“นาขาวัง” ที่บ้านเขาดิน รัก (ไม่) จาง ที่บางปะกง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผมโชคดีได้ไปร่วมเป็นคนครัวคนหนึ่งในงานกิจกรรมเล็กๆ ที่บ้านเขาดิน ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

งาน “วิถีเขาดิน…วิถีแห่งความสุข” จัดขึ้นโดยเครือข่ายเพื่อนตะวันออก มีการพาคณะผู้เข้าร่วมไปดูพื้นที่นิเวศ 3 น้ำ และการทำ “นาขาวัง” ก่อนจะกลับมายังพื้นที่งานช่วงเย็น คือบ้านของ “ไต๋น้อง” คุณประสิทธิ์ ลิ้มซิม ริมคลองอ้อมเขาดิน อันเป็นลำน้ำบางปะกงสายเก่า พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์พื้นที่ กับร่วมรับประทานอาหารเย็นที่ปรุงด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นเท่าที่ยังหาได้

“สถานการณ์” ส่วนใหญ่ก็เป็นข่าวคราวการเปลี่ยนแปลงนโยบายผังเมืองรวม ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำย่านนี้ถูกจัดสรรในกรอบมุมมองใหม่ และกำลังจะกลายเป็นย่านโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธี่ยมขนาดใหญ่ ที่ย่อมส่งผลให้ชีวิตของชุมชนเดิมที่นี่ต้องพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปชนิดสุดหยั่งคาด

เรื่องราวทำนองนี้คงต้องออกแรงต่อสู้กันไปอีกนาน อย่างน้อย ผู้คนร่วมโต๊ะที่ได้ชิมสำรับอย่างแกงส้มปูทะเล หลนปูแสมเค็ม เนื้อปลากะพงผัดพริกใบกะเพรา ผัดสายบัว แกงคั่วหัวโหม่ง (ลูกจากอ่อน) หัวปลาต้มกระจับ และปลาหมอเทศแดดเดียวทอด ก็คงได้ร่วมรับรู้และช่วยคิดหาหนทางออกได้บ้างในวันหนึ่งข้างหน้า

พ้นไปจากเสาเข็มโรงงานที่เริ่มตอกลงบนพื้นที่ถมดินบดอัด รอบๆ ตำบลเขาดินนี้คือย่านถิ่นของวัฒนธรรมเกษตร “นาขาวัง” ของชุมชน 3 น้ำ ที่น่าสนใจ

………………

ผมยังค้นไม่พบว่า สิ่งที่เรียกว่า “นาขาวัง” นี้มีที่มาอย่างไร แต่คนพื้นที่ยืนยันว่า มีทำกันแต่ย่านนี้ คือตำบลเขาดินเท่านั้น

วิธีทำก็ดูง่ายๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เริ่มด้วยขุดคูน้ำลึก ราว 70-100 เซนติเมตร ล้อมรอบพื้นที่แปลงนา คูนี้จะเชื่อต่อกับลำรางธรรมชาติเพื่อเปิด-ปิดรับน้ำตามเวลาที่กำหนดไว้ ความที่ตำบลเขาดินอยู่ห่างชายฝั่งอ่าวไทย เพียง 20 กิโลเมตร ช่วงหน้าแล้งจึงมีน้ำทะเลหนุนตามแม่น้ำลำคลองขึ้นมา น้ำจะเค็ม ส่วนหน้าฝน น้ำจืดไหลเป็นน้ำท่ามาผลักดัน น้ำจึงกร่อย จนกระทั่งเป็นน้ำจืดสลับกันไป

ในหน้าฝน น้ำในคูจะจืด อาศัยปลูกข้าวในแปลงนาได้ดี ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ที่เลือกปลูกนี้ ให้ผลผลิตดี เนื่องจากพื้นดินเค็มเล็กน้อย มีผลกับรสข้าว และยังช่วยลดจำนวนวัชพืชได้มาก ส่วนใหญ่ผลผลิตจะจำหน่ายเป็นพันธุ์ข้าวให้กรมการข้าว อย่างไรก็ดี กว่าดินจะจืดจนปลูกข้าวได้ จะต้องเปิดน้ำจืดเข้าออกพื้นที่นา ซึ่งเค็มจากการที่น้ำเค็มหนุนในช่วงหน้าแล้งก่อน การเปิดน้ำจืดเข้าเพื่อไล่น้ำเค็มออกนี้ใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ จากนั้นจึงไถกลบ พลิกหน้าดิน หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว

พอครบ 30 วัน จะมีการปล่อยลูกกุ้งก้ามกราม หรือปลาบางชนิดลงเลี้ยงรวมในแปลงนาด้วย พอใกล้เก็บเกี่ยว ก็จะโตพอจับไปขายได้ เมื่อครบ 120 วัน ก็เกี่ยวข้าว คนที่นี่บอกว่า ผลผลิตจะได้ราว 80 ถัง/ไร่ และมีคุณภาพดีมาก เมื่อหมดช่วงนา เข้าหน้าแล้ง น้ำเค็มจะหนุนขึ้นมาตามแม่น้ำลำคลอง ชาวบ้านเขาดินจะไถพื้นนา ตีกลบซังทิ้งไว้ ราว 2 สัปดาห์ แล้วปล่อยน้ำเค็มเข้านา ทิ้งไว้ราว 1 สัปดาห์ จึงปล่อยลูกกุ้ง ปูทะเล ปลาน้ำกร่อยน้ำเค็ม เลี้ยงจนโตจึงทยอยขาย เรียกว่าจะน้ำจืดหรือน้ำเค็มมา พวกเขาก็หมุนเวียนใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดียวกันนี้ได้ตลอดทั้งปี

