ศกอ. มหาสารคาม ยึดหลักเกษตรผสมผสาน พัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ขยายผลกว่า 3,000 ครัวเรือน

นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เกษตรผสมผสาน เป็นระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมแต่ละชนิดเกื้อกูลกันอย่างเป็นวงจร ก่อให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบฟาร์ม อาชีพการเกษตรจึงนับเป็นอาชีพที่สามารถพึ่งพาตนเอง ประกอบกับปัจจุบันมีการนำความรู้มาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตร โดยหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการทำเกษตรผสมผสานที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต คือ นายอดิศร เหล่าสะพาน เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จังหวัดมหาสารคาม ที่นอกจากจะประสบความสำเร็จในการทำเกษตรแบบผสมผสานแล้ว ยังนำความรู้มาสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน สังคม โดยพัฒนาพื้นที่ของตนเองเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป สามารถขยายผลกว่า 3,000 ครัวเรือน

จากการลงพื้นที่ของ สศท.4 โดยสัมภาษณ์ นายอดิศร เหล่าสะพาน เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนมัน ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรผสมผสานและได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ปี 2559 โดยได้น้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผนวกกับแนวคิดเกษตรผสมผสานมาประยุกต์ใช้บนพื้นที่ จำนวน 22 ไร่ ซึ่งตนบอกเล่าว่า เดิมนั้นตนเคยเป็นลูกจ้างและทำงานค้าขายจนถึงปี 2547 ได้หันเหตนเองมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน และก้าวสู่การเป็นกำนันตำบลขามเรียง ซึ่งตนได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน สังคม ประกอบกับบทบาทการเป็นผู้นำในชุมชน จึงสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ โดยคิดหาวิธีการที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติตามได้ ทำให้สามารถขยายผลให้กับสมาชิกชุมชนและเครือข่ายได้กว้างขวาง ภายใต้ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนมัน ที่ได้ก่อตั้งเมื่อ ปี 2549

ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนมัน ยังคงมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเด่นของศูนย์คือการบริหารจัดการชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การให้ความรู้ด้านการเพาะเห็ดแบบครบวงจร ด้านเกษตรผสมผสาน ไร่นาสวนผสม ปลูกพืชสวนครัวปลอดสารพิษ และการเพาะพันธุ์กบนอกฤดู มีการถ่ายทอดความรู้อบรมเกษตรกรและประชาชนทั่วไป อาทิ การเพาะเห็ดขอนขาว การเลี้ยงกบ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์และบ่อดิน การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงเป็ดเทศ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การเลี้ยงโค การทำปุ๋ยชีวภาพ เกษตรอินทรีย์ การปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น โดยปัจจุบัน มีเกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาอบรมกับศูนย์ฯ เฉลี่ยประมาณ 12,567 คน/ปี

นอกจากศูนย์เรียนรู้ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมแล้ว นายอดิศร ยังจัดสรรพื้นที่เป็นเกษตรผสมผสาน โดยแบ่งออกเป็น นาข้าว จำนวน 7 ไร่ พืชหลากหลาย จำนวน 4 ไร่ แบ่งเป็น ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก เลี้ยงสัตว์ จำนวน 4 ไร่ สระน้ำ บ่อปลา บ่อกบ จำนวน 7 ไร่ ซึ่งกิจกรรมหลักทางการเกษตรที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี คือการเพาะเห็ดขอนขาว โดยมีต้นทุนการผลิต 70,000 บาท/รอบการผลิต (พื้นที่ 1 งาน) ซึ่งให้ผลผลิตในเดือนที่ 6 นิยมปลูกช่วงเดือนมีนาคม ระยะเวลาเก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคม ให้ผลตอบแทน 140,000 บาท/รอบการผลิต คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 70,000 บาท/รอบการผลิต ราคาขายส่งเฉลี่ย 120 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นแหนมเห็ด ข้าวเกรียบเห็ดเพื่อเพิ่มรายได้

สำหรับผลผลิตบนพื้นที่ 22 ไร่ ของ นายอดิศร ร้อยละ 80 จะนำไปจำหน่ายมีต้นทุนโดยรวมอยู่ที่ 180,000 บาท/ปี สร้างรายได้ประมาณ 400,000 บาท/ปี ซี่งเป็นรายได้จากการขายผลผลิตทุกกิจกรรมที่ทำ ซึ่งการจำหน่ายผลผลิตมีผู้มารับซื้อถึงที่ และบางส่วนนำไปขายเองในตลาดนัดของชุมชน รวมทั้งมีการทำผลิตภัณฑ์เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้า สบู่สมุนไพร และการทำยาหม่องขี้ผึ้งสมุนไพร ทำใช้ภายในครัวเรือนเหลือก็ขายให้เพื่อนบ้านเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนผลผลิตที่เหลืออีกร้อยละ 20 จะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน

นอกจากนี้ นายอดิศร ยังเป็นวิทยากรให้กับ สศท.4 ในหลักสูตรการอบรมและสาธิตการเกษตรไทยด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักสูตรกระดานเศรษฐี ซึ่งนายอดิศร ได้ให้ข้อคิดแก่เกษตรกรผู้สนใจทำเกษตรผสมผสาน ว่าต้องมีความอดทน มุ่งมั่น จึงจะประสบความสำเร็จ ท่านที่สนใจในการทำเกษตรผสมผสานสามารถขอคำปรึกษา ได้ที่ นายอดิศร เหล่าสะพาน ศกอ. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เลขที่ 25 หมู่ที่ 13 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม หรือ โทร. (095) 139-1657 ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรและผู้สนใจทุกท่าน