เซอร์เวเยอร์ติดหมื่นคดีจำนำข้าว โดนทั้งแพ่ง-อาญาถูกรัฐแช่แข็งค่าตรวจหมื่นล.

ส.เซอร์เวเยอร์โอด ติดบ่วงจำนำข้าวเจอปัญหา 3 เด้ง รัฐบี้ฟ้องอาญาพ่วงคดีแพ่งนับ 10,000 คดี เตรียมไล่เบี้ยค่าเสียหายจำนำข้าว-ค่าส่วนต่างขายข้าวขาดทุนนับ 1 แสนล้าน ด้าน อคส. และ อ.ต.ก.ปัดจ่ายค่าจ้าง 2 ปี แบงก์ตัดเครดิตจ่อเจ๊งรมยาไม่ได้

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ระบุว่า ขณะนี้ได้ตรวจสอบคดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว 986 คดี และลงนามคำสั่งส่งรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งในส่วนขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เบื้องต้น รวม 158 คน และภาคเอกชน 144 คน ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของคลังที่รับผิดชอบในโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 และกลุ่มเซอร์เวเยอร์ที่รับผิดชอบในโครงการรับจำนำข้าวเก่าปี 2556/2557 รวม 302 คน หลังจากนี้ยังมีการตรวจสอบขยายผลเพิ่มก่อนสรุปในเดือนมิถุนายนคาดว่าคดีนี้มีมูลค่าความเสียหาย 115,000 ล้านบาท

นางมณฑาทิพย์ ไวยวรรณะ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบสินค้าเกษตรไทย (เซอร์เวเยอร์) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมได้ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี นับจากปี 2558 โดยมีสมาชิกเป็นบริษัทเซอร์เวเยอร์สัญชาติไทยทั้งหมด 17 รายที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจนี้ทั้งหมด 32 ราย โดยสมาชิกถูกตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีเกี่ยวกับโครงการนี้รวมประมาณ 10,000 คดี ไม่รวมคดีที่ทาง ป.ป.ท.สอบสวน 986 คดี

“ประเด็นที่ถูกกล่าวหามี 2 ส่วน คือ การตรวจสอบข้าวผิดชนิดผิดสเป็ก ข้าวหาย และประเด็นข้าวเสื่อมสภาพ ซึ่งทางสมาคมต่อสู้เรียกร้องเพื่อช่วยเหลือสมาชิกเฉพาะประเด็นข้าวเสื่อมสภาพตามระยะเวลาการเก็บ แต่ถูกจัดประเภทไปเป็นข้าวเสื่อม เท่านั้น ไม่รวมคดีความผิดที่เกี่ยวกับข้าวผิดชนิด ผิดสเป็ก หรือข้าวหายซึ่งสมาชิกต้องไปต่อสู้ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์เอง”

ในช่วง 2 ปีหลังจากตั้งสมาคม ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง อคส. อ.ต.ก. กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และนายกรัฐมนตรี รวมทั้งหมด 44 ครั้ง เนื่องจากสมาชิกได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม นับตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบเพื่อคัดแยกชนิดข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ตั้งแต่ชุดคณะกรรมการตรวจสอบ 100 สาย (ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล) ซึ่งไม่มีการแจ้งผลการวิเคราะห์คุณภาพข้าวว่า รายใดมีความผิดอย่างไร ทำให้ให้สมาชิกไม่สามารถหาข้อมูลที่จะต่อสู้ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง และต่อมามีการนำข้าวที่ระบุว่าเป็นข้าวเสื่อมไปเปิดประมูลขายเพื่ออุตสาหกรรมในราคาต่ำเกินกว่าปกติ ทำให้รัฐบาลได้รับความเสียหายอีก

“986 คดี ไม่สามารถแยกได้ว่าใครเท่าไร เราไม่รู้ ทางราชการไม่ได้มาชี้แจงว่าผลวิเคราะห์มีอะไรเท่าไร แจ้งความแล้วจึงรู้จากตำรวจว่ามี 2 ประเภท คือ ผิดชนิด ผิดประเภท ซึ่งเกิดจากการบริหารที่ทุจริตจริง อันนั้นสมาคมยอมรับว่าต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ในกรณีข้าวเสื่อมเองต้องแยกออกมา เราไม่รู้เลยว่า 2 เรื่องนี้อันไหนมากอันไหนน้อย ที่ต่อสู้อยู่ขณะนี้คือ ข้าวเสื่อมตามเวลา และผลตรวจสอบที่ออกมาไม่เป็นธรรม มีข้อผิดพลาดของผลวิเคราะห์ มีผลสลับกัน ครั้งแรกบอกเป็นข้าวเสื่อมบริโภคไม่ได้ทั้งคนและสัตว์ ครั้งที่ 2 ประมูลเป็นอาหารสัตว์ได้ก็มี หรือกรณีที่คณะตรวจสอบดีเอ็นเอ แต่ตามสัญญาบริษัทตรวจแค่เพียงต้มและบดกระจก บางตัวอย่าง เช่น มาตรฐานข้าวหอมมะลิ 92% จะมีข้าวชนิดอื่นปนได้เพียง 8% แต่เมื่อตรวจดีเอ็นเอปรากฏมีข้าวชนิดอื่นเกินมาเป็น 10% มีข้าวหอมมะลิ 90% ถูกตัดเป็นข้าวเกรดซี และแจ้งความดำเนินคดีอาญายอมความไม่ได้ เป็นต้น”

ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ 1) อคส./อ.ต.ก.อ้างเหตุผลในการดำเนินคดีสมาชิก และสั่งระงับการจ่ายค่าจ้างตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหาร และมีการดำเนินคดี สั่งระงับการจ่ายเงินให้กับบริษัทเซอร์เวย์ทุกบริษัท ทั้งค่าตรวจสอบอยู่ที่ 16 บาทต่อตัน จ่ายครั้งเดียว, ค่ารมยา 6 บาทต่อตันต่อเดือน และค่าวางประกันบริษัทเซอร์เวย์ ถ้าจ่ายค่าตรวจข้าวหอมมะลิกระสอบละ 6.20 บาท ข้าวขาว กระสอบละ 4.60 บาท นับรวมมูลค่าตั้งแต่ดำเนินโครงการจนถึง คสช.เข้ามาน่าจะรวมได้ 10,000 ล้านบาทแล้ว

และ 2) หากบริษัทแพ้คดีอาญา จะมีการฟ้องคดีแพ่งต่อ ซึ่งบริษัทจะต้องจ่ายค่าเสียหายในส่วนของอาญา และความเสียหายทางแพ่งอีก 2 ชั้น ซึ่งเบื้องต้นเมื่อมีการแจ้งความได้ประเมินความเสียหายมาแล้วมูลค่ารวม 100,000 ล้านบาท เพราะคิดมูลค่าจากต้นทุนข้าวเปลือกไล่มาถึงราคารับจำนำ ค่าสีแปร ค่าตรวจสอบ ค่ารมยา ค่าเช่าโกดังจนเป็นต้นทุนข้าวสาร คิดออกมาเป็นมูลค่ารวมทั้งที่เซอร์เวย์ไม่ได้เกี่ยวข้องทุกกระบวนการรับจำนำ และไม่มีหลักเกณฑ์พิจารณาว่ามีแนวทางคำนวณอย่างไร ใครจะต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบบ้าง นอกจากนี้ หากบริษัทแพ้คดีแพ่งอีก จะคิดค่าเสียหายจากต้นทุนข้าวหักส่วนต่างของมูลค่าข้าวที่ขายไป เช่น ต้นทุนข้าวสารจากโครงการรับจำนำ กก.ละ 24 บาท ขายได้ 4 บาทอาจต้องชดเชย กก.ละ 20 บาทอีกทอดหนึ่ง

“เซอร์เวย์โดนทั้งจ่ายมูลค่าความเสียหายโครงการจำนำของคดีอาญา และจ่ายค่าชดเชยทางคดีแพ่งอีก แค่จ่ายส่วนต่างชั้นเดียวก็ล้มละลายแล้ว แล้วยังอ้างว่าเราผิดสัญญากับรัฐไม่จ่ายค่าจ้างทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด หากระงับไว้ก่อนจนกว่าคดีจะจบ หากพิจารณาใช้เวลา 10 ปีต้องขึ้น 3 ศาล แค่ปีเดียวก็ตายแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายมีตลอด และยังต้องรมยาให้ นี่จึงไม่ใช่แค่มัดมือชกอย่างเดียว แต่มัดมือชกแล้วยังจะต่อยตรงไหนก็ต่อยอีก ตอนนี้มีบางบริษัทแจ้งว่าไม่สามารถรมยาได้ เพราะขาดสภาพคล่อง สถาบันการเงินมองว่าธุรกิจนี้มีความเสี่ยงไม่ปล่อยสินเชื่อให้เลย สุดท้ายเสียหายเป็นวงกลมอยู่อย่างนี้”

อนาคตประโยชน์ธุรกิจนี้จะไปตกอยู่ที่บริษัทเซอร์เวย์ต่างชาติส่วนเซอร์เวย์สายพันธุ์ไทยจะหายไปเชื่อมโยงไปถึงปัญหาขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพในการตรวจสอบสินค้าไทย ทั้งที่มีหลักฐานทางวิชาการมายืนยันว่าข้าวเสื่อมตามการเก็บรักษา เช่น ข้าวปี 2552 จะมีสภาพแตกหัก เหลือง เป็นฝุ่น มีกลิ่น แต่ยังปรับปรุงบริโภคได้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจอนไลน์