สวทช. จัดงาน ‘NAC2021’ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ 25-30 มี.ค.นี้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Economy Model เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สวทช. จัดงาน ‘NAC2021’ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ 25-30 มี.ค.นี้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Economy Model เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

(25 มีนาคม 2564) ณ วังสระปทุม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2564 (NSTDA Annual Conference: NAC2021) ภายใต้แนวคิด “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 16 ระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคม 2564 บนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac เพื่อให้สอดรับวิถี New Normal ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “20 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” จากการที่ประเทศไทยได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับเซิร์น (The European Organization for Nuclear Research: CERN) มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก : NSTDA-สวทช. ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สำหรับแนวคิดของการประชุมประจำปี สวทช. ในปีนี้ เป็นไปตามนโยบายประเทศที่ประกาศให้ ระบบเศรษฐกิจแบบ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนด 4 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน BCG ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG Economy Model เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2569 โดยใช้ประโยชน์จากฐานความหลายหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีความพร้อมสูง สวทช. จึงได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2564 ออนไลน์เต็มรูปแบบทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac โดยนำเสนอองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ BCG เพื่อสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “20 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” จากการที่ประเทศไทยได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับเซิร์น (The European Organization for Nuclear Research : CERN) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดําริและทรงเล็งเห็นว่าหากนักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสทํางานวิจัยร่วมกับเซิร์น ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงชั้นนําระดับโลก ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย

ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 หรือ NAC2021 ระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคม 2564 นี้นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสอดรับกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถฟังสัมมนาและร่วมทุกกิจกรรมได้ง่ายเพียงเข้าเว็บไซต์ของงานที่ www.nstda.or.th/nac โดยไม่ต้องเดินทางมาร่วมงานที่ สวทช. โดยภายในงานจะมุ่งเน้นการแสดงผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Economy Model ผ่านกิจกรรมมากมาย ได้แก่ 1. การจัดสัมมนาวิชาการ 34 หัวข้อ 2. การจัดแสดงผลงานในรูปแบบนิทรรศการ 74 หัวข้อ 3. การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบของ สวทช. และบริษัทผู้เช่าในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย 8 เส้นทาง 4. กิจกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 2,0000 อัตรา จาก 30 บริษัท และ 5. กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน โดยตัวอย่างหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 การพัฒนาประเทศด้วยแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent, AI) นาโนโรโบติกพิชิตมะเร็ง รวมถึงการเปิดแนวคิด  เทรนด์อุตสาหกรรมด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นคุณค่าและทำให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล