สศก. ดึงโปรแกรมบริหารจัดการข้อมูลสำรองอาหาร พร้อมช่วยผู้ประสบภัยกรณีเกิดภัยพิบัติ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลการสำรองอาหาร นำเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสำรองอาหารการขนส่งและกระจายสินค้ามาใช้ เตรียมพร้อมฝึกร่วมกรมการสรรพกำลังกลาโหม  เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนี้ เผย ข้อมูลสินค้าเกษตร พื้นที่เกิดเหตุ จำนวนประชากรที่ได้รับความเดือดร้อน  จะเป็นฐานสำคัญเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนกรณีเกิดภัยพิบัติ

นายคมสัน จำรูญพงษ์  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานเตรียมความพร้อมในการขนส่งและกระจายสินค้าเกษตร เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน  ซี่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ สศก. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการข้อมูลการสำรองอาหารมาตั้งแต่ปี 2557 โดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า ระบบสารสนเทศเพื่อการสำรองอาหารการขนส่งและกระจายสินค้า หรือ Food Emergency and Logistics System

ในการนี้ สศก. ได้ร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ แหล่งรวบรวม และระยะเวลาการสำรองสินค้า โดยแบ่งสินค้าออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) ได้แก่ ข้าวสาร ไข่ไก่และอาหารสดแช่แข็ง (เนื้อไก่/เนื้อหมู)  และ 2) กลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ได้แก่ น้ำดื่ม และนมพร้อมดื่ม (UHT)

สำหรับจุดเด่นของระบบสารสนเทศเพื่อการสำรองอาหารการขนส่งและกระจายสินค้า คือ เป็นระบบที่ใช้ตัดสินใจเพื่อบริหารจัดการด้านการขนส่งและกระจายสินค้าเกษตรสำหรับบริโภคในยามเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน มีข้อมูลแหล่งสินค้าเกษตร พื้นที่เกิดเหตุ ข้อมูลประชากรที่ได้รับความเดือดร้อน ที่ชัดเจนเป็นปัจจุบัน มีการวิเคราะห์ระยะทางสำหรับการขนส่งและกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว โปรแกรมสามารถประมวลผลข้อมูลบนแผนที่ GIS สืบค้นข้อมูลตามเงื่อนไขที่กำหนด วิเคราะห์ข้อมูลของเหตุการณ์ และนำเสนอรายงานในรูปแบบต่างๆ    เช่น กราฟ แผนที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเข้าข้อมูลผ่านระบบทั้งแบบในสถานที่ (Office Base) และแบบนอกสถานที่ (Mobile Base) ได้อย่างรวดเร็ว และ สศก. ยังนำไปใช้ในภารกิจด้านความมั่นคงด้านอาหารร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมสรรพกำลังกลาโหม (สพ.กห.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมแห่งชาติ ได้นำข้อมูลการสำรองอาหารไปใช้ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำตัวชี้วัดร่วมระหว่างกระทรวง (Joint KPIs)  ในการฝึกระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร เพื่อเตรียมพร้อมในแต่ละด้านของประเทศ  เช่น แผนเตรียมความพร้อมด้านอาหารให้มีประสิทธิภาพ กองรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ในฐานะที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีการนำข้อมูลไปใช้ในงานการถ่ายทอดความรู้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการของ กอ.รมน. ภาค เป็นต้น  รวมถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  ได้นำไปใช้ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ เพื่อบรรจุเป็นนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564)

ทั้งนี้ สศก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการจัดเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการฝึกกับทางกรมการสรรพกำลังกลาโหม        เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเหตุการณ์ ทั้งการติดต่อสื่อสาร การจัดหาทรัพยากร (อาหารสด) และขั้นตอนในปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ ซึ่งข้อมูลสำรองอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารนำไปสู่การเตรียมความพร้อมให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนร่วมกัน