อ.ท่ามะกา เมืองกาญจน์ โชว์ผลสำเร็จ จัดรูปที่ดิน-ระบบน้ำ 1,205 ไร่ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่ 2.72 ล้านบาท

นางอัญชนา ตราโช

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามโครงการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 27 เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดย สศก. ได้ลงพื้นที่เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ติดตามประเมินผลโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม (คลอง 5 ซ้าย ระยะ 1) อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2561 ได้แก่ งานถมดินบดอัดแน่นใหม่พร้อมขุดคูส่งน้ำและดาดคอนกรีต ก่อสร้างอาคารประกอบในคูส่งน้ำ และตกแต่งคันคูส่งน้ำพร้อมปลูกหญ้าเพื่อป้องกันการกัดเซาะ พบว่า เดิมเกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูกอ้อย เมื่อมีการก่อสร้างคันคูส่งน้ำเพื่อทำหน้าที่กักเก็บและส่งน้ำเข้าแปลงเกษตร ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการทำเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนจากการปลูกอ้อย หรือ ข้าว หันมาปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ซึ่งได้รับผลตอบแทนเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้งต่อปี และมีราคาขายสูง ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 36 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 1,205 ไร่ เกษตรกรใช้น้ำจากโครงการฯ ในการทำการเกษตร เพาะปลูกพืช ดูแลหญ้าเลี้ยงสัตว์สำหรับเลี้ยงโคนม นอกจากนี้ เกษตรกร ในพื้นที่โครงการฯ ทุกราย (36 ราย) ได้รวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นเพื่อร่วมกันวางแผนการใช้น้ำ และดูแลรักษาระบบชลประทาน หญ้าเลี้ยงสัตว์ และข้าว

ด้านรายได้ พบว่า เกษตรกรที่ปลูกอ้อยโรงงาน ปีเพาะปลูก 2563/64 มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,635 บาท/ไร่/รอบการผลิต ข้าวโพดฝักอ่อน ปีการผลิต 2563 มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 12,938 บาท/ไร่/รอบการผลิต อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงงานครัวเรือนค่อนข้างสูงในการเพาะปลูก หากจ้างแรงงานต้องใช้จำนวนคนมาก และการดูแลต้นข้าวโพดฝักอ่อนมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าอ้อยหรือข้าว นอกจากนี้ เกษตรกรบางรายยังไม่เชื่อมั่นในราคาผลผลิตข้าวโพดฝักอ่อนที่อาจผันผวนได้ จึงทำให้เกษตรกรเลือกเพาะปลูกพืชชนิดอื่น ถึงแม้ว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ส่วนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2563/64 มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,300 บาท/ไร่/รอบการผลิต และข้าวนาปรัง ปีการผลิต 2563 มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,762 บาท/ไร่/รอบการผลิต

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง เนื่องจากไม่มีการจำหน่าย แต่เกษตรสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงโคนม โดยเกษตรกรได้นำผลผลิตหญ้าที่ปลูก รวมทั้งใช้ยอดฝัก เปลือก และลำต้นข้าวโพดฝักอ่อนเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ เป็นการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของต้นข้าวโพดฝักอ่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูโคนมได้อีกด้วย ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม (คลอง 5 ซ้าย ระยะ 1) อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ มูลค่าจากการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน 2.72 ล้านบาท/ปี

ต้นทุนและผลตอบแทนเกษตรกรในโครงการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม จ.กาญจนบุรี

พืช ต้นทุนรวม

(บาท/ไร่/รอบการผลิต)

ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว (เดือน) ให้ผลผลิต

(กก./ไร่/รอบการผลิต)

ผลตอบแทน

(บาท/ไร่/รอบการผลิต)

ผลตอบแทนสุทธิ

(บาท/ไร่/รอบการผลิต)

ราคาเกษตรกรขายได้

(ณ มี.ค. 64 )

(บาท/กก.)

อ้อยโรงงาน ปี 63/64 5,033.54 12 7,665.50 6,668.98 1,635.44 0.87
ข้าวโพดฝักอ่อน ปี 63 3,089.95 3 1,282.30 16,028.75 12,938.80 12.50
ข้าวนาปี ปี 63/64

พันธุ์ปทุมธานี 1

3,817.48 4 885.29 7,117.73 3,300.25 8.04
ข้าวนาปรัง ปี 63

พันธุ์ปทุมธานี 1

3,821.23 4 917.06 7,584.09 3,762.86 8.27

ที่มา : ศูนย์ประเมินผล สำรวจข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2564

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาพรวมจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เกษตรกรมีความพึงพอใจโครงการฯ เป็นอย่างมาก เพราะสามารถสร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตรได้ทั้งปี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จากการมีรายได้ที่ต่อเนื่องมากขึ้น และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรลงได้จากการปล่อยน้ำเข้าแปลงเกษตร โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ นับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินทางการเกษตรในเขตจัดรูปที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตามระยะต่อไป นอกจากการสนับสนุนแหล่งน้ำในเขตจัดรูปที่ดินอย่างต่อเนื่องแล้ว การบริหารจัดการน้ำภายในกลุ่มผู้ใช้น้ำก็เป็นสิ่งสำคัญรวมถึงการรวมกลุ่มเพื่อสนับสนุนการผลิต หรือการตลาด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรต่อไป

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์  / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล