เพาะเลี้ยงสำเร็จ “สาหร่ายจีเอ็มโอ”

ทีมนักวิจัยด้านชีววิทยา นำโดยศาสตราจารย์ สตีเฟน เมย์ฟิลด์ นักชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสาหร่ายจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ร่วมกับทีมวิจัยของบริษัท แซปไฟร์ อีเนอร์ยี บริษัทพลังงานทางเลือกในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ทดลองเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมในสระน้ำทดลองภายในห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหาสาหร่ายที่มีประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตที่ดีเพื่อสนองตอบความต้องการของอุตสาหกรรมที่ต้องการนำสาหร่ายไปแปรรูปเป็นอาหาร, เชื้อเพลิง และพลาสติก ในอนาคต

ศาสตราจารย์เมย์ฟิลด์กล่าวว่า แม้สาหร่ายจะมีทั่วโลก แต่จำเป็นต้องมีการเพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้ผลผลิตเพียงพอกับความต้องการในการผลิตผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และสามารถแข่งขันในสภาพตลาดทั่วไปได้ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องทดลองจนแน่ใจได้ว่า สาหร่ายที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอนั้นจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อพืชน้ำอื่นๆ หรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

ผลการทดลองที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ได้สาหร่ายจีเอ็มโอที่สามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งศาสตราจารย์เมย์ฟิลด์เชื่อว่าจะนำไปสู่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำไปแปรรูปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์หลายชนิดเพื่อแทนที่ผลิตภัณฑ์เดิมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้คาร์บอนเป็นฐาน

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า สาหร่ายนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายมาก ตั้งแต่การสกัดเป็นน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ, การใช้ผลิตเป็นอาหารปลาและไก่, การนำไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของเชื้อเพลิงชีวภาพ และนำไปแปรรูปเป็นโพลีเมอร์หรือพลาสติกใหม่ที่มาจากสาหร่าย ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เมย์ฟิลด์ระบุว่า ตลาดผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายในเวลานี้มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 14,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจอาหารและสุขภาพ แต่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ศาสตราจารย์เมย์ฟิลด์ ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนากระดานโต้คลื่นที่ทำจากพลาสติกสาหร่ายร่วมกับบริษัท อาร์คติค โฟม บริษัทในแคลิฟอร์เนียอีกด้วย