วิกฤตราคา ‘ยางพารา’ รอบใหม่ ชะตากรรมชาวสวนอยู่ใต้กำมือใคร

จากสถานการณ์ราคายางพาราผันผวน กระทบความรู้สึกสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวสวนยางพาราในวงกว้าง เมื่อราคาแผ่นดิบยางพาราเคยสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ช่วงปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และทรงตัวที่ 70 บาท แต่เพียงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน ราคากลับลดลงเกือบ 20 บาท เหลือขายกิโลกรัมละ 50 บาท ช็อกความรู้สึกของชาวสวนอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่ปี 2560 ควรเป็นปีทองของชาวสวนยาง เนื่องจากปัจจัยจากสภาพแล้งจัดในปี 2559 ตามด้วยปัญหาน้ำท่วม 2 รอบ ในช่วงปลายปีเดียวกันและน้ำท่วมใหญ่ช่วงต้นปี 2560 ผนวกกับมาตรการลดพื้นที่ปลูกยาง ทำให้ผลผลิตยางพาราลดลงจากปีละ 4 ล้านตัน เหลือ 2 ล้านตัน ราคาจึงควรเสถียรกว่าเดิม ไม่ใช่บิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามกลไกตลาด

จากการตรวจสอบพบสัญญาณบ่งชี้ก่อนราคายางพาราตก คือการปล่อยข่าวว่าเกษตรกรใช้กรดซัลฟิวริกในน้ำยาง ทำให้ยางแผ่นดิบเปอร์เซ็นต์ต่ำ มีความยืดหยุ่นน้อย ประกอบกับนโยบายกระจายยางแผ่นดิบให้กระทรวงต่างๆ นำไปใช้ไม่ขยับ ยังไม่รวมเทคนิคการเล่นตลาดของกลุ่มพ่อค้าที่ทุบราคารับซื้อและเล่นตัวไม่ค่อยซื้อ ปล่อยให้ตลาดยางถูกแช่แข็ง

บุญส่ง นับทอง

บุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคายางตกต่ำน่าเป็นห่วงมาก ต้องเร่งหาทางแก้ไขไม่ให้กลับไปอยู่ที่ราคา 3 กิโลกรัม 100 บาท เพราะราคาในท้องถิ่นเหลือ 47-48 บาท ขณะที่ตลาดกลางอยู่ที่ 50-51 บาท เป็นราคาที่น่าใจหาย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ควรเร่งออกมาตรการช่วยเหลือขอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 นำยางแผ่นดิบในสต๊อก 1 แสนตัน ออกมาทำถนนให้หมดจะทำให้ราคายางดีขึ้น พ่อค้าจะไม่ฉวยข้ออ้างว่ามียางในสต๊อก

ด้าน ทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาตกต่ำเกิดจากกลไกตลาดบิดเบือน พ่อค้าพยายามกดราคายางเพราะ กยท.มีแนวคิดนำยางในสต๊อก 1 แสนตัน ออกขายทั้งที่มติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) วันที่ 21 เมษายน 2560 ให้หยุดขายและนำยางมาใช้ภายในประเทศแต่ กยท.กลับจะขายตามกลไกตลาด เพื่อช่วยนำยางจากพ่อค้าออกมาขายแทนและนำเงินมาแทรกแซงราคา

ขณะที่ มนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมชาวสวนยางและคนกรีดยางรายย่อย (ส.ค.ย.) โพสต์ข้อความคำถามว่าจะเป็นตลาดกลางเพื่อชาวสวนยางหรือไม่เพราะไม่เห็น กยท.ทำอะไร

หลังสถานการณ์ปัญหา ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท.เรียกผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ 5 บริษัท หรือ 5 เสือ มาหารือเพื่อออกมาตรการดันราคายางให้สูงขึ้นและจะเชิญมาเลเซีย และอินโดนีเซีย หารือมาตรการงดการส่งออกพร้อมกันทั้ง 3 ประเทศ เพียงข้ามคืนราคายางเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 1.14 บาท ขณะที่ ไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการยางพาราไทยทั้ง 5 ราย เห็นตรงกันว่าราคายางที่ลดลงอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องผิดปกติ มีความเป็นได้ว่าราคายางร่วงเกิดจากการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าพร้อมกัน 3 ตลาด คือ ตลาดเซี่ยงไฮ้ ตลาดสิงคโปร์ และตลาดโตเกียว ซึ่งมาตรการที่อาจทำได้คือเอาชนะราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเพื่อดันราคาให้สูงขึ้นได้

ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จะเสนอ 4 มาตรการตามมติของ กนย.ช่วยเหลือชาวสวนยางพาราเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ ขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและดูดซับผลผลิตที่จะออกมาสู่ตลาด โดยรัฐบาลชดเชยรับภาระดอกเบี้ยไม่เกิน 3% คิดเป็นงบประมาณที่รัฐต้องชดเชยทั้งสิ้น 300 ล้านบาท คาดว่าสามารถดูดซับผลผลิตออกจากระบบได้ประมาณ 2 แสนตันในปีนี้, ขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ออกไปอีก 1 ปี จากที่หมดอายุแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560

“ขยายระยะเวลาโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (เพิ่มเติม) ออกไปอีก 90 วัน เพื่อรอรับเกษตรกรตกค้างประมาณ 1.1 หมื่นครัวเรือน และขยายระยะเวลาโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางเพื่อเพิ่มสภาพคล่องออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563”

แต่ 9 องค์กรเกษตรกรชาวสวนยางกลับเห็นว่ามาตรการข้างต้นยังแก้ไม่ถูกจุด จึงจัดตั้งสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) มีสมาชิกในทุกจังหวัดที่มียางพารา ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิและคนกรีด มี นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ เป็นประธาน และ นายสุนทร รักษ์รงค์ เป็นเลขาธิการ พร้อมมีมติเรียกร้องให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และผู้ว่าการ กยท.แก้ปัญหาราคายางภายใน 10 วัน, เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการนโยบายเพิ่มการใช้ยางในประเทศอย่างเร่งด่วนและจริงจัง และวันที่ 20 มิถุนายนนี้ สมาชิกสภาเครือข่ายจากทั่วประเทศจะเดินทางติดตามการดำเนินงานของ กยท.และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปการยางแห่งประเทศไทย โดยไม่มีการชุมนุมสุนทร รักษ์รงค์ กล่าวว่า หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย 2558 มาเกือบ 2 ปี ไม่ทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา กยท.ไม่ทำตามเจตนารมณ์การจัดตั้งองค์กรและดำเนินการตาม พ.ร.บ.การยาง ขอยืนยันจะให้รัฐบาลปฏิรูปการทำงานของ กยท.ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การออก พ.ร.บ.การยาง

“ตาม พ.ร.บ.การยาง มีเงินกองทุนพัฒนาการยาง (เงินเซส) ซึ่งเป็นเงินของเกษตรกรที่ถูกหักจากพ่อค้ารับซื้อยาง แต่เกษตรกรเจ้าของกองทุนไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร สคยท.จะเสนอให้รัฐบาลนำเงินกองทุน ตามมาตรา 49 (3) ร้อยละ 35 มาจัดตั้งบริษัทเพื่อแปรรูปยางพาราแทนการนำเงินไปไล่ซื้อแข่งกับพ่อค้า”

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าหลังการเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาวสวนยางจะสร้างแรงผลักดันให้รัฐบาล กยท.แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรมหรือจะปล่อยให้ชาวสวนตกอยู่ใต้ชะตากรรมของนายทุนต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน