิดชูเกียรติเป็นบุคคลต้นแบบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับต่างๆ คือ ผู้นำต้นแบบ จะเป็นระดับของผู้บริหารที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน นายกเทศมนตรี พัฒนาการอำเภอ นักวิชาการพัฒนาชุมชน พัฒนากร และบุคคลต้นแบบระดับชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และครัวเรือนที่ปลูกผักสวนครัว  

        สำหรับประชาชนทั่วไป แม้จะผ่านไปแล้ว 30 วัน แต่ทุกครัวเรือนยังสามารถเริ่มปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวด้วยตัวเองได้ทันที เริ่มจากปลูกผักที่เรากินก่อน ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายได้ทางหนึ่ง แถมยังมีอาหารปลอดภัยไว้กินในครัวเรือนอีกด้วย หากยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถสอบถามที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ทุกแห่ง หรือสามารถเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสนอแนะ ในกลุ่มกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊ก ในชื่อกลุ่ม “ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช.” เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางอาหารไปพร้อมกัน