บัญชา เกิดคล่อง

 คลองนางน้อย

คลองนางน้อย เป็นแม่น้ำสายหลักของพื้นที่อำเภอนาโยง มีต้นกำเนิดจากแม่น้ำ เขตตำบลละมอ และตำบลช่อง ไหลมารวมกันที่บ้านหูโตน หมู่ที่ 6 ตำบลนาข้าวเสีย แล้วไหลผ่านหมู่บ้านชุมชนลงไปถึงอำเภอเมืองตรัง ริมคลองนางน้อยเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่โบราณ

 ตำบลนาข้าวเสีย ชุมชนริมคลองนางน้อย

นาข้าวเสีย เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอนาโยง ที่มีการก่อตั้งชุมชนอยู่สองฝั่งของคลองนางน้อย จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สืบค้นได้พบว่า มีการสร้างชุมชนริมคลองนางน้อยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง อาจารย์สุนทรีย์ สังขยุทธ์ ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจว่า

“ชุมชนสำคัญแห่งหนึ่งของตรังสมัยอยุธยาอยู่ที่ลุ่มน้ำคลองนางน้อยอย่างแน่นอน ด้วยภูมิประเทศที่เป็นทุ่งกว้าง มีเขาลูกโดดกลางทุ่งคือ เขาช้างหายและหัวเขา มีคลองนางน้อยเป็นสายน้ำใหญ่ไหลผ่านทุ่ง ไปลงแม่น้ำตรังที่ท่าจีน และยังมีสายน้ำเล็กๆ ที่เกิดจากพื้นที่ชุ่มน้ำกลางทุ่ง เช่น คลองเมือง คลองน้ำเจ็ด ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ คนรุ่นทวดที่ร้อยของเราที่เคยอยู่ตามถ้ำจึงเลือกบริเวณนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐาน ตั้งแต่พันปีมาแล้ว…จากการสำรวจสำมะโนครัวในสมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2355 ในละแวกลุ่มคลองนางน้อย บ้านนาทองหลางใหญ่ที่สุด มี 31 เรือน รองลงมาเป็นควนขัน 23 เรือน บ้านอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่ถึง 10 เรือน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยืนยันได้ถึงความเป็นชุมชนขนาดใหญ่หรือที่ตั้งเมือง”

 ลางสาดริมฝั่งคลองนางน้อย

“ลางสาด” เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนานเช่นกัน ชาวบ้านในนาข้าวเสียบางคนเล่าให้ฟังว่า ลางสาดเป็นพืชแห่งบุญ เมื่อถึงฤดูที่ลางสาดสุกชาวบ้านจะเก็บลางสาดไว้เพื่อนำไปถวายพระ ซึ่งทำให้เห็นว่า ลางสาดกลายเป็นพืชที่มีความสำคัญในวิถีของชุมชนตำบลนาข้าวเสียเป็นอย่างยิ่ง

 ที่มาของลางสาดในพื้นที่จังหวัดตรัง

ถิ่นกำเนิดเดิมของลางสาด เป็นไม้ป่าพื้นเมืองในเขตร้อน แถบหมู่เกาะมลายู อินโดนีเซีย ชวา ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยเรานี่แหละ ในประเทศไทยพบว่ามีที่บ้านสิโป ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และขยายปลูกออกไปหรือแพร่ขยายกระจายออกไปด้วยวิธีต่างๆ อาจจะเป็นการนำพาโดยสัตว์หรือมนุษย์ แพร่ไปทั่ว แต่ต่อมาหลังๆ การคมนาคมเส้นทางไปมาสะดวกขึ้น ก็มีการนำเอาไปปลูกกระจายมากขึ้น จากไม้ป่ามาเป็นไม้บ้าน แพร่ไปจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้แถบฝั่งทะเลตะวันออก ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี และพื้นที่จังหวัดนราธิวาสถิ่นเดิมต้นกำเนิดเอง ซึ่งจังหวัดตรังเองก็น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากการแพร่กระจายตัวของลางสาดด้วยในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน

 ลักษณะทั่วไปของลางสาด

ลางสาด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lansiumdomesticom corr. หรืออีกชื่อ Aglaiadomesticompelleg ชื่อสามัญหลายชื่อ Langsard, Lansome และ Lanzon เป็นไม้ผลตระกูลเดียวกันกับลองกอง หรือลอก็อง ดูกู หรือลูกู คือตระกูล Maliaceae มีลักษณะเปลือกบาง ผิวเปลือกเรียบ ทรงผลกลม ผลอ่อนนุ่ม

เมื่อแกะจะมียางมาก ยางรสขม ผลสุกสีเหลืองอ่อน มี 1-2 เมล็ด เนื้อสีขาวขุ่นและขาวใส เมื่อดิบเปรี้ยว เริ่มแก่ผลยังติดพวงมีรสหวานอมเปรี้ยว แก่จัดรสหวานหอม มีกลิ่นพิเศษในตัว เนื้อติดเมล็ด ถ้าเผลอขบกัดโดนเมล็ดสีเขียวเล็กๆ จะมีรสขมมาก ส่วนของใบจะมีสีเขียวกระด้าง ใบก็มีรสขมจัด ลำต้นที่โตแล้วมีผิวเปลือกเรียบ สีน้ำตาลมีจุดลายขาวประปราย

ลางสาด แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ลางสาดพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ทิปปิก้า ซึ่งปลูกกันทั่วไป มีทั้งผลกลมและผลยาวมีจุก ชนิดผลจุกจะมียางน้อย เมล็ดเล็ก เนื้อละเอียด รสชาติดีหอมหวานกว่าผลกลม อีกพันธุ์คือ พันธุ์ขนดก จะเปลือกหนา ยางมาก เมล็ดใหญ่ เนื้อบาง ไม่หวานมากหรือออกเปรี้ยว

ลางสาด เป็นไม้ที่ชอบเจริญเติบโตบนพื้นที่ดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุมาก เช่น พื้นที่ในป่าเขตร้อนชื้นทั่วไป ที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ความชื้นค่อนข้างสูง ที่ได้รับจากร่มไม้ใหญ่น้อยนานาพรรณ

ถ้านำมาปลูกในพื้นที่ราบโล่ง ต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เหมือนป่าธรรมชาติเดิม คือต้องให้มีร่มเงาให้มากๆ โดยทำสวนกล้วยหรือปลูกไม้โตเร็ว มีทรงพุ่มที่พอพรางแสงได้ เช่น เพกา มะรุม ทองหลาง สะตอ ทำเป็นไม้ร่มเงา รักษาความชื้นให้เป็นสวนเย็นก่อนแล้วค่อยปลูกต้นลางสาดแซมแทรกตามระยะต่างๆ ที่ต้องการ

 การปลูกลางสาดในชุมชนคลองนางน้อย

ในพื้นที่ตำบลนาข้าวเสียหรือแถบลุ่มน้ำคลองนางน้อย ไม่ได้มีรูปแบบในการปลูกที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากว่าลางสาดเป็นพืชที่อาศัยร่มของพืชอื่น การปลูกลางสาดของชุมชนแถบนี้จึงไม่มีแถวมีแนวให้เห็น แต่เจ้าของลางสาดแต่ละคนจะรู้ว่าลางสาดของตัวเองอยู่ที่ตำแหน่งไหนของสวนตัวเอง

 รสชาติและลักษณะลางสาดคลองนางน้อย

ลางสาดในพื้นที่ตำบลนาข้าวเสียและลุ่มน้ำคลองนางน้อยมีอายุค่อนข้างมาก ต้นที่สืบอายุได้มากที่สุด 180 ปี ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศของพื้นที่ ทำให้ลางสาดในแถบนี้มีลักษณะ “เปลือกบาง ยางน้อย รสหวานหอม”

จากการส่งเสริมและพัฒนา ทำให้มีผลผลิตลางสาดออกมาในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 80-100 กิโลกรัมต่อต้น

 ท่องเที่ยวเชิงเกษตรการตลาดที่เชื่อมโยงลางสาดร้อยปีคลองนางน้อย

ตำบลนาข้าวเสียมีการบริหารจัดการงานส่งเสริมการเกษตรด้วยกลไกของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) โดยมีกลุ่มอาชีพต่างๆ ภายใต้การบริหารของ ศบกต. กลุ่มลางสาดร้อยปี คลองนางน้อย เป็นกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในการดูแลของ ศบกต. ที่สามารถนำนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ชิม และซื้อผลผลิตลางสาด จากสวนของเกษตรกรสมาชิกกลุ่มได้ในช่วงที่ลางสาดให้ผลผลิต (สิงหาคม-กันยายน)

การสร้างกลไกการตลาดในเชิงท่องเที่ยวการเกษตรเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นอกจากจะนำนักท่องเที่ยวให้ได้รู้จักชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของตำบลนาข้าวเสีย และยังได้จับจ่ายซื้อขายสินค้าของกลุ่มอาชีพที่มีอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังได้สัมผัส ลิ้มรส ลางสาดจากเจ้าของสวนโดยตรงอีกด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอนาโยง โทร. 075-288-799 ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลนาข้าวเสีย โทร. 094-886-2953