“ไหมอีรี่” พันธุ์ไหมกินใบมันสำปะหลัง คนเลี้ยงน้อย ใช้ประโยชน์แปรรูปเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม

ไหมอีรี่ (Samia ricini : Eri silk) เป็นพันธุ์ไหมกินใบมันสำปะหลัง โดยนำมาเลี้ยงเพื่อเอาเส้นใยไว้ทำประโยชน์ด้านการแปรรูปเป็นเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม เช่นเดียวกับไหมหม่อน

วงจรชีวิตของไหมอีรี่

ไหมอีรี่ เป็นไหมป่าที่มีวงจรชีวิต 45-60 วัน เลี้ยงได้ 4-5 รุ่น ต่อปี ส่วนไข่ไหมฟักเองได้ ไม่ต้องอาศัยการฟักเทียม กินใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร

ความนิยมในการเลี้ยงไหมอีรี่

ในประเทศไทย เกษตรกรยังนิยมเลี้ยงไหมอีรี่ไม่มากนัก ขณะที่จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพในไทยนั้น มีจำนวนถึง 570,000 ครัวเรือน มีพื้นที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังกว่า 8.64 ล้านไร่ ซึ่งอาหารของไหมอีรี่ในไทยมีจำนวนมากก็จริง แต่สัดส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่ยังน้อยมาก ทาง สกว. จึงร่วมกับศูนย์หม่อนไหม ในการให้ความรู้ และขยายพื้นที่การเลี้ยงไหมอีรี่ให้มากขึ้น ทั้งการให้สายพันธุ์หนอน และความรู้ในการเลี้ยง เพื่อนำไปสู่ผลผลิต

ความยาก-ง่าย การเลี้ยงไหมอีรี่

สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอยู่แล้ว จะสามารถมีรายได้เพิ่มเติมจากการเลี้ยง “ไหมอีรี่” ได้ เพราะไหมอีรี่กินใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร และใบละหุ่ง ซึ่งสามารถปลูกต้นละหุ่งเสริมในพื้นที่เพาะปลูกได้

รายได้ จาก “ไหมอีรี่”

เกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายรังและดักแด้ ประมาณ 6,000 บาท ต่อรุ่น ของการเลี้ยง ส่วนเกษตรกรที่มีทักษะในการปั่นเส้นและทอผ้า จะมีรายได้จากการปั่นเส้นด้ายไหมอีรี่ขายราว 7,800 บาท ต่อรุ่น และยังสามารถมีรายได้จากการทอผ้าอีกประมาณ 17,000 บาท ต่อรุ่น

การสร้างรายได้ จาก “ไหมอีรี่”

ปัจจุบัน มี 5 จังหวัด ที่ประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงไหมอีรี่ จนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวและชุมชน ได้แก่ อุทัยธานี นครสวรรค์ ลำปาง เชียงใหม่ และเชียงราย โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว และเทคโนโลยีสะอาด(Clean Technology) จากไหมอีรี่ตามมาตรฐานสิ่งทอสากลมากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ โดยมีเครือข่ายและผู้นำเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่ที่เข้มแข็ง 41 เครือข่าย ในจำนวนกว่า 450 ครัวเรือน จาก 28 จังหวัด ซึ่งจะมีการส่งไหมอีรี่ไปขายยัง บริษัท สปัน ซิลค์ เวิลด์ จำกัด ซึ่งเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่รับซื้อไหมอีรี่ และพบว่ายังขาดแคลนวัตถุดิบอีกจำนวนมาก