กรมป่าไม้สร้าง ‘ป่าชุมชนบ้านห้วยหินฝน’ เป็น ซุปเปอร์มาเก็ต บนดอย

วันที่ 31 พฤษภาคม นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ลงพื้นที่ป่าชุมชนบ้านห้วยหินฝน หมู่ที่ 6 ตำบลแม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ป่าชุมชนต้นแบบที่ชาวบ้านและพระสงฆ์ได้มีส่วนร่วมในการป้องกันดูแลรักษาป่า บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชน จากพื้นที่ที่เคยถูกบุกรุกให้กลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ เกิดแหล่งน้ำซับในป่าชุมชน จนกลายเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของตำบลแม่ปะ ทำให้มีน้ำอุปโภค บริโภคหล่อเลี้ยงชุมชนใน 4 ตำบล 11 หมู่บ้าน เป็นแหล่งอนุรักษ์สมุนไพรและพันธุ์พืชหลากหลายชนิดที่สามารถใช้ประโยชน์ เสริมสร้างรายได้เกิดเงินออมแก่สมาชิกป่าชุมชน จากการร่วมมือของพระสงฆ์ คนในชุมชนและการบริหารจัดการของคณะกรรมการป่าชุมชน ทำให้ป่าชุมชนบ้านห้วยหินฝนเป็นป่าใกล้เมืองแห่งสุดท้ายของ อ.แม่สอด ที่มีความอุดมสมบูรณ์และสร้างความมั่นคงในด้านแหล่งน้ำสำรองเพื่อการอุปโภค บริโภคที่สำคัญของอำเภอ

นายชลธิศ กล่าวว่า ป่าชุมชนห้วยหินฝน เกิดจากความตั้งใจในการรักษาป่าของพระสงฆ์วัดโพธิคุณ ที่ได้ริเริ่มตั้งเขตพุทธอุทยานในปี 2538 จำนวน 200 ไร่ และได้ขยายผล โดยการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนรอบวัดตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ และจากความร่วมมือของกลุ่มผู้นำหมู่บ้านจึงได้รวมตัวกับชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ออกสำรวจพื้นที่ในหมู่บ้าน ซึ่งประสบกับสภาพปัญหาของการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ พบร่องรอยของการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก ปัญหาการลักลอบจับสัตว์ป่านำออกมาขาย การเกิดไฟป่า ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาผืนป่าในชุมชน

“เมื่อเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ด้านป่าชุมชน ชาวบ้านจึงได้รวมกลุ่มจัดตั้งป่าชุมชนขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า การอนุรักษ์สัตว์ป่า และการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ของคนในชุมชน โดยพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่สอด มีพื้นที่จำนวน 2,400 ไร่ 2 งาน 6 ตารางวา โดยการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการรักษา ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่า ให้ป่าเป็นแหล่งเก็บน้ำ ด้วยการประยุกต์จัดทำ “ฝายมีชีวิต” ในพื้นที่ป่าชุมชนและบริเวณปลายน้ำ ทำให้ชุมชนรอบข้างสามารถใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนต้นน้ำได้อย่างยั่งยืน ฝายมีชีวิต ป่าชุมชนบ้านห้วยหินฝน เป็นฝายตัวแรกของภาคเหนือ และเป็นฝายมีชีวิตลำดับที่ 126 ของประเทศ ลงทะเบียนโดยเครือข่ายฝายมีชีวิตแห่งประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการสร้างฝายขยายไปในพื้นที่ต่างๆ ของอำเภอแม่สอดและเป็น “โรงเรียนฝายมีชีวิต” ที่เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป”นายชลธิศ กล่าว

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้ส่งเสริมให้คนในชุมชนจัดตั้งป่าชุมชนดังกล่าว โดยสนับสนุนงบประมาณ รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ลงพื้นที่แนะนำวิธีการปฏิบัติ สร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน และจัดหาพันธุ์กล้าไม้ เพื่อปลูกป่าทดแทน โดยชักชวนให้คนในชุมชนมาร่วมมือกัน เพื่อปลูกจิตสำนึกในการดูแล รักษาป่า และการพัฒนาศักยภาพของป่าชุมชน การใช้ประโยชน์จากผลผลิตของป่า ได้ เช่น สมุนไพร ของป่า เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต และสามารถใช้ผลิตผลที่มีการพัฒนาแปรรูปจนได้รับเรียกป่าแห่งนี้ว่า “ซุปเปอร์มาร์เก็ตบนดอย” ถือเป็นการสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากพื้นที่ป่าชุมชนบ้านห้วยหินฝนจะสามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ยังกลายเป็นแหล่งต้นน้ำ จำนวน 4 สาย ได้แก่ ลำห้วยปางมโนราห์ ลำห้วยคลองแม่ปะ ลำห้วยวังมอม และลำห้วยน้อย ที่สามารถนำมาผลิตน้ำประปาสำหรับใช้ในครัวเรือน ได้ถึง 253 ครัวเรือน หน่วยงานราชการกว่า 10 แห่ง รวมถึงการใช้น้ำเพื่อการเกษตร นอกจากนั้น น้ำที่เหลือจากการใช้ภายในชุมชนจะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยลึก ต.แม่ปะ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในคราวเกิดวิกฤติภัยแล้ง จึงนับได้ว่าพื้นที่ป่าชุมชนบ้านห้วยหินฝน จะเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญแหล่งสุดท้ายของชาว อ.แม่สอด ที่จะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้

นอกจากป่าชุมชนบ้านห้วยหินฝน กรมป่าไม้ ได้มีการจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้วจำนวน 10,023 หมู่บ้าน โดยในปี 2560 จะเร่งรัดเพื่ออนุมัติให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนอีกประมาณ 1,000 หมู่บ้าน โดยวางเป้าหมายจะให้มีป่าชุมชนทั่วประเทศจำนวน 21,850 หมู่บ้าน ภายใน 4 ปี ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะมีการติดตามประเมินผลความสำเร็จของการจัดตั้งป่าชุมชนที่ได้ดำเนินการแล้วอีกด้วย