เผยแพร่ |
---|
ภาคใต้ จัดเป็นพื้นที่จำพวกแถบร้อนฝนชุกตกมากตลอดปี จนได้ฉายาว่าเป็นภาค “ฝนแปดแดดสี่” นั่นคือ มีฝนตกถึงแปดเดือน และมีแดดเพียงสี่เดือน แต่ใครจะคาดคิดว่าชุมชนบ้านถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กลับต้องประสบกับปัญหา “ภัยแล้ง” ต้นไม้แห้งตายเกือบทั้งหมด แม้แต่บ้านที่อยู่ริมคลองก็ยังไม่มีน้ำใช้ ปลุกให้ผู้คนในชุมชนเริ่มตระหนักและปรับเปลี่ยนความคิด หันมาร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำและเรียนรู้การจัดการน้ำ พลิกชีวิตสร้างรายได้จากการทำเกษตรผสมผสาน สามารถก้าวข้ามปัญหาสู่เลิกแล้ง เลิกจนอย่างยั่งยืน
สารเคมีทำลายสุขภาพ จุดเปลี่ยนยอมทิ้งรายได้วันละหมื่น
จุรีพร อยู่พัฒน์ หรือ “เจี๊ยบ” ตัวแทนจากชุมชนบ้านถ้ำใหญ่ ที่ตัดสินใจทิ้งอาชีพแม่ค้าขายส่งผักในตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี ทำกำไรสูงถึงวันละหลักหมื่นบาท กลับไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด เล่าว่า
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจทิ้งกิจการค้าขายที่กำลังรุ่งเรืองคือ สัญญาณอันตรายต่อสุขภาพจากสารเคมีที่ติดมากับผัก หลังจากไปทำบัตรประชาชนใบใหม่แล้วพบว่า ลายนิ้วมือหายไป เป็นผลมาจากการสัมผัสผักที่มีสารเคมีจำนวนมากทุกวัน จึงเริ่มกังวล และฉุกคิดว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด หากทำอาชีพนี้ต่อไปจะมีสารเคมีเข้าสู่ร่างกายอีกจำนวนมาก เพราะแปลงผักที่ไปรับมาส่งในตลาดส่วนใหญ่ใช้สารเคมี ประกอบกับความชอบและคลุกคลีกับการทำการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก จึงตัดสินใจกลับบ้านตั้งใจลงทุนทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือ สวนยางพารา และสวนผลไม้ที่มีอยู่เดิม หวังถึงรายได้ก้อนโตที่จะได้รับ
ในแต่ละปีไม่น่าจะยากลำบาก เพราะภาคใต้ฝนตกชุก ไม่เคยมีปัญหาภัยแล้ง มีน้ำเพียงพอเอื้อต่อการทำเกษตร แต่เมื่อไปจ่ายตลาดซื้อผัก ทำให้นึกถึงอันตรายจากสารเคมีในผัก จึงมีความคิดที่จะปลูกผักปลอดสารไว้กินเอง และมองเห็นถึงอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ แต่ปรากฏว่าในปีที่เริ่มลงทุนปลูกผักอย่างจริงจัง ก็เจอปัญหาน้ำไม่เพียงพอ คลองข้างบ้านแห้งขอดไม่มีน้ำใช้ ผลไม้ที่ปลูกไว้เหี่ยวตาย ต้องอาศัยเทศบาลให้บรรทุกน้ำนำมาแจกจ่ายให้คนในชุมชนเก็บใส่แท้งค์ไว้สำหรับใช้อุปโภคและเพาะปลูก
เผชิญ “ภัยแล้ง” สำรวจป่าต้นน้ำถูกทำลาย จุดประกายเรียนรู้
“ภาคใต้น้ำแล้ง พูดไปใครก็หัวเราะ ตอนที่ลงมือปลูกผักเกิดแล้งหนัก ฝนไม่ตกนาน 5 เดือน น้ำในคลองเริ่มแห้ง ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายอย่างหนัก เราก็ได้รับผลกระทบ ลงทุนปลูกอะไรไปก็ตายหมด ถือว่าหนักและเป็นปัญหาที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต เริ่มคิดว่า หากยังนิ่งเฉยไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง สักวันเราคงแห้งเหี่ยวตายเหมือนต้นไม้พวกนั้น ซึ่งพอดีเป็นจังหวะที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานมายังเทศบาลถ้ำใหญ่ เรื่องการเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพราะหากไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ ต่อไปชาวบ้านจะต้องได้รับผลกระทบหนักกว่าเดิม ตอนแรกลังเลเหมือนกัน เพราะเราไม่มีความรู้ความเข้าใจ ทำไมต้องทำฝาย มีประโยชน์ยังไง แต่ภัยแล้งที่เผชิญอยู่ก็ทำให้เราฉุกคิดและเริ่มมีความสนใจ”
การเผชิญกับปัญหาภัยแล้งจุดประกายให้คนกลุ่มเล็กๆ ในชุมชนบ้านถ้ำใหญ่เริ่มตระหนักเรื่องน้ำแต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงนิ่งเฉยไม่สนใจ เพราะภาคใต้ไม่แล้ง ไม่ต้องบริหารจัดการน้ำ และคนใต้ส่วนใหญ่ไม่รู้จักฝาย แม้เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ จะพยายามให้ความรู้อธิบายถึงประโยชน์ของฝาย กระทั่งมีโครงการของทางมหาวิทยาลัยให้เยาวชนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ลงพื้นที่สำรวจป่าต้นน้ำ พบว่าป่าหายไปหมดกลายเป็นพื้นที่การเกษตร เมื่อเด็กๆ กลับมาเล่าให้ฟัง จึงคิดได้ว่า “เพราะเราคือส่วนหนึ่งของปัญหา” การบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อทำการเกษตร จึงตัดสินใจเข้าร่วมอบรมกับมูลนิธิฯ ถือเป็นการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ใหม่ๆ ทำให้เข้าใจความสำคัญของน้ำมากขึ้น จากการได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำ เรียนรู้การแก้ปัญหา เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและแผนที่ ตลอดจนการจัดการระบบน้ำ
“จัดการน้ำ” เปลี่ยนวิธีคิดทำเกษตรผสมผสาน สร้างรายได้มั่นคงยั่งยืน
“ช่วงแรกชาวบ้านไม่ค่อยสนใจ ความร่วมมือเกิดขึ้นจากกลุ่มเล็กๆ ก่อน บางหมู่บ้านมีสมาชิกแค่ 3-4 คน หรือบางพื้นที่มีเพียงเด็กๆ ที่สนใจ ปีแรกก็สามารถทำฝายเสร็จไปหลายแห่ง ปีต่อมาเกิดภัยแล้งและน้ำท่วมในปีเดียวกัน แต่พื้นที่ที่มีการสร้างฝาย เรียนรู้การกักเก็บน้ำ กลับไม่ได้รับผลกระทบสามารถใช้น้ำจากฝายมาทำการเกษตรได้ตามปกติ จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น และนำมาสู่ความร่วมมือในการสร้างฝาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเอสซีจี สร้างแหล่งน้ำ ช่วยกันฟื้นฟู-กักเก็บ-สำรองน้ำ เพื่อกระจายน้ำไปได้ถึง 4 ตำบล หล่อเลี้ยงทุกคนและทำให้ชาวบ้านอยู่ได้”
การเรียนรู้เรื่องจัดการน้ำ ไม่เพียงทำให้บ้านถ้ำใหญ่ “หาน้ำได้ เก็บน้ำไว้ ใช้น้ำเป็น” แต่ได้เปลี่ยนวิถีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อเงิน และต้องคอยลุ้นว่าจะเผชิญกับภัยแล้งหรือไม่ ราคาผลผลิตจะขึ้นหรือลงอย่างไร ปรับสู่การทำเกษตรผสมผสาน โดยนำความรู้มาปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตัวเอง เป็นการปลูกเพื่อมีอยู่มีกิน เปลี่ยนจากเม็ดเงินเป็นอาหารหลังบ้าน แถมยังสร้างรายได้ ทั้งรายวัน รายเดือน รายปี หมุนวนตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ชุมชนยังได้เรียนรู้ต่อยอดสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ มีเอสซีจีเป็นพี่เลี้ยงอบรมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สอนเรื่องการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้พึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ภาคใต้แล้งอีกครั้ง แต่ที่ชุมชนบ้านถ้ำใหญ่ กลับไม่ได้รับผลกระทบเลย และช่วงสถานการณ์โควิด-19 คนตกงานสามารถกลับมาอยู่บ้านได้ โดยไม่ต้องมีเงินมากมาย เพราะที่บ้านมีครบทุกอย่าง ทั้งธรรมชาติ น้ำ อาหารการกิน
“จากที่เราไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องน้ำ ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ว่าบ้านเรามีน้ำเยอะ ไม่มีวันหมด วันนี้รู้แล้วว่าการไม่มีข้อมูล ไม่มีการสำรวจและสร้างแหล่งน้ำ รวมทั้งไม่มีการจัดการน้ำที่เป็นระบบ ทำให้ขาดความมั่นคงยั่งยืนทั้งเรื่องอาหารและรายได้ จำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อทำให้มีน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงทำการเกษตรอย่างเป็นระบบ เพราะน้ำคือชีวิต ที่สำคัญความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความสามัคคี ทุกวันนี้ชุมชนมีน้ำเพียงพอ หันมาทำเกษตรผสมผสาน แม้รายได้จะลดลงจากหลักหมื่นเหลือวันละ 200 บาทก็ไม่เสียดาย เพราะเรามีสุขภาพดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้และยึดในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตมีความสุขทุกวัน” จุรีพร กล่าวทิ้งท้าย