ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การที่รัฐบาลเริ่มลงมือปฏิบัติงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนพัฒนา
กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 9 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอและไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นสิ่งที่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดความมั่นใจในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องและคงจะทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศกระเตื้องขึ้น
เมื่อพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 9 กลุ่มแล้ว อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร น่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศของเรามีความพร้อมมากที่สุด ทั้งในด้านองค์ความรู้จากงานวิจัยของสถาบันการศึกษา ความชำนาญและภูมิปัญญาของผู้ประกอบการ (เกษตรกร) รวมไปถึงภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน โลกมีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน และเป็นการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จำเป็นจะต้องเร่งการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในขอบเขตของตลาดที่กว้างขึ้นทุกขณะในโลกเศรษฐกิจเสรี
แนวคิดในการพัฒนาการเกษตร เรื่องการจัดระบบการผลิตให้เชื่อมโยงกับการบริโภคและการตลาดเพื่อเกิดความสมดุล (Equilibrium) ของปริมาณผลผลิตทางการเกษตรตามหลักอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) โดยพิจารณาจากการจัดสรรทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ของการผลิตพืชและสัตว์แต่ละชนิดให้เหมาะสม เรียกกันทั่วไปว่า เขตกรรมทางการเกษตร (Agricultural Zoning) ซึ่งควรจะต้องประกอบไปด้วยข้อมูลด้านต่างๆ คือ
-สิ่งแวดล้อมและกายภาพของพื้นที่
-จำนวนเกษตรกรและผลผลิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
-ต้นทุนและรายได้โดยเปรียบเทียบของพืชแต่ละชนิด
-การส่งเสริมเทคโนโลยีและทักษะการผลิตพืชใหม่ๆ ให้เกษตรกร
-ราคาผลผลิตและการประกันรายได้
-การจัดการตลาดและการส่งออก
-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการในเรื่องของเขตกรรมทางการเกษตรมาเป็นเวลานานพอสมควร เน้นหนักในเรื่องของการจัดทำแผนที่ (Mapping) ด้านดิน น้ำ ระดับความสูง ภูมิอากาศ รวมไปถึงการทำการเกษตรแปลงใหญ่ที่กำลังเร่งดำเนินการในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การเกษตรนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย จึงขอเสนอแนะในบางเรื่องดังนี้
สิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการวิจัยในเรื่องของภาวะโลกร้อนต่อการเกษตรของไทย โดยนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ น่าจะดำเนินการวิจัยร่วมกับปราชญ์เกษตร (หรือปราชญ์ชาวบ้าน) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการบูรณาการความรู้จากทฤษฎีที่นำมาจากประเทศตะวันตกเข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้ได้ผลวิจัย
ที่สมบูรณ์เหมาะสม และส่งผ่านข้อมูลที่ได้จากการวิจัยนี้ ไปยังเกษตรกรและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ การวิจัยในเรื่องนี้ควรครอบคลุมทั้งการเพาะปลูกพืช ป่าไม้ ชลประทาน และการเลี้ยงสัตว์ (ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ)
ต้นทุน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลไปถึงประสิทธิภาพ ในเรื่องการจัดการตลาด ตลอดถึงการส่งออก ซึ่งจะต้องพยายามลดต้นทุนในการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่กระทบถึงคุณภาพของผลผลิต
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า การจ้างงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปัญหาโครงสร้างแรงงาน โดยแรงงานภาคการเกษตรลดลงจาก 13.06 ล้านคน ในปี 2556 เหลือ 11.76 ล้านคน ในปี 2559 และในจำนวนที่ลดลงประมาณ 1.3 ล้านคนนี้ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกลุ่มที่มีช่วงอายุ 30-49 ปี ซึ่งเป็นผลเนื่องจากภัยแล้ง รวมถึงพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรและลดลง 1.8 ล้านไร่ ในช่วงเวลา 10 ปี (พ.ศ.2546-2556) เฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องปีละ 0.16% ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จึงเป็นประเด็นที่ต้องดำเนินการอย่างรีบด่วน
การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานที่ขาดหายไป กลายเป็นสิ่งจำเป็น จึงควรจะต้องเร่งผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรประเภทต่างๆ ขึ้นใช้เองภายในประเทศ โดยผ่านกระบวนการคัดกรอง เพื่อให้ได้แบบที่ดีที่สุด (จากผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่างๆ) และเครื่องจักรกลการเกษตรเหล่านี้ น่าจะเป็นสินค้าออกของประเทศไทยไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ด้วยในอนาคต
การนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้คงจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ (ซึ่งจะทำให้การผลิตเกิดประสิทธิภาพสูงสุด) ที่กระทรวงเกษตรฯกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และควรจะยกระดับกลุ่มเกษตรกรที่นำพื้นที่มารวมเป็นแปลงใหญ่ จัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร ซึ่งนอกจากเป็นการลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองในด้านการตลาดด้วย
ทั้งนี้ รัฐควรมีมาตรการ กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการส่งเสริม สนับสนุน ตลอดไปจนถึงการกำกับดูแล เพื่อความยั่งยืนของสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้น
การตลาด หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนของความต้องการผลผลิตทางการเกษตรชนิดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยในกรณีของตลาดภายในประเทศ น่าจะหารือร่วมกับผู้ซื้อ (ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน) เพื่อให้ได้ตัวเลขจำนวนผลผลิตที่ต้องการและจะต้องประกันราคารับซื้อด้วย สำหรับตลาดต่างประเทศคงจะต้องดำเนินการในลักษณะคล้ายกัน (แต่มีขั้นตอนเพิ่มขึ้น) ร่วมกับผู้ส่งออก
จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลชนิดของพืช จำนวนผลผลิตที่ต้องการและราคาผลผลิตที่เหมาะสมแล้ว จะนำไปสู่การกำหนดพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการ โดยควรจะต้องมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน
เมื่อประเทศเกิดปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจในอดีต เกษตรกรไทยมีบทบาทอย่างสำคัญในการพลิกฟื้นประเทศ ครั้งนี้ก็เช่นกันที่การเกษตรและอาหารคงจะเป็นทางออกหลักที่สำคัญทางหนึ่ง ในการหลุดพ้นจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่เรียกกว่า Middle Income Trap
และเป็นที่หวังว่าเมื่อประเทศไทยก้าวไปเป็นประเทศในยุคดิจิทัลแล้ว เกษตรกรไทยคงจะเป็นเกษตรกร 4.0 ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเทียบเท่าเกษตรกรในประเทศตะวันตก