สศก. เปิดเวทีใหญ่ 2 ภาค ระดมเครือข่ายขยายช่องทางและโอกาสตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์

สศก. ร่วม มกอช. จัดเวทีใหญ่ ระดมเครือข่ายเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต เชื่อมโยงผู้ประกอบธุรกิจสินค้าอินทรีย์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคเหนือ พร้อมดึง Application line เพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อ หวังเดินหน้าสร้างโอกาสและผลักดันการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เพิ่มมากขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560 – 2564

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภค และการบริการ เกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์เป็น 6 แสนไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรเป็น 3 หมื่นราย เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออกเป็นร้อยละ 40 ต่อร้อยละ 60 ตลอดจนการเพิ่มกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโครงการเกษตรอินทรีย์ นับเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งกำหนดให้ปีนี้เป็น ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ด้วยการทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 2 และ วันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สศก. ได้ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดสัมมนาเครือข่ายเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเพื่อเชื่อมโยงกับผู้ประกอบธุรกิจสินค้าอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดยโสธร และภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างโอกาสและสร้างความเชื่อมั่นทั้งในการหาตลาดรองรับ การให้ความรู้เรื่องการรับรองมาตรฐาน และแนวโน้มทางการตลาดสินค้าอินทรีย์ ผลักดันให้เกิดการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์และชนิดสินค้าของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

การสัมมนาดังกล่าว มีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก ประกอบด้วย เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย และสินค้าอินทรีย์ ผู้รวบรวมท้องถิ่น ผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอินทรีย์ทั้งจากภายในและภายนอกพื้นที่  โดยรูปแบบการสัมมนาได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจสินค้าอินทรีย์แต่ละรายแจ้งความต้องการสินค้า หลักเกณฑ์ วิธีการรวบรวม เงื่อนไขต่างๆ เช่น ปริมาณ การส่งมอบ และมาตรฐานที่ต้องการในการรับซื้อ และให้ทางเกษตรกรได้เจรจา เสนอสินค้าตัวอย่าง หีบห่อผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ชา กระเจี๊ยบแห้ง ข้าวอบกรอบ ข้าวสารด้วยตนเอง ทำให้มีการตกลงสั่งซื้อสินค้า นัดหมายลงตรวจแปลง และนำสินค้าทดลองวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า อาทิ Top supermarket และ ร้านค้าของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ยังได้มีการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารทาง Application line ระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ ในการติดต่อเสนอความต้องการและมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ร่วมกัน เช่น ข้าวหอมนิล ไรซ์เบอร์รี่ มาตรฐาน Organic Thailand ตามระบบที่พัฒนาขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements : IFOAM) รวมทั้ง ผักสลัด ผักกาดขาว เบบี้แครอท มะเขือเทศ ซึ่งได้มีการติดต่อลงแปลงเกษตรกร และมีผู้ประกอบการสั่งซื้อสินค้าอินทรีย์ภายหลังจากการสัมมนากับเกษตรกรเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะมีการซื้อขายสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการผลิตการปรับบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยได้เข้าถึงผู้ประกอบธุรกิจสินค้าอินทรีย์โดยตรงอีกด้วย ซึ่งในส่วนของการจัดสัมมนาเครือข่ายเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเพื่อเชื่อมโยงกับผู้ประกอบธุรกิจสินค้าอินทรีย์  สศก. จะดำเนินการจัดอีก 2 ครั้ง คือ ภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเดือนพฤษภาคม และ ภาคกลาง ที่จังหวัดลพบุรี ในเดือนมิถุนายน อันเป็นการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560 – 2564

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์