นักวิจัยแนะจัดตั้ง “กองทุนน้ำ” เพื่อการแบ่งสรรปันส่วนน้ำอย่างเป็นธรรม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ เนื่องในวันน้ำโลกในประเด็น “การวางแผนด้านน้ำในบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการ   บูรณาการเชิงพื้นที่” เพื่อยกระดับความสามารถในการวางแผนน้ำทั้งระดับประเทศ ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด และลุ่มน้ำ ให้รับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงเรื่องน้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ดร.ศิริพงษ์ หังสพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เรื่อง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ น้ำ ที่ดิน และการจัดการสิ่งแวดล้อม สกว. กล่าวว่า วาระของวันน้ำโลกของปี 2560  องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ ได้ประกาศและเล็งเห็นความสำคัญร่วมกันของน้ำเสียเนื่องด้วยว่าปัจจุบันโลกนี้ยังมีประชากรประมาณ 2,400 ล้านคน ที่ยังไม่มีระบบสุขาภิบาล และ 946 ล้านคน ยังขับถ่ายในที่ที่ไม่มีส้วม สถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าระบบสุขาภิบาลและการจัดการน้ำเสียเป็นสิ่งจำเป็น

ด้วยเหตุนี้ปี 2560 องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดวาระวันน้ำโลกเป็นเรื่อง “น้ำเสีย” เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำของโลกปัจจุบัน โดยการปรับชุดความคิดของคนเกี่ยวกับน้ำเสียใหม่ว่า “น้ำเสียคือทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ได้เหมือนขยะ” ดังเช่นกรณีตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์  มีการใช้นวัตกรรมเข้ามาปรับแก้ไขน้ำเสียมาเป็นน้ำดี เอาน้ำเค็มมาทำเป็นน้ำจืด เพื่อการอุปโภค บริโภคของประชากร โดยในช่วงแรกนั้นประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของน้ำดีที่ผ่านการบำบัดมาจากน้ำเสีย แต่ปัจจุบันพบว่า ปัจจุบันประชากรมากกว่า 90 % ของประเทศให้การยอมรับการใช้น้ำดีที่พัฒนามาจากน้ำเสีย ในส่วนภาคนโยบายของประเทศไทย มีความจำเป็นที่ต้องมีการบูรณาการแผนการจัดการน้ำทั้งระดับชุมชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ และจังหวัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพผ่านการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของภาครัฐ ประชาชน และเอกชน

ด้าน รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “เศรษฐศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำ” กล่าวว่า การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของประเทศเป็นประเทศเป็นปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้น เพราะรัฐกำหนดหน้าที่การแก้ปัญหาไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควรยกตัวอย่าง ถ้าน้ำไม่พอ รัฐจะจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มให้ แต่เมื่อมีแหล่งน้ำเพิ่มก็มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่เกิดความสมดุล ดังนั้นควรมีเกณฑ์กำหนดว่าใครใช้น้ำมากต้องรับผิดชอบมากกว่า

โดยนักวิจัยจาก ม.ธรรมศาสตร์ ยังระบุเพิ่มว่า มาตรการในร่าง พรบ.ทรัพยากรน้ำ ได้ระบุปริมาณการใช้น้ำสูงสุด และอัตราค่าใช้น้ำสำหรับเชิงพาณิชย์และกิจกรรมขนาดใหญ่ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ลดหย่อน ยกเว้น  นอกจากนี้ควรจัดตั้ง “กองทุนน้ำ” ซึ่งได้เงินมาจากผู้ที่ประโยชน์จากการใช้น้ำทุกประเภท ยกตัวอย่างเช่นภาคกลางมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน 11.385 ล้านไร่ ถ้าเก็บในอัตรา 100 บาท/ไร่ จะมีรายรับ 1,138 ล้านบาท ภาคกลางใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเก็บในอัตรา 0.15 บาท/ลูกบาศก์เมตร จะมีรายรับ 375 ล้านบาท เป็นต้น

ในขณะที่ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เวทีสาธารณะปีนี้ มุ่งเน้นการเผยแพร่แนวคิด แผนงาน และผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการในแง่ของการวางแผนน้ำกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน  การวางแผนน้ำแบบบูรณการในระดับประเทศและพื้นที่

อีกประการ การวิจัยในรอบปีที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาสถานการณ์น้ำที่โยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ของประเทศ และพัฒนาดัชนีเพื่อดูสภาพน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ ว่ามีความสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละลุ่มน้ำ ครอบคลุมทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่

นอกจากประเด็นดังกล่าว รศ.ดร.สุจริต  ยังเสนอให้มีการนำผลการวิจัยเกี่ยวข้องมาจัดทำเป็นคู่มือการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในภาวะปกติภาวะขาดแคลนน้ำ ควบคู่กับใช้กลไกโควต้าน้ำและราคาน้ำเข้าช่วย โดยข้อมูลทั้งหมดจากการประชุมในครั้งนี้ จะจัดทำเป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป