“แปลงใหญ่ไผ่ ท่าตะเกียบ” บริหารพัฒนากลุ่มสู่ความสำเร็จ

“แปลงใหญ่ไผ่ ท่าตะเกียบ” บริหารพัฒนากลุ่มสู่ความสำเร็จ เพิ่มพูนรายได้ยั่งยืน สมคำขวัญ “ถิ่นช้างใหญ่ หน่อไผ่สวย”

นายประสิทธิ์ รูปต่ำ ประธานแปลงใหญ่ไผ่ หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า อำเภอท่าตะเกียบ ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งพื้นที่แถบนี้มักประสบปัญหาช้างป่าเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากมีช้างป่าอาศัยและหากินจำนวนมาก เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนมาปลูกไผ่ตงแทนพืชชนิดอื่นที่ช้างชอบกิน เนื่องจากไผ่ในป่าธรรมชาติมีมาก จึงไม่เป็นเป้าหมายของช้างป่า ที่สำคัญเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่ายได้แทบทุกส่วน ทั้งหน่อ ลำ รวมถึงกิ่งพันธุ์ ต่อมาเกษตรกรจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไผ่อำเภอท่าตะเกียบ” ขึ้น

จนกระทั่งในปี พ.ศ 2561 ได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยมีเป้าหมายที่จะร่วมกันผลิต ร่วมกันจำหน่าย ปัจจุบันแปลงใหญ่ไผ่มีสมาชิกจำนวน 40 ราย พื้นที่ปลูก 352 ไร่ โดยสมาชิกจำนวนทั้งหมด 40 ราย ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) รายบุคคล นอกจากนี้ ทางกลุ่มแปลงใหญ่ไผ่มีการดำเนินการตามแนวทาง “การตลาดนำการผลิต” โดยทางกลุ่มได้รวบรวมผลผลิตทั้งหมดจากสมาชิก ส่งไปจำหน่ายยังตลาดไท จังหวัดปทุมธานี ตลาดผักร่วมใจ และตลาดต่างๆ ในจังหวัดนครปฐม จังหวัดสระบุรี จังหวัดราชบุรี และห้างสรรพสินค้าแม็คโคร สาขานครนายก ฉะเชิงเทรา และศูนย์กระจายสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสมุทรสาคร

ซึ่งแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบขึ้นชื่อในเรื่องของหน่อไม้ที่มีรสชาติ หวาน กรอบ อร่อย หน่อใหญ่ อวบ และน้ำหนักดี หน่อสวยน่ารับประทาน จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ตอบโจทย์ตลาด สามารถสร้างรายได้ประมาณ 3-4 ล้านบาท ต่อปี สำหรับการบริหารจัดการกลุ่มตามหลักการของโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทางกลุ่มแปลงใหญ่ไผ่ได้มีการวางแผนบริหารจัดการกลุ่มเป็นอย่างดี เช่น จัดตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่ม โดยแบ่งงานตามบทบาทหน้าที่ให้แก่สมาชิกอย่างชัดเจน วางแผนการผลิตของสมาชิกรายบุคคลเพื่อให้ได้ผลผลิตพอเพียงต่อความต้องการตลาด และจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตไผ่ตงนอกฤดูกาลให้แก่สมาชิกและผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มีการจัดประชุมกลุ่มฯ ทุกๆ วันที่ 9 ของทุกเดือน เพื่อสรุปผลการดำเนินงานในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปรับปรุงแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรในทุกด้าน ทั้งการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ และจัดทำแผนเพื่อพัฒนากลุ่ม 5 ด้าน โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 3 ล้านบาท จากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งทางกลุ่มนำเงินมาใช้เพื่อพัฒนาในด้านการผลิต โดยการจัดซื้อมูลไก่เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และรถไถพร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง เพื่อเพิ่มศักยภาพธนาคารปุ๋ยของกลุ่ม และสามารถลดต้นทุน ส่วนในด้านการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ทางกลุ่มได้จัดซื้อเครื่องซีลสูญญากาศ เครื่องอัดกระป๋อง หม้อต้ม สำหรับแปรรูปผลผลิตหน่อไม้ ทำหน่อไม้ต้ม หน่อไม้ดองซีลสุญญากาศ

รวมทั้งจัดซื้อเครื่องเหลาแหลม เครื่องซีล เครื่องขัดเสี่ยน เตาเผาถ่านไม้ไผ่ เครื่องอัดถ่านแบบแท่ง มาใช้สำหรับแปรรูปลำไม้ไผ่เป็นไม้ตะเกียบ ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจัดสรรรายได้คืนกลับให้สมาชิกในกลุ่ม เมื่อสมาชิกนำผลผลิตมาจำหน่ายที่กลุ่ม จะได้รับเงินสดทุกครั้ง เพื่อให้สมาชิกมีเงินทุนหมุนเวียน มีระบบเงินหุ้น เงินออมทรัพย์ของกลุ่มทุกปี และปันผลให้กับสมาชิก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นสู่การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน