วว. วิจัยพัฒนาข้าวอุดมซีลีเนียม ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบผลสำเร็จวิจัยพัฒนา “ข้าวอุดมซีลีเนียม” ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย เผยของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต “ฟางข้าว” สามารถนำไปต่อยอดเพาะเห็ดเศรษฐกิจให้ผลผลิตสูง ระบุเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพที่ปลอดภัย ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 ในปัจจุบัน เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพให้พร้อมต่อสู้กับโรคภัยที่อยู่รอบตัว โดยสิ่งที่จะช่วยให้รอดพ้นจากการเจ็บไข้ คือการรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคของตัวเองให้ทำงานได้ดี เพื่อปกป้องตัวเราจากการติดเชื้อโรคต่างๆ  วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำการสำรวจ “ข้าว” ซึ่งเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันของคนไทย โดยพบว่า ข้าวหอมมะลิ (ข้าวนาปี) มีความสามารถในการสะสมซีลีเนียมมากกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ (ข้าวนาปรัง) โดยซีลีเนียมนั้นเป็นแร่ธาตุที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับวิตามินซี วิตามินอี หรือวิตามินเอ ทำหน้าที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งร่างกายต้องการซีลีเนียมทุกวันในปริมาณน้อยๆ แต่ขาดไม่ได้ หากขาดจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ วว. ยังศึกษาพบว่า ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ภาคกลาง มีปริมาณซีลีเนียมเป็นองค์ประกอบเพียง 0.5-3.8 ไมโครกรัม/100 กรัม และข้าวพันธุ์อื่นๆ พบมีซีลีเนียมในเมล็ดน้อยกว่า 2.5 ไมโครกรัม/100 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยความต้องการซีลีเนียมต่อวันจะแตกต่างกันออกไปตามช่วงวัย ดังนี้ 1. วัยเด็ก อายุ 1-3 ปี  ต้องการ  20-90 ไมโครกรัม/วัน อายุ 4-8 ปี ต้องการ 30-150 ไมโครกรัม/วัน 2. เด็กโต อายุ  9-12 ปี ต้องการ 40-280 ไมโครกรัม/วัน 3. วัยรุ่น ผู้ใหญ่ อายุ 13-60 ปี ต้องการ 55-400 ไมโครกรัม/วัน และ 4. ผู้สูงอายุ อายุ 61 ปีขึ้นไป ต้องการ 55-400 ไมโครกรัม/วัน

อาหารที่มีซีลีเนียม

จากผลการศึกษานี้ วว. จึงมีแนวคิดเสริมแร่ธาตุซีลีเนียมในข้าว ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการผลิตอาหารเชิงหน้าที่ด้วยการเพิ่มคุณค่าอาหารในข้าวผ่านทางการให้ปุ๋ย ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือขั้นสูง เกษตรกรสามารถผลิตได้เอง เป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ง่ายแก่ผู้บริโภค ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. จึงร่วมกับเกษตรกรผู้ผลิตข้าวปลอดภัยบ้านวังบัว จังหวัดนครนายก ทดลองผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 อุดมซีลีเนียม ได้ข้าวที่มีซีลีเนียม 11 ไมโครกรัม/100 กรัม และร่วมกับเกษตรกร อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ทดลองผลิตข้าว กข 43 อุดมซีลีเนียม ได้ข้าวที่มีซีลีเนียม 3 ไมโครกรัม/100 กรัม

“…ปัจจุบันภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล วว. ได้นำองค์ความรู้การผลิตข้าวอุดมซีลีเนียม ไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรผู้สนใจในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 4 ราย นำโดย นายสวัสดิ์ ชีพนุรัตน์ ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี โดยรอบแรกสามารถผลิตข้าวหอมมะลิ 105 ที่มีซีลีเนียม 3.5 ไมโครกรัม/100 กรัม ได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองผลิตรอบที่ 2 โดยใช้ข้าวพันธุ์ที่เกษตรกรแต่ละรายให้ความสนใจ นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย นายสุเทพ ภู่ระยับ ให้ความสนใจทดลองผลิตข้าวอุดมซีลีเนียมบนพื้นที่โครงการโคกหนองนา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนเริ่มกระบวนการผลิต…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวเพิ่มเติมถึงการผลิตข้าวอุดมซีลีเนียมว่า เกษตรกรสามารถขอรับคำแนะนำจากนักวิจัย วว. เพื่อประเมินปริมาณซีลีเนียมภายในดิน โดยเปรียบเทียบกับแผนที่แสดงการแจกกระจายซีลีเนียมในดินของประเทศไทย จากนั้น วว. จะปรับสูตรหรือปริมาณปุ๋ยเสริมธาตุซีลีเนียมให้เหมาะสม เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรนำไปทดลองใช้สำหรับการผลิตข้าวในพื้นที่นั้นๆ จากนั้นเมื่อลงมือปลูกข้าวและได้ผลผลิตข้าวแล้วจะมีการตรวจวิเคราะห์อีกครั้งเพื่อความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตข้าวอุดมซีลีเนียม คือ ฟางข้าว ซึ่งยังมีปริมาณซีลีเนียมสูง สามารถนำไปต่อยอดเพาะเห็ดเศรษฐกิจ เช่น เห็ดนางรมเทา และเห็ดนางรมฮังการี โดยฟางข้าวที่มีซีลีเนียมสูงจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเห็ด ทำให้จำนวนดอกต่อช่อเพิ่มขึ้น ได้ผลผลิตดอกเห็ดที่มีคุณภาพในปริมาณที่มากขึ้น และที่สำคัญมีซีลีเนียมสูงขึ้นด้วย

“…การผลิตข้าวและเห็ดอุดมด้วยซีลีเนียมนั้น ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตที่ไม่ผ่านกระบวนการ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 แต่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ดังนั้น ในสถานการณ์ที่เราได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลงานวิจัยและพัฒนา ข้าวอุดมซีลีเนียม จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทำเงินที่ วว. พร้อมสนับสนุนให้มีการนำไปใช้ให้แพร่หลายและก่อเกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจในครัวเรือนและประเทศชาติต่อไป…” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป

อนึ่ง “ซีลีเนียม” เป็นแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้เองต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น ซีลีเนียมพบได้น้อยมากในพืชทั่วไป ปริมาณซีลีเนียมในพืชจะแปรผันตามปริมาณซีลีเนียมที่มีอยู่ในดินที่เพาะปลูก โดยพืชจะดูดซึมซีลีเนียมในดินซึ่งเป็นรูปแบบอนินทรีย์และจะถูกแปลงเป็นซีลีเนียมอินทรีย์ในพืช โดยสารประกอบซีลีเนียมอินทรีย์ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่า

ซีลีเนียม เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์หลายชนิดในรูปของซีลีโนโปรตีน โดยหนึ่งในเอนไซม์ที่สำคัญคือ กลูตาไทโอน เปอร์ออกซิเดส (Glutathione peroxidase) ทำหน้าที่กำจัดอนุมูลอิสระในร่างกาย ป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย นอกจากนี้ยังมีบทบาทสนับสนุนการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้เป็นปกติ โดยทำงานร่วมกับวิตามินอี ซี และเอ มีบทบาทต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การผลิตเซลล์อสุจิ และบำรุงรักษาสุขภาพเส้นผมและเล็บ อาหารที่มีซีลีเนียมสูง เช่น ปลาทู ปลาดุก เนื้อปู หอยแมลงภู่ ไข่ไก่ กุ้งกุลาดำ และชะอม เป็นต้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษา ติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. (02) 577-9000 โทรสาร (02) 577 9009 อี-เมล  [email protected]