นอกจากทำนาขาวัง คือปลูกข้าวช่วงน้ำจืด เลี้ยงสัตว์น้ำช่วงน้ำเค็ม ชาวบ้านย่านเขาดินยังทำประมงพื้นบ้าน ทำงานรับจ้าง และเนื่องจากพื้นที่นี้โอบล้อมด้วยลำน้ำบางปะกงสายเก่าเป็นลักษณะแอกวัว (oxbow lake) จึงมีสภาพเป็นพื้นที่ป่านชายเลนที่ทั้งช่วยอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นแหล่งอาศัยของหิ่งห้อย จนมีสถานะเป็นสนามวิจัยของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนกน้ำ และนกอพยพจำนวนมาก ทั้งยังเป็นป่าจากผืนใหญ่ต่อเนื่องกับเขตอำเภอบ้านโพธิ์ จึงมีการทำตับจากมุงหลังคาเป็นรายได้เสริมด้วย

………………….

นอกจากความน่าสนใจเหล่านี้ บ้านเขาดินในสมัยโบราณเป็นทางผ่านของผู้ที่จะสัญจรทางเรือจากกรุงเทพฯ ไปฉะเชิงเทรา โดยเรือจะล่องตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดดอกไม้ ก่อนเข้าโค้งน้ำบางกระเจ้าก็สามารถตัดเข้าคลองลัดบางยอ ต่อออกคลองสำโรง ตรงผ่านทับนาง บางพลี บ้านคลองจระเข้ บางบ่อ มาออกแม่น้ำบางปะกงที่ท่าสะอ้าน จากนั้นทวนน้ำขึ้นไป จนผ่านบ้านเขาดิน ทุ่งโพธิ์ บางกรูด บางพระ บางปรง เข้าฉะเชิงเทรา

สภาพระหว่างทางแต่ก่อนนั้นเป็นป่าพรุ มีไม้แสม ไม้โกงกาง บางช่วงเป็นทุ่งโล่ง เต็มไปด้วยสัตว์บกสัตว์น้ำ อย่างลิง เสือ และจระเข้จำนวนมาก วรรณกรรมสมัย 200 ปีก่อนที่บรรยายฉากข้างทางของละแวกย่านนี้ไว้ คือโคลงนิราศฉะเชิงเทรา ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (ผู้แต่งแก้วหน้าม้า ยอพระกลิ่น) โอรสของรัชกาลที่ 2 เสด็จมาในกองทัพที่ 2 ที่จะขึ้นไปรบลาวเวียงจันท์สมัยเจ้าอนุวงศ์ ใน พ.ศ. 2369

เมื่อทัพเรือมาถึงเขาดิน มีบทที่ว่า

      มาลุล่วงเข้าเขต เขาดิน

เขาหลากแลหาหิน ห่างก้อน

ห่างพักตร์ยุพยุพิน เพียบหนัก อกเอย

หนักเล่ห์โขดเขาซ้อน สอบซ้อนแสนเขาฯ

ที่น่าสนใจคือ พอเลยไปถึงบางปรง ท่านก็เขียนว่า

     บางปรงปรงไข่ขึ้น ขอบเฉนียน นี้ฮา

คิดแม่เก็บปรงเจียน จุ่มแป้ง

ทอดเทียบสิ่งสุปเพียญน์ พูนภาช-นะเอย

จัดประจงแต่งแสร้ง เสพล้ำลืมกลืนฯ

โคลงบทนี้ย่อมแสดงถึงการรู้จักกิน “ปรงไข่” ชุบแป้งทอดกันดีอยู่แล้วในสมัยนั้น

พืชผักข้างทางที่ผมเห็นเมื่อไปบ้านเขาดินวันนั้นก็มีชะคราม ผักเบี้ยหิน ผักโขมหิน ผักโขมหัด และ “ปรงไข่” ที่กรมหลวงภูวเนตรฯ ได้เห็นและรำพึงรำพันไปถึงนางอันเป็นที่รัก เมื่อเกือบสองศตวรรษที่แล้วนั่นแหละครับ

ผมได้แต่หวังว่า จะได้กลับไปเห็นบ้านเขาดิน ริมลำน้ำบางปะกงเก่านั้นอีกครั้ง ในสภาพที่ชุมชนสามารถปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ตามสมควรในวันข้างหน้า จะได้ทำกับข้าวกับปลากินกันอีกสักครั้ง

คราวนี้ ต้องมี “ปรงไข่ชุบแป้งทอด” กินกับน้ำพริกกะปิ ที่ชาวบ้านเขาดินบางบ้านยังคงทำกะปิกุ้งเคยกันในครัวเรือนเองด้วยแน่นอนครับ