ม.แม่โจ้ จัดงาน “ชวนยิ้ม ชิมกัญ (ชา)” ต่อยอดงานวิจัยการใช้ชิ้นส่วนกัญชา อย่างเหมาะสมและปลอดภัย พร้อมสาธิตการปรุงเมนูอาหารรสเด็ดกว่า 40 ร้านดัง

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงปลูกกัญชาทางการแพทย์ 16,700 ต้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ นายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร. อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และศาสตราจารย์ ดร. อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันเปิดงานโครงการ “แม่โจ้ชวนยิ้ม ชิมกัญ (ชา)” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดขึ้นเพื่อสาธิตการนำชิ้นส่วนกัญชา ได้แก่ ใบ ต้น และราก ที่ใช้ได้อย่างถูกกฎหมายมาปรุงอาหาร โดยมีร้านอาหารทุกระดับทั้งสตรีทฟู้ดส์และร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ รอบๆ เชียงใหม่ กทม.และจังหวัดอื่นๆ เข้าร่วมโครงการจำนวน 45 ราย ได้สาธิตการปรุงอาหารและนำเสนอเมนูอาหารอย่างหลากหลายทั้งอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมการปรุงอาหารและชิมฟรีตลอดการจัดงาน โดยผู้ร่วมงานทุกคนจะสามารถเลือกรายการอาหารที่ตนเองสนใจได้เพียงห้ารายการ ซึ่งเป็นมาตรการการป้องกันอันตรายกับผู้บริโภคที่อาจมีอาการแพ้สารสำคัญในพืชกัญชาซึ่งแขกรับเชิญและประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ที่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมเพียง 500 คน ตามมาตรการสาธารณสุขในการป้องกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ศาสตราจารย์ ดร. อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้มหาวิทยาลัยแม่โจ้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ รับผิดชอบดำเนินการ เพื่อเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยจากโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการที่จะนำชิ้นส่วนของกัญชานอกจากช่อดอกมาใช้ประโยชน์และทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยมีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้นแบบในเรื่องการนำมาใช้ปรุงเป็นเมนูอาหาร และได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและยา (อย.) ด้วย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการทดสอบและทำให้ทราบถึงคุณสมบัติที่ดีของกัญชาในการนำมาใช้ปรุงอาหาร ตลอดจน เป็นการประเมินผลข้อมูลที่นำไปสู่การวางหลักเกณฑ์ ทั้งวิธีการและปริมาณการใช้ที่เหมาะสมเพื่อหน่วยงานรับผิดชอบจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎระเบียบตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการนั้น มีทุกระดับตั้งแต่ร้านอาหารตามสั่งในมหาวิทยาลัยแม่โจ้หรือสตรีทฟู้ดส์ทั่วไป, ร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ และบริษัทเอกชนผู้ผลิตอาหารเครื่องดื่ม โดยทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะสนับสนุนใบกัญชาสดให้ร้านละ 200 กรัม พร้อมปริมาณแนะนำการใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารเฉลี่ยจานละ 1 ใบ รวมทั้งชิ้นส่วนของต้นและราก อีกจำนวนหนึ่งตามความเหมาะสมและตามสูตรอาหารของแต่ละร้าน เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารและนำเสนอเมนูอาหารอย่างหลากหลายทั้งอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม โดยแต่ละร้านทำการปรุงร้านละ 3 เมนู ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมการปรุงอาหารและชิมฟรีด้วย ซึ่งการจัดงานครั้งนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย เพราะมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นแหล่งปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับจากผลงานวิจัย ที่พร้อมใช้ชิ้นส่วนของกัญชาสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่อีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร. อานัฐ กล่าวย้ำว่า แม้ว่าขณะนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข จะปลดล็อคให้ชิ้นส่วนกัญชาทั้งใบ ต้นและราก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้นั้น ต้องนำมาจากแหล่งที่ผู้ปลูกได้รับการอนุญาตให้ปลูกถูกต้องตามกฎหมายด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วยังถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งหากมีการได้มาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและถูกต้องตามกระบวนการก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ เช่น นำไปใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น ส่วนในกรณีถ้าหากมีผู้ประกอบการจะนำไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม หรือเครื่องสำอาง เพื่อจำหน่ายนั้น จะต้องมีการแจ้งและขอนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย