ชีวิตลุ่มน้ำปิง เมืองกล้วยไข่ (ตอนจบ) หาดทรายขาว สายน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้ง ชั่วนิรันดร์

ในตอนแรกได้กล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวลุ่มลำน้ำแม่ปิง กล่าวเอาไว้หลายหัวข้อของเมืองชากังราวหรือดินแดนกล้วยไข่ ที่คนรู้จักทั้งประเทศมาช้านานแล้ว ก่อนจะมาสร้างเขื่อนยันฮีที่มาจากต้นน้ำจากอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลมาบรรจบจากภาคเหนือมาสู่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เป็นที่ก่อสร้างเขื่อนยันฮีหรือเขื่อนภูมิพล ที่มีขนาดใหญ่ สร้างเสร็จในราวปี 2508-2509 ประมาณนั้น

ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย ผู้แทนราษฎร เขต 3 จังหวัดกำแพงเพชร และประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับพ่อค้า ประชาชน และโรงงานน้ำตาล เกษตรกร

เป็นเพราะว่า ลำน้ำแม่ปิงเป็นสายเลือดของการเกษตรกรรม ประชาชนตามริมน้ำใช้อุปโภคบริโภคจนเป็นวัฏจักรหมุนเวียนของการดำรงชีวิตตามบ้านที่อาศัยริมฝั่งน้ำมาจากบรรพบุรุษตกทอดกันช้านาน

สำหรับในช่วงน้ำหลาก ชาวนาในละแวกริมน้ำปิงสมัยกว่า 5 ทศวรรษ ได้เห็นชาวนาสร้างระหัดวิดเอาน้ำผันขึ้นมาจากน้ำปิงเข้าสู่พื้นนาเพื่อเอาไว้ปลูกข้าว ทำนาเป็นวิถีชีวิตที่ผู้เขียนได้เคยเห็นทันสมัยยังเป็นเด็ก พอหลังน้ำเริ่มลดลงจากน้ำหลาก ได้เห็นวิถีชีวิตชาวอำเภอคลองขลุงหันมาตกปลา เป็นผลพลอยได้จากน้ำป่าไหลบ่ามาทางทิศตะวันตกในเขตป่าดงดิบ นำพาน้ำป่าหลากไหลท่วมท้องทุ่งนา บ้านเรือนของชาวอำเภอคลองขลุง กระแสน้ำป่าหลากไหล มีทั้งปู ปลา หลากหลายชนิด แถมมีปลิงเข็ม ปลิงควาย ที่ผู้เขียนโดนเกาะติดขาและลำตัวมันมาแล้ว มันเกาะดูดเลือดจนตัวป่อง หากลืมมองเห็นมันนาน จนกระทั่งถึงเวลาช่วงน้ำแห้ง ที่มีหาดทรายโผล่มาบนผิวน้ำ เมื่อถึงฤดูแล้งต้นเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน มองเห็นทรายเต็มแม่น้ำปิง

รองอธิบดีกรมชลประทาน มาร่วมประชุมด้วย

วิถีชีวิตของชาวอำเภอคลองขลุง ถูกเปลี่ยนไปตามกาลเวลาของฤดูกาลของมัน เป็นไปแบบธรรมชาติที่เคยชินมาก่อนจะมีการก่อสร้างเขื่อนยันฮีขึ้นมาราวปี พ.ศ. 2500 ถึงแม้ว่าหาดทรายจะโผล่ขึ้นมาอย่างกว้างขวาง ก็ไม่ใช่ว่าจะแล้งน้ำ หรือไม่มีน้ำใช้ในการเกษตรกรรม สภาพแม่น้ำปิงยังคงไหลเวียนตามกระแสผิวน้ำอย่างใสสะอาด น่าดื่มกิน ไม่มีพอลลูชั่น น้ำเสียจากโรงงานเหมือนที่อื่นที่สร้างปัญหาให้คนท้องถิ่นเดือดร้อนจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะอยู่ห่างไกลการคมนาคมและปราศจากโรงงานอุตสาหกรรม ประโยชน์ที่มีหาดทรายเกิดขึ้นตามธรรมชาติจะหมุนเวียนกลับมาปีละครั้ง อยู่นานถึง 3-4 เดือน ให้คนท้องถิ่นทำประโยชน์และมีการละเล่นอย่างมากมาย เสน่ห์ของหาดทรายของคลองขลุงจะแตกต่างกว่าที่อื่นที่ผู้เขียนยังอยู่ในวัยนี้พอดี ก่อนจะมีเขื่อนเกิดขึ้นตามมาภายหลัง

ขบคิดหนักปัญหาภัยแล้ง กระทบไปหมด

ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำปิงจะขุดบ่อทรายกัน เป็นบ่อชั่วคราวสาธารณประโยชน์ ขนาดกว้าง ยาว 1.50-2 เมตร ขุดกันถึงหินกรวด ก็จะเกิดน้ำผุดขึ้นมา มันกรองหลายชั้น ทำให้น้ำใสสะอาด ทิ้งไว้หลังค้างคืนจนน้ำได้รสชาติน้ำบ่อทราย สะดวกเหนือกว่าน้ำดื่มใดๆ ในประเทศไทยก็ว่าได้ ใครได้ลองลิ้มต้องติดใจ การตักน้ำผู้บริโภคเขาทำเป็น ใช้ทั้งบ่อทรายตักไปไว้บนบ้านใส่โอ่ง แล้วใช้สารส้มแกว่งให้นอนตะกอน เก็บไว้บริโภคเป็นเดือน นานเป็นปีถ้ามีโอ่งสำรองเก็บไว้ดื่มยามน้ำท่วม…บริเวณหาดถัดจากบ่อน้ำทรายใกล้เคียงกันจะมีคนมีอาชีพเพาะถั่วงอกขาย บางคนเพาะไว้บริโภค ใช้พื้นที่ขนาดบ่อน้ำทรายโดยเอาถั่วเขียวหมักไว้ที่บ้านคืนเดียว แล้วมาหมกทรายโรยไว้บนหลุมบ่อทรายที่เตรียมการไว้ไม่ให้ลึกเกินไป จนถึงน้ำ แล้วโรยถั่วเขียวจนทั่วพื้นที่ กลบด้วยทรายหนาประมาณ 2 นิ้ว เพียง 2-3 คืน เก็บขายได้ นำมาล้างน้ำสะอาดริมน้ำปิง เป็นอันเสร็จพิธี แล้วหมุนเวียน จะทำเพาะหลายๆ บ่อทรายก็ได้

ผู้มาร่วมประชุมที่เกี่ยวข้อง

บริเวณตามผิวหาดทรายไม่สูง มองด้วยสายตาตามระดับต่ำสุดที่ริมฝั่งที่ใช้การเพาะถั่วงอกกับน้ำบ่อทราย ขยับออกชายริมฝั่งระดับหาดจะสูงขึ้น มีพื้นที่ใช้สอยกว้างใหญ่เหมาะให้เป็นสถานที่เล่นกีฬากันมากมาย ตามความนิยมของเด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่จะเล่าสู่กันฟัง โดยเริ่มกีฬาซ้อมมวยของเด็กวัยรุ่นมาหัดซ้อมชกมวยกัน มีนวมซ้อมสำหรับใช้ชกต่อยกันตามประสาเด็กผู้ชาย และมีนักมวยอาชีพมาลงซ้อมด้วยตั้งแต่ตอนเย็นจนถึงเวลาพลบค่ำ ประเภทกีฬาพอรุ่นโตหน่อยก็จะมีการเล่นเป็นทีม ทีมละ 6-7 คน คือกีฬา “ตี่จับ” ไม่น่าเชื่อ กีฬาที่ผู้เขียนเล่นมาตั้งแต่เด็กๆ กว่า 60 ปี ต้องมาเจอกีฬาเอเชียเอเชียนเกมส์ของคนเอเชียมาแข่งขันกันชิงเหรียญทอง ภาษาชื่อสากลผู้เขียนจำไม่ได้ สไตล์ตี่จับ พอมาดูเขาถ่ายทอดสดในโทรทัศน์มาหลายปี ตกใจสไตล์กีฬาเหมือนการเล่นตามกติกาที่เราเล่นกัน ตรงกันเปี๊ยบเลยพับผ่า ดูแล้วสนุก ยิ่งเล่นก็ยังสนุก คิดถึงหาดทรายในอดีต…เชื่อมั้ย ประเทศอินเดียเป็นแชมป์เหรียญทองผูกขาดมาตลอด แต่รองแชมป์เหรียญเงินเป็นประเทศไทย ตกใจ ทำไมกีฬาประเภทนี้ใครเป็นเจ้าของ “ตี่จับ” กันแน่ เสียดายกีฬาประเภทนี้ คนไทยเก่งทั้งชาย-หญิง ตี่จับ ที่ผมจำได้…ส่วนการละเล่นที่ยังยอดนิยมในเทศกาลสงกรานต์บนหาดทราย ได้แก่ มอญซ่อนผ้าและกีฬาเล่นลูกช่วง ที่ผู้เขียนไม่ถนัดทั้งสองอย่าง ผู้หญิงจะนิยมเล่นกันสนุกสนาน เรียกคนดูเยอะเช่นกัน

ริมลำน้ำแม่ปิงคลองขลุง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เริ่มมีหาดทรายและหญ้าพงโผล่ขึ้นมาเหนือหาด

ความมีเสน่ห์หาดทรายเวลายามเย็น นอกจากมีการละเล่นกีฬาแล้ว ยังมีหนุ่มสาวนัดกันจากตลาดมานั่งคุยกันแล้วก็อาบน้ำชำระร่างกายกันเป็นหมู่คณะหลายคน แม้แต่ช่วงยามค่ำคืนยังมีการนัดหมายคุยกันของหนุ่มสาว ซึ่งปลอดภัย ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นเลยในช่วงผู้เขียนเคยเล่นมาทศวรรษเศษ

เทศกาลประเพณีสงกรานต์ หาดทรายเต็มไปด้วยฝูงชน ทุกคนนัดกันมาเล่นบนหาดทราย หลังทำบุญสรงน้ำพระและใช้ทรายตักใส่ถังเพื่อไปกองเข้าวัด ทำกันมาสืบเนื่องครั้งโบราณ ภายในวัดปกคลุมด้วยกองเจดีย์สวยงาม เล่นสาดน้ำจนตัวเปียก เป็นการละเล่นที่สนุกสนานทั้งบนบกและบนหาดทราย เมื่อสมัย 6 ทศวรรษผ่านไป…สมัยนั้นกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร เริ่มโด่งดังในฤดูกล้วยไข่ออกมาขายเป็นช่วงน้ำหลาก เดือนกันยายน-ตุลาคม ที่ออกผลผลิตขึ้นมาจำนวนมาก การขนส่งอาศัยเรือเอี้ยมจุ๊นขนส่งเรือบรรทุกทางน้ำ ล่องเรือเข้ากรุงเทพฯ เป็นขบวนยาวใช้เรือลากการค้ากล้วยไข่ใหญ่สุดของประเทศในช่วงนั้น ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ จนได้รับฉายาว่า เมืองกล้วยไข่ กระทั่งข่าวลือในปี พ.ศ. 2500 ว่ารัฐบาลจะสร้างเขื่อนยันฮีหรือเขื่อนภูมิพล กว่าจะสร้างเสร็จคงใช้เวลาหลายปี ประมาณทศวรรษต่อไปแม่น้ำลำน้ำปิงที่ทอดยาวจากเขื่อนยันฮีถึงนครสวรรค์ จังหวัดที่มีแม่น้ำหลายสาย ปิง วัง ยม น่าน ไหลมาบรรจบไปรวมกันเป็นเมืองสี่แคว คือต้นแม่น้ำเจ้าพระยา จะลดบทบาทลงในทางเรือ หากสร้างเสร็จน้ำเขื่อนยันฮีจะเก็บกักน้ำไปไม่ให้แม่น้ำปิงใต้เขื่อนแห้งเหือดเหมือนเก่าตามฤดูกาลอีกต่อไปแล้ว

แม่น้ำปิงกว้างขวางเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงคนชาวกำแพงเพชร ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุปโภคบริโภคมาแต่โบราณ

การมีเขื่อนมีส่วนดีในการควบคุมกระแสน้ำเพื่อการเกษตรกรรมด้วย จนในที่สุดหลังสร้างเขื่อนยันฮีเสร็จก็ทำให้แม่น้ำปิงไม่เคยแห้งเหือดอีกต่อไปมาหลายปี ไม่มีหาดทรายได้เล่น กระทั่งมาพบว่าภายหลังหลายปีแล้วได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดในยามฤดูแล้ง ยังผ่านพบเห็นหาดทรายโผล่มาเหมือนเดิม แสดงว่าเขื่อนยันฮีเก็บน้ำไม่พอในแต่ละปี ปล่อยน้ำออกมาจนเกิดสถานการณ์ฝนแล้งมีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะเขื่อนยันฮีอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันเป็นทุกเขื่อนของประเทศไทยที่มีอยู่ในเวลานี้ ต่างไม่พอเก็บน้ำ สร้างปัญหากับเกษตรกร…อำเภอคลองขลุง เป็นอำเภอประสบภัยแล้งที่มองเห็นหาดปีนี้โผล่ออกมาในช่วงก่อนปีใหม่ ผิดกับสมัยก่อนมันจะขึ้นหาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว เป็นวิกฤตภัยแล้งเร็วเกินไป มันเกิดอะไรขึ้น ต้องมารอรับฟังสาเหตุจากผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร ของทีมคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร นำโดย ประธานคณะ ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย

การนัดประชุมที่ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อแก้ไขวิกฤตน้ำแห้งเร็วโดยพลัน เพื่อหาข้อสรุป

ก่อนจะมีนัดการประชุมวาระภัยแล้งน้ำแห้งที่เกริ่นมาแต่ต้นเรื่อง เพื่อรอผู้เข้าร่วมประชุมหลายฝ่ายมาถกปัญหา…

ปัจจุบัน จังหวัดกำแพงเพชร แดนกล้วยไข่ เริ่มมีปริมาณลดลงกับการปลูก เพราะอาชีพการเกษตรที่ขึ้นชื่อสร้างรายได้ของจังหวัดเป็นอันดับต้น ได้แก่ ธุรกิจพืชไร่ คือมันสำปะหลัง มีโรงงานแปรรูปใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากจังหวัดนครราชสีมา ที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดของไทย…ถัดมา ได้แก่ อ้อยน้ำตาล กำแพงเพชร มีการปลูกอ้อย พร้อมโรงงานหลายแห่ง เป็นธุรกิจที่ทำให้จังหวัดสร้างเศรษฐกิจและรายได้แก่เกษตรกร ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ

ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย กับคณะ ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร ถกประชุมปัญหาและการแก้ไขภัยแล้งลำน้ำปิง

และพืชอีกชนิดหนึ่งนอกเหนือจากนาข้าวที่ปลูกเป็นอาชีพหลักแล้ว ยังมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นอันดับต้นๆ ของภาคเหนือตอนล่างเลยทีเดียว นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ…เนื่องจากอาชีพปลูกมันสำปะหลังใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ จึงมีการผลักดันโรงงานแปรรูปผลิตทำแอลกอฮอล์สำเร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นอุตสาหกรรมการพัฒนาจังหวัด ถือได้ว่าเป็นผลพวงผลักดันของ ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย ที่เป็นผู้แทนราษฎรมาหลายสมัย รวมทั้งโรงงานน้ำตาลและการจัดตั้งศูนย์พัฒนาส่งเสริมสถาบันอาชีพการเกษตร เกิดขึ้นที่จังหวัดกำแพงเพชรอีกด้วย

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เปิดห้องประชุม โดยมี นางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร มาร่วมประชุม และกล่าวต้อนรับคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย ประธานคณะและเป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร…ทั้งนี้ เพื่อรับฟังการแก้ไขภัยแล้งของจังหวัด มีคณะตัวแทนจากกรมที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและชลประทาน ร่วมรับฟังปัญหา 5 หน่วยงาน และหัวหน้าส่วนในจังหวัด อาทิ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. นายกเทศมนตรี โดยใช้ลำคลองขลุงเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรและชาวบ้าน และพื้นที่เขตนอกชลประทานและในเขตชลประทานนับล้านไร่

ผู้เขียนยอมรับว่า ตั้งแต่เกิดมาจนเรียนจบมัธยมศึกษา เพิ่งมีความรู้เกี่ยวกับลำคลองขลุง มีความยาว 100 กิโลเมตร ลำคลองขลุงเกิดจากลำคลอง 4 ลำคลอง ไหลมารวมกัน ได้แก่ คลองปิ่นโต คลองน้ำไหล คลองลาน และคลองปลาสร้อย โดยลำคลองขลุงจะมีประตูระบายน้ำเพื่อทำการเก็บกักน้ำและระบายน้ำ ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ คลองน้ำอุ่น ประตูระบายน้ำหินชะโงก ฝายยางวังไทร และประตูระบายน้ำวังไทร จนกระทั่งคลองที่ไหลรวมกันเป็นลำคลองขลุง

เป็นความรู้ใหม่ที่ผู้เขียน อดีตเคยเล่นน้ำในลำคลองขลุง ตกปลา งมหอย แล้วไม่เคยเห็นลำคลองขลุงแห้งหรือตื้นเขิน มันไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่แพท่าน้ำคลองขลุง ที่เห็นมาแต่เด็ก ทำให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ไว้ใช้อาบน้ำกัน

แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำแล้งจากปัญหาเขื่อนยันฮีรับปริมาณฝนได้น้อยลง จึงระบายน้ำมาได้น้อย

จังหวัดกำแพงเพชร จากอดีตสู่ปัจจุบัน พัฒนามาไกล มีพื้นที่ทำการเกษตร 3.07 ล้านไร่ คิดเป็น 3 ส่วน 5 ของพื้นที่จังหวัด มีพื้นที่ชลประทานถึง 1.45 ล้านไร่ อำเภอคลองขลุงมีพื้นที่ชลประทาน 1.2 แสนไร่

ในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดกำแพงเพชร มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 117,705 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 2 ของภาคเหนือ และลำดับที่ 20 ของประเทศ

ในวันนี้นับเป็นโอกาสดียิ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาฟื้นฟูและอนุรักษ์ลำคลองขลุง ในเขตพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองกำแพงเพชร อำเภอไทรงาม อำเภอคลองขลุง และอำเภอขาณุวรลักษบุรี กับคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจน 5 ส่วนราชการมาร่วมปรึกษาหารือกับกรรมาธิการ

สภาพพื้นที่ลำน้ำปิง แม้จะมองเห็นหาดทรายผุดออกมาตามบริเวณริมตลิ่งและกลางน้ำที่ตื้นเขิน ปกคลุมด้วยพงหญ้า แต่ยังมองเห็นร่องน้ำไหล มีอยู่ทั่วไปที่มีให้ใช้อย่างพอเพียง

หากใครที่เกิดมาก่อน 50 ปีที่ผ่านมา จะมองเห็นหาดทรายสูงชันบางแห่งท่วมหัวคน เป็นวัฏจักรหมุนเวียนไปตามธรรมชาติยุคนั้น เชื่อว่าสภาพหาดทรายจะมาเปรียบเทียบกับสมัยก่อนไม่ได้เลย ลำน้ำแม่ปิงยังเป็นแหล่งน้ำสะอาด ปราศจากน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม มีให้อุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรมอย่างมั่นคง

โดยเฉพาะลำน้ำคลองขลุง ยังไม่เคยเหือดแห้งมาก่อน และขอขอบคุณ ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นห่วงใยบ้านเกิดเมืองนอน ที่ยังเคยเล่นน้ำสถานที่แห่งนี้ สมัยครั้งยังเป็นเด็ก ยังมั่นใจว่าลำน้ำแม่ปิงและลำน้ำคลองขลุง ยังคงอยู่กับอำเภอคลองขลุง ไปชั่วนิจนิรันดร