ม.แม่โจ้ สร้างบัณฑิตเกษตรพันธุ์ใหม่ รุ่นที่ 3 และผู้ประกอบการเทคโนโลยีการเกษตรรุ่นเยาว์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในพิธีปิดโครงการและมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร การพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีการเกษตรรุ่นเยาว์และการผลิตบัณฑิตเกษตรพันธุ์ใหม่รุ่นที่ 3 จำนวนเกือบ 300 คน พร้อมทั้งแสดงความยินดีแก่ผู้ผ่านการอบรมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 101 ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติมหาวิทยาลัยแม่โจ้

การจัดฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีการเกษตรรุ่นเยาว์ (Junior AgTech Entrepreneurship Boot Camp) และการผลิตบัณฑิตเกษตรพันธุ์ใหม่รุ่นที่ 3 อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาและผลิตกำลังคนของประเทศเพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเน้นการบูรณาการร่วมเนื้อหาแบบโมดูลกับการเรียนรู้แบบเน้น Project base เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรสมัยใหม่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 สร้างและพัฒนาเกษตรกรก้าวหน้ารุ่นใหม่ (Young Smart Farmer)ให้มีภาวะผู้นำและมีทักษะปฏิบัติได้จริงอย่างมืออาชีพ มีทักษะด้านการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และมีจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญเพื่อให้เกษตรกรก้าวหน้ารุ่นใหม่สามารถประกอบการเองได้และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้หรือแนวคิดด้านการเกษตรก้าวหน้าให้แก่เกษตรกรรุ่นต่อๆ ไป อีกทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนเกษตรก้าวหน้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรก้าวหน้า  ซึ่งการฝึกอบรมในครั้งนี้มีนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในเขตภาคเหนือ และนักศึกษาในระดับปวส.ที่สนใจ เข้าร่วมจำนวนเกือบ 300 คน

รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มหาวิทยาลัยแม่โจ้มุ่งเน้นในการสร้างกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถในวิชาการและวิชาชีพโดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการที่ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงโดยเน้นทางด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ประยุกต์ ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนท้องถิ่นและสังคมของประเทศเพื่อขยายโอกาสให้ทุกคนในสังคมได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกระดับ  เพื่อสร้างและพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเกษตรและวิทยาศาสตร์ประยุกต์เพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สังคม เป็นการขยายการบริการวิชาการและความร่วมมือในระดับประเทศและสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนประเทศในยุคที่มีการแข่งขันสูงในอนาคต